--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

แนะไทยดึงจีน รับมือราคายางตก !!??

อุตสาหกรรมยางพาราไทยน่าห่วง มาเลเซียประกาศเป้าหมายศูนย์กลางยางพาราโลกโค่นไทยหล่นแชมป์ อีกด้านจีนรุกคืบขยายพื้นที่ปลูกใน CLMV จับตาอนาคตลดนำเข้าจากไทยอื้อ นักวิชาการ-เอกชนประสานเสียงต้องเร่งขยายสัดส่วนปริมาณการใช้ในประเทศเป็นอย่างน้อย 20% ช่วยลดผลกระทบ ขณะเงินช่วยปัจจัยการผลิตยาง 2,520 บาทต่อไร่ยังชุลมุน รัฐสั่งตรวจเข้มเอกสารสิทธิ 46 ประเภท  ส่วนที่ไม่เข้าข่ายเตรียมส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายแปลง

alt    จากที่ประเทศมาเลเซีย ได้ประกาศเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางยางพาราของโลกใน ค.ศ. 2020 หรือ ปี 2563 โดยมีแผนงานยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ขณะที่ไทยในฐานะผู้ผลิต และส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์อันดับ 1 ของโลก (มูลค่าปี 2555 มูลค่ากว่า 6.5 แสนล้านบาท)ยังอยู่ในวังวนของการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

ชี้เด่นแค่ถุงมือยาง
   
ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า โดยศักยภาพของมาเลเซียแล้วไม่สามารถเป็นศูนย์กลางยางพาราของโลกได้ทุกด้าน ยกเว้นเป็นผู้นำด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์ประเภทถุงมือยาง ที่ในปีที่ผ่านมาเลเซียสามารถส่งออกได้ถึงมูลค่า 1.06 แสนล้านบาท มีส่วนแบ่งในตลาดโลกสัดส่วนกว่า 50% และในปี 2563 มีเป้าหมายส่วนแบ่งตลาดที่ 65% หรือจะมีมูลค่าส่งออกประมาณ 3 แสนล้านบาท ขณะที่จะส่งเสริมปลูกยางพาราเพิ่มเป็น 7.2 ล้านไร่ จากปัจจุบันมีพื้นที่ปลูก 6.3 ล้านไร่ การเพิ่มผลผลิตเป็น 314 กิโลกรัมต่อไร่ จากปัจจุบันมีผลผลิตเฉลี่ย 240 กิโลกรัมต่อไร่ นอกจากนี้จะเพิ่มปริมาณผลผลิตยาง เป็น 1.8 ล้านตัน จากปีที่ผ่านมา มีผลผลิต 9.96 แสนตัน และเพิ่มการบริโภคยางในประเทศจาก 4.57 แสนตัน เป็น 1 ล้านตัน
   
มาเลเซียมีเพียงตัวเดียวที่ส่งออกได้เป็นอันดับ 1ของโลกคือถุงมือยางเท่านั้น ขณะที่ไทยส่งออกได้เป็นอันดับ 1 ของโลกหลายตัว ได้แก่  น้ำยางข้น ยางแผ่นรมควัน ถุงยางอนามัย และยางรถยนต์ ขณะที่พื้นที่ปลูก และผลผลิต และมูลค่าการส่งออกโดยรวมของไทยในปัจจุบันก็มากกว่า(ดูตารางประกอบ) แต่หากเราอยู่เฉยๆ จะได้รับผลกระทบแน่"
   
อย่างไรก็ดีสิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาคือ การเพิ่มสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศ จากปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบยางในประเทศเพียง 13% (ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ปี 2556 ที่สัดส่วน 17%) และส่งออก 87%  และราคาส่งออกขึ้นกับตลาดโลก หากจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่(สัดส่วนประมาณ 40%ของการส่งออกโดยรวม) ไม่ซื้อ หรือลดการสั่งซื้อ รวมถึงตลาดโลกมีความผันผวนก็จะได้รับผลกระทบจากราคายางที่ลดลง และจะมีปัญหาการชุมนุมเรียกร้องของเกษตรกรไม่รู้จบ ในเรื่องนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งผลักดันการเพิ่มปริมาณสัดส่วนใช้ยางในประเทศจาก 13% เป็นอย่างน้อย 20%  จากปีที่ผ่านมาใช้ในประเทศ 5 แสนตัน ให้เป็น 8 แสนตันในในอีก 5 ปี ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมได้อีก 8 แสนล้านบาท จากปัจจุบันทั้งห่วงโซ่อุปทานมีมูลค่าประมาณ 9 แสนล้านบาท โดยต้องมุ่งสู่อุตสาหกรรมแปรรูปยางขั้นปลายที่มีมูลค่าเพิ่มเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดโลกให้มากขึ้น

