--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

สื่อนอกวิพากษ์ 2 นโยบายประชานิยม รบ.ไทย !!??


ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร,ประชานิยม

สื่อนอกวิพากษ์ นโยบายประชานิยม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ "รถคันแรก-จำนำข้าว" สร้างแรงกดดันเศรษฐกิจ บิดเบือนตลาด เป็นภาระงบประมาณ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน การตัดสินใจของรัฐบาลไทย ที่จะยืดระยะเวลาอุดหนุนราคาข้าว และยางพาราออกไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการประท้วงขึ้นมานั้น นับเป็นการบ่อนทำลายความพยายามที่จะควบคุมภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น และยังเกิดขึ้นแม้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ต่างลดโครงการอุดหนุนต่างๆ แล้ว

รายงานระบุว่า รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินรวม 21,200 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา เพื่อชดเชยราคาที่ร่วงลงมา เพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับ 10,000 ล้านบาท ที่เคยตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ จนทำให้เกิดการประท้วงขึ้นมา ทั้งยังให้คำมั่นถึงการรับซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดต่อไปอีก 1 ปีเพาะปลูก ซึ่งคิดเป็นมูลค่าราว 270,000 ล้านบาท หลังชาวนาขู่ที่จะออกมาเดินขบวนประท้วง

ปริมาณเงินอุดหนุนดังกล่าว อาจทำให้แผนการของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จะจัดทำงบประมาณสมดุลภายในปี 2560 ต้องชะลอออกไป และทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี ทะยานขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 44.3% ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา จากระดับ 38.2 % ช่วงสิ้นปี 2551

นายยูเบน พาราคูลเลส นักเศรษฐศาสตร์จากโนมูระ โฮลดิ้งส์ อิงค์ ในสิงคโปร์ แสดงความเห็นว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างจะประหลาด เมื่อพิจารณาจากความต้องการของผู้ประท้วง โดยรัฐบาลมีพื้นที่เหลืออีกไม่มานักสำหรับการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรดังกล่าว ความเสี่ยงของเรื่องนี้ ยังอยู่ตรงที่ว่า กลุ่มผู้ประท้วงอาจขยายวงออกไป และยิ่งการประท้วงยืดเยื้อไปนานเท่าใด ก็จะยิ่งสร้างความกังวลมากเท่านั้น และยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้ว

ทั้งนี้ นับแต่เดือนต.ค. 2554 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยจ่ายเงินไปแล้ว 675,000 ล้านบาท ในการรับซื้อข้าวโดยตรงจากชาวนา ซึ่งรัฐบาลประเมินว่า ขาดทุนไปราว 137,000 ล้านบาท ในฤดูเพาะปลูก 2554/2555 จากการที่ต้องขายข้าวออกไปในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่รับซื้อมา

นายสเตฟเฟน ดิค ผู้ช่วยรองประธานบริหาร มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ในสิงคโปร์ ระบุว่า โครงการรับจำนำข้าวของไทย ได้สร้างเงื่อนไขขึ้นมาสำหรับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งความเสี่ยงของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า ในอนาคตรัฐจะมีการปรับ หรือเก็บโครงการนี้ไว้ต่อไปหรือไม่

นักวิเคราะห์ชี้ด้วยว่า ราคาโภคภัณฑ์ที่กำลังร่วงลง ได้สร้างแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจไทย หลังในช่วง 3 เดือนนับถึงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยปรับลดลงเหลือ 1.7% ทั้งยังมีการหั่นตัวเลขคาดการณ์สำหรับปีนี้ ลงมาอยู่ระหว่าง 3.8-4.3% จากเดิมที่ 4.2-5.2% ส่วนเป้าส่งออกอยู่ที่ 5%

ขณะที่บทวิเคราะห์จากแคปิตัล อิโคโนมิคส์ ประเมินว่า ราคาข้าวไทยอาจร่วงลงมาอยู่ที่ 425 ดอลลาร์ต่อตันภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันที่ 458 ดอลลาร์ และลดลงไปเหลือเพียง 400 ดอลลาร์ต่อตันในปี 2557 ซึ่งนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย รองประธานบริหาร บล.ภัทรซิเคียวริตีส์ บอกว่า นอกจากภาคส่งออกแล้ว เศรษฐกิจไทยไม่มีแรงขับเคลื่อนที่แท้จริง โดยราคาสินค้าเกษตรที่ลดต่ำลง จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ และการใช้จ่ายน้อยลง ขณะที่การลงทุนก็จะไม่เพิ่มขึ้น ในช่วงเวลาที่แนวโน้มเศรษฐกิจยังมืดหม่นอยู่

