--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

เลิกแอดมิชชั่น-รื้อหลักสูตรโจทย์ท้าทายปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ !!??

แม้จะมีความพยายามในการปฏิรูปการศึกษามาแล้วกว่า2 ครั้งและเกือบทุกรัฐบาลพยายามจะเข้ามาแก้ปัญหาในรูปแบบต่างๆ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถแก้โจทย์ในทั้งเรื่องคุณภาพและความเหลี่ยมล้ำได้

เหมือนอย่างที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ บอกในวงสนทนากับผู้บริหารในเครือเนชั่นว่า การแก้ปัญหาการศึกษาไทยยังอยู่ที่วังวนของโครงสร้างและตามแก้ปัญหาผลกระทบจากโครงสร้างที่ออกมาแบบมาทำให้แก้ไขไม่ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น

การกลับมานั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการครั้งนี้ เขาจึงพุ่งเป้าที่ไปการหาโจทย์ ที่เกิดขึ้นกับวงการศึกษาไทย และหวังว่าโจทย์ที่ถูกต้องจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกทาง

โดยเฉพาะเมื่อ World Economic Forum (WEF)จัดอันดับการศึกษาไทยให้เกือบรั้งท้าย แพ้ทั้งกัมพูชาและเวียดนาม ยิ่งตอกย้ำว่าการปฏิรูปที่ผ่านมาอาจจะล้าหลังตามไม่ทันสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม

จาตุรนต์ บอกว่า การจัดอันดับของ WEF เป็นเรื่องที่รับรู้กันอยู่แล้ว จึงไม่แปลกใจมากนักและต้องถือเป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ โดยเฉพาะการปฏิรูปการเรียนการสอนในห้องเรียนใหม่ เพราะหากจะลองตรวจสอบเอาเฉพาะในเรื่องของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษก็พบว่าคนไทยเรียนภาษาอังกฤษมากว่า 16 ปี แต่ไม่สามารถสื่อสารและพูดคุยได้ ซึ่งเมื่อหากลองทบทวนวิธีการสอนในโรงเรียนและหลักสูตรจะเห็นว่าทั้ง 16 ปี ไม่มีเรื่องของการสนทนา(conversation)เลยแม้แต่นาทีเดียว

" ผมคิดว่าเริ่้มเห็นโจทย์บางอย่างในเรื่องของการสอนในโรงเรียนและหลักสูตรเพราะน่าตกใจเมื่อพบว่าหลักสูตรสอนภาษาอังกฤษของเราไม่มีเรื่องของการสนทนาเลย ซึ่งในเรื่องนี้้ต้องเปลี่ยนใหม่"

การปฏิรูปการศึกษาในมุมที่ "จาตุรนต์"ต้องการทำให้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งจึงมี 2 ประเด็นใหญ่คือ การปฏิรูปการเรียนการสอนและหลักสูตร ซึ่งในเรื่องนี้ระดมการแก้ไขปัญหาสจากนักวิชาการ ตั้งแต่เรื่องของการปรับมาตรฐานการทดสอบของเด็กไทยให้ได้มาตรฐานในระดับสากล เช่น การปรับการสอบโอเน็ตให้มีความสำคัญและผูกโยงกับความรับผิดชอบกับผู้ที่เกี่ยวข้องเช่นครู

ในมติของการทดสอบ เขามองว่าอาจจะต้องฟื้นระบบการสอบมาตฐานกลางของชาติกลับมาใหม่อีกครั้งนอกจากนี้ยังมองถึงการทดสอบในระดับนานาชาติเช่นPISAจะต้องเลื่อนลำดับขึ้นมา โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนในเรื่องนี้อย่างชัดเจน

ส่วนการปฏิรูปหลักสูตร "จาตุรนต์"บอกว่าจะไม่ทำแบบลงแขกเหมือนในอดีต แต่จะเชิญกระบี่มือหนึ่ง เข้ามาให้ความคิดเห็น พร้อมการตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยงานวิจัยพัฒนาในการปรับหลักสูตรที่มีงานวิจัยรองรับ

"เดิมการแก้หลักสูตรเราเชิญนักวิชาการด้านกฏหมายเข้ามาระดมความเห็น ซึ่งก็ถือว่าดีที่สุดเท่าที่มีในช่วงนี้ แต่ไม่มีองค์กรขึ้นมาดูแลอย่างจริงจัง ผมจึงเสนอให้ตั้งสถาบันขึ้นมาดูแลเรื่องนี้เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น "