จีนส่งสัญญาณลดนำเข้า
   
ดร.อัทธ์ ยังได้แสดงความเป็นห่วงอุตสาหกรรมยางพาราของไทยที่นอกจากอาจได้รับผลกระทบจากเป้าหมายเป็นศูนย์กลางยางพาราโลกของมาเลเซียแล้วยังมีผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรม ประกอบด้วยจีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา และเมียนมาร์ ที่เวลานี้อยู่ระหว่างขยายพื้นที่ปลูกยางรวมกันเกือบ 20 ล้านไร่ ประกอบด้วยจีนปลูกแล้ว 6.9 ล้านไร่ เวียดนาม 5 ล้านไร่ ลาว 3 ล้านไร่ กัมพูชา เกือบ 2 ล้านไร่ และเมียนมาร์อีก 3 ล้านไร่ ซึ่งหากพื้นที่ปลูกยางทั้งหมดซึ่งเท่ากับพื้นที่ปลูกยางของไทยหนึ่งประเทศสามารถกรีดได้ทั้งหมดในระยะเวลาอันใกล้นี้จะมีความเสี่ยงต่อการส่งออกยางพาราของไทย เนื่องจากยางในลาวส่วนใหญ่ 70-80% ปลูกโดยนักธุรกิจชาวจีน และปัจจุบันได้ตั้งโรงงานแปรรูปในลาวแล้ว 20% และในเวียดนามบางส่วนก็ปลูกโดยจีน ดังนั้นวัตถุดิบ หรือสินค้ายางที่ผลิตในประเทศเหล่านี้ในอนาคตจะถูกส่งป้อนให้กับจีนเป็นหลัก
   
โอกาสที่จีนจะลดการนำเข้ายางพาราจากไทยในอนาคต มีความเป็นไปได้สูง หากไทยไม่ปรับตัว แนวทางหนึ่งมองว่าไทยอาจดึงจีนมาร่วมตั้งเมืองอุตสาหกรรมยางหรือรับเบอร์ซิตี เพื่อดึงโรงงานแปรรูปของจีนมาตั้งในไทยช่วยเพิ่มการใช้วัตถุดิบในประเทศให้มากขึ้น"

ห่วงสารพัดปัญหาตัวฉุด
   
ขณะที่นายอุทัย  สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่มาเลเซียจะเป็นศูนย์กลางยางพาราโลก เนื่องจากเวลานี้ประเทศไทยยังติดหล่มในหลายปัญหา เช่นกฎหมายสิ่งแวดล้อมมีความเข้มงวดมากเกินไป ทำให้การไปตั้งโรงงานแปรรูปยางของเอกชนในหลายพื้นที่มีอุปสรรคล่าช้า จากถูกต่อต้านจากองค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ) อีกด้านหนึ่งถูกการเมืองท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางแห่งเรียกรับผลประโยชน์, ปัญหาด้านแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ,ปัญหา กฎระเบียบการนำเข้ายางพาราจากเพื่อนบ้านมาแปรรูปในไทยมีความยุ่งยาก การเรียกเก็บเงินสงเคราะห์เกษตรกรจากผู้ส่งออกยาง(เงินเซสส์) ในอัตราสูงแบบขั้นบันได 3-5 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่มาเลเซียเก็บอัตราเดียวที่ 1.40 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนอินโดนีเซียไม่เก็บ อาจทำให้ต่างชาติหนีไปลงทุนประเทศอื่น
   
ตัวอย่างปัญหาเหล่านี้เราต้องเร่งแก้ไข  ไม่เช่นนั้นไทยอาจสูญเสียความเป็นศูนย์กลางยางพาราของอาเซียน และของโลกให้กับมาเลเซียได้ เวลานี้จะเห็นได้จากมีสินค้ายางพาราของไทยทั้งจากระยอง สงขลา หาดใหญ่เล็ดลอดส่งออกที่ท่าเรือปีนังของมาเลเซียส่วนหนึ่งเลี่ยงจ่ายเงินเซสส์ ขณะที่มาเลเซียอำนวยความสะดวกพิธีการศุลกากรแบบวันสต็อปเซอร์วิส มีท่าเรือที่พร้อมส่งออกได้อย่างรวดเร็ว เทียบแล้วมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าที่ส่งออกจากไทยในเรื่องนี้ต้องพิจารณาเงินเซสส์ใหม่อาจเก็บอัตราเดียวเหมือนมาเลเซีย"

ตั้งรับเบอร์ซิตีตัวอย่าง
   
ด้านนายหลักชัย  กิตติพล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นต่างว่า โอกาสที่มาเลเซียจะเป็นศูนย์กลางยางพาราโลกคงเป็นไปได้ยาก เพราะมาเลเซียโดดเด่นเพียงผลิตภัณฑ์เดียวคือถุงมือยาง ขณะที่ไทยมีอุตสาหกรรมการผลิตยางล้อรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องรองรับอีกเป็นจำนวนมาก ถ้ารัฐบาลเร่งผลักดันอย่างจริงจังก็จะเป็นโอกาสในการขยายตัว และต้องเร่งผลักดันในอุตสาหกรรมปลายน้ำเพื่อเพิ่มการใช้วัตถุดิบในประเทศ รวมถึงลดผลกระทบราคายางในตลาดโลกผันผวน
   