รถยนต์คันแรกทำความต้องการร่วง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า โครงการรถคันแรกของไทยให้ผลไม่เป็นไปตามคาด เมื่อลูกค้ากว่าแสนคนผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่ครองตลาดในไทย ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อปกป้องผลกำไร

ผลวิจัยจากไอเอชเอส โกลบอล ออโตโมทีฟ บริษัทวิจัยในอุตสาหกรรมรถยนต์ แสดงให้เห็นว่าราว 10% ของผู้ซื้อรถในโครงการรถยนต์คันแรกจำนวน 1.2 ล้านราย เปลี่ยนใจไม่ซื้อรถ หรือผ่อนค่างวดรถยนต์ไม่ไหว ซึ่งเมื่อผู้ซื้อยกเลิกการผ่อน สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อรถยนต์ ก็จะเข้าไปยึดรถ และนำไปขายต่อเป็นรถมือ 2 สถานการณ์ที่ทำให้ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ บรรดาค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ที่ครองส่วนแบ่งตลาดท้องถิ่นรวมกันมากถึง 80% รายงานยอดขายร่วงลงโดยเฉลี่ย 30%

รายงานระบุด้วยว่า โครงการดังกล่าวของไทย ที่ธนาคารโลกประเมินว่า ทำให้รัฐบาลไทยต้องรับภาระค่าใช้จ่าย 2,500 ล้านดอลลาร์ มีผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกับโครงการ "รถเก่าแลกเงินสด" ที่สหรัฐประกาศเมื่อปี 2552 ที่แรงจูงใจดังกล่าว ทำให้ตลาดบิดเบือนไป เพราะความต้องการที่เฟื่องฟูจะหมดไปทันทีหลังจากที่กำหนดการลดหย่อนภาษีดังกล่าวยุติลงในเดือนธ.ค.

ผู้จัดการเซ็นเตอร์ ยูสคาร์ บริษัทจำหน่ายรถยนต์มือ 2 ที่มีสาขาอยู่ในกรุงเทพฯ 2 แห่ง เปิดเผยว่า ราคารถยนต์ที่มาจำหน่ายร่วงลงไปโดยเฉลี่ย 20% ในปีนี้ และว่า ดีลเลอร์รายย่อยจำนวนหนึ่งต้องประสบปัญหาในการขายรถ บางรายถึงขั้นต้องปิดกิจการ

"เมื่อลูกค้าเริ่มตระหนักว่าพวกเขาผ่อนค่างวดต่อไปไม่ไหว รถของพวกเขาก็กลายเป็นรถยนต์มือ 2 ไปแล้ว ซึ่งยิ่งทำให้ราคาตกลงไปอย่างมาก"

จำนวนรถยนต์ที่เรียกได้ว่าแทบจะใหม่เอี่ยม ที่มีอยู่ล้นตลาดรถยนต์มือ 2 นั้น ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อบรรดาค่ายรถยนต์ และกดดันให้บริษัทเหล่านี้ต้องหาวิธีส่งเสริมการขาย และลดราคารถยนต์ เพื่อให้รถยนต์ออกไปพ้นสต็อก

ช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.ที่ผ่านมา มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่สุด ซึ่งมีโรงงาน 3 แห่งในไทย มียอดขายลดลง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ เหลือประมาณ 20,800 คัน และคาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทต้องดำเนินโครงการส่งเสริมการขายทั่วประเทศ ทั้งจับรางวัล และผ่อนรถปลอดดอกเบี้ยนาน 48 เดือน

เช่นเดียวกับค่ายรถยนต์จากสหรัฐ จากเจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ป ที่ระบุว่า ช่วง 3 เดือนล่าสุด สภาพตลาดไม่ค่อยดีนัก ซึ่งบริษัทต้องทำงานร่วมกับดีลเลอร์อย่างใกล้ชิด เพื่อออกรถยนต์รุ่นใหม่ๆ และหาทางดึงความสนใจจากลูกค้า

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ระหว่างประเทศ องค์กรที่มีฐานการดำเนินงานอยู่ในฝรั่งเศส ระบุว่า ในปี 2555 อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ และคิดเป็นสัดส่วน 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มียอดการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นถึง 70% มาอยู่ที่ 2.43 ล้านคัน และคาดว่า ในปี 2556 ยอดการผลิตจะพุ่งเกิน 2.5 ล้านคัน แต่ความต้องการที่ลดลงในประเทศ ทำให้บรรดาผู้ผลิตจำเป็นต้องส่งออกรถยนต์ไปยังตลาดยุโรป ญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น