ล่าสุดในนามส่วนตัวได้จัดตั้งบริษัท ไทยเบก้า จำกัด ขึ้นโดยมีแผนการจัดตั้งนิคมยางพารา หรือนิคมสีเขียวร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อรองรับการลงทุนแปรรูปยางจากต่างประเทศที่อำเภอเมือง จังหวัดระยอง พื้นที่กว่า 2 พันไร่ คาดจะใช้เงินลงทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคประมาณ 2 พันล้านบาท และจะแล้วเสร็จสามารถตั้งโรงงานได้ในปีหน้า ขณะนี้ได้มีนักลงทุนจากจีน อินเดีย และจากสหภาพยุโรปติดต่อเข้ามาแล้วประมาณ 5 ราย เป็นนักลงทุนรายใหญ่ แต่ละรายจะใช้เงินลงทุน 5-8 พันล้านบาท ใช้พื้นที่อย่างน้อย 300 ไร่ต่อราย มีทั้งผู้ผลิตยางล้อรถเก๋ง รถสิบล้อ รวมถึงยางล้อเครื่องบิน หากแล้วเสร็จคาดจะช่วยเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศอีกไม่ต่ำกว่า 3 แสนตันต่อปี และช่วยเพิ่มยอดส่งออกของประเทศอีกหลายแสนล้านบาท

ตรวจเข้มก่อนจ่าย
   
นายยุคล  ลิ้มแหลมทอง  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับเอกสารสิทธิในการใช้พื้นที่ปลูกยางพาราว่า เป็นที่ชัดเจนว่าประเภทเอกสารสิทธิที่ดินที่เข้าหลักเกณฑ์เพื่อใช้ยื่นรับสิทธิได้รับการช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิต 2,520 บาทต่อไร่ รายละไม่เกิน 25 ไร่ กรมส่งเสริมการเกษตรจะยึดตามประเภทเอกสารสิทธิที่ดินซึ่งเป็นที่ยอมรับของกรมป่าไม้ทั้งหมด 46 รายการ แบ่งเป็น ประเภทที่ดินซึ่งได้มาตามเอกสารเกี่ยวกับที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ถูกต้องตามประมวลกฎหมายที่ดิน 17 รายการ เช่น โฉนดที่ดิน,ตราจอง,น.ส.4, น.ส.4ข, เป็นต้น และประเภทที่ดินที่มีสิทธิครอบครองหรือทางราชการให้ใช้ประโยชน์ 29 รายการ เช่น ที่ดินส.ป.ก. หนังสือรับรองของนิคมสหกรณ์, ก.ส.น.3, ก.ส.น.4,หนังสือรับรองของหน่วยราชการทหาร รวมถึงใช้ใบรับรองภาษีที่ดิน หรือ ภ.บ.ท.ก็สามารถใช้เป็นเอกสารเข้าร่วมโครงการได้ แต่จะต้องมีคำรับรองของกรมป่าไม้หรือส่วนราชการที่ที่ดินตั้งอยู่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้มาประกอบเป็นหลักฐาน
   
ส่วนกรณีเกษตรกรทำสวนยางในพื้นที่ในเขตป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติ ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีเกษตรกรเข้าไปทำสวนยางในพื้นที่ป่าสงวนประมาณ 3.3 ล้านไร่ และเขตอุทยานแห่งชาติอีกประมาณ 1 ล้านไร่  ก็จะเป็นอีกขั้นตอนที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องเข้าไปตรวจสอบและพิสูจน์สิทธิการถือครองที่ดินว่า เป็นไปตามกฎหมายของกรมป่าไม้และกฎหมายของอุทยานแห่งชาติหรือไม่ เพื่อดูว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างไรต่อไป

เผยเอกสารสิทธิ 46 ประเภท
   
สอดคล้องกับ นายวิทยา อธิปอนันต์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบขึ้นทะเบียนยางพารา   กล่าวถึงความคืบหน้าการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราตั้งแต่วันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา ล่าสุด ณ วันที่ 12 กันยายน 2556 ได้มีเกษตรกรมาแจ้งขึ้นทะเบียนแล้ว  1 แสนราย
   
ซึ่งคาดว่าจะมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจพื้นที่ปลูกยางทุกแปลงที่จะเกิดความชัดเจนของพื้นที่การรับการช่วยเหลือรายละไม่เกิน 25 ไร่ เกษตรกรมีเอกสารสิทธิถูกต้อง จะต้องเปิดกรีดยางแล้ว อย่างไรก็ดีทางกรมจะได้เร่งด่วนทำข้อมูลเพื่อจัดทำขึ้นทะเบียนข้อมูล และจะมีการตรวจสอบทุกแปลง ไม่ใช้การสุ่มตรวจ ซึ่งจะมีคณะกรรมการระดับจังหวัดประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริม องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นต้น

ที่มา. นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น