ประเด็นในเรื่องของความเท่าเทียมทางด้านการศึกษา "จาตุรนต์" บอกว่า ปัญหานี้มีมากขึ้นในการศึกษาไทยเพราะมีพ่อแม่ที่มีศักยภาพในการลงทุนเพื่อให้ลูกได้เรียนโรงเรียนที่ดีและมหาวิทยาลับที่ดีต่างทุ่มไปกับการกวดวิชาซึ่งพบว่าเด็กบางคนพ่อแม่ต้องใช้เงินในการเดินทางเพื่อเรียนและสอบมากกว่า 5แสนบาท ซึ่งในเรื่องนี้เขามองว่าต้องแก้ไขระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เรียกว่า "แอดมิชชั่น"ใหม่เพื่อลดปัญหาดังกล่าว

ส่วนจะแก้ไขไปในทิศทางเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาร่วมกันของนักวิชาการด้านการศึกษา แต่เการเปลี่ยนระบบการสอบใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยเวลาทั้งครู ผู้ปกครองให้ปรับตัว เพื่อเข้าสู่กติกาแบบใหม่ และเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่จะมีแรงต้านจากประชาชนทั้ง ผู้ปกครอง โรงเรียนกวดวิชา หรือกระทั่งครูในระบบเพราะฉะนั้น จำเป็นต้องสร้างดีมานด์จากสังคมที่จะเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนระบบใหม่

"ขณะนี้ช่องว่าของความเท่าเทียมมีมากทั้งในเรื่องของโรงเรียนที่มีคุณภาพไม่มีคุณภาพ มหาวิทยาลัย ด้วยเช่นกัน พ่อแม่ที่มีตังค์ส่งลูกหรือเตรียมให้ลูกเรียนมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพหรือส่งไปเรียนต่างประเทศ แต่พ่อแม่ที่ไม่รายได้ก็เรียนมหาวิทยาลัยใกล้บ้าน "

การปฏิรูปให้มหาวิทยาลัยปรับตัวเพื่อสร้างคุณภาพจึงเป็นอีกประเด็นที่จะต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งเขาคิดว่าจะใช้ระบบการจัดลำดับมหาวิทยาลัยเพื่อบีบให้มหาวิทยาลัยมีคุณภาพ โดยให้มาหวิทยาลัยยึดโยงกับความรับผิดชอบกับสังคม และถือเป็นการสร้างทัศคติของผู้ปกครองที่จะต้องเข้ามามีส่วนเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยปรับตัวเพื่อสร้างคุณภาพไม่ใช่การลงทุนเพื่อสร้างทางเลือกให้กับบุตรหลานเพื่อเข้ามหาวิทยาลันดีๆโดยไม่ส่งเสียงตรวจสอบมหาวิทยาลัยในการสร้างคุณภาพ

"มหาวิทยาลัยบ้านเราเป็นอิสระจากทั้งนักการเมืองหรือรัฐบาลซึ่งในมุมนี้มีทั้งดีและไม่ดี แต่ปัญหาสำคัญคืออิสระจากสังคมและผู้ปกครองเองก็ไม่เข้มแข็งพอที่จะเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยปรับตัว"

จาตุรนต์ มองว่าการปฏิรูปการศึกษาจำเป็นต้องใช้เวลาและความต่อเนื่องในการดำเนินการ เพราะในทางการเมืองไม่สามารถทำได้เนื่องจากวาระในตำแหน่งที่ผัดเปลี่ยนเวียนไปและส่วนใหญ่จะเข้ามาดำเนินการในสิ่งที่ตัวเองตั้งใจ ซึ่งในเรื่องนี้เขาเห็นภาคสังคมต้องมีฉันทามติในการเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษาทั้งการเรียนการสอน หลักสูตร และคุณภาพที่เท่าเทียม

โดยสรุปแล้ว สิ่งที่จาตุรนต์ จะเดินหน้าคือ การปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบให้เชื่อมโยงกัน โดยจะมีการจัดประชุมใหญ่ในวันที่ 22 ก.ย. จากนั้นจะนำมายกร่างแผนการดำเนินการหรือพิมพ์เขียวขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ โดยจะเริ่มต้นในปีงบประมาณ 2557

แต่สิ่งที่เขาเห็นว่าต้องเร่งดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือต้องมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อยกร่างแผนการดำเนินงานร่วมกัน นอกจากนี้ยังขอให้สพฐ.ไปเร่งดำเนินการตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการเลื่อนอันดับPISA รวมถึงเร่งตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อทำให้การปฏิรูปหลักสูตรมีความต่อเนื่องและได้มาตราฐาน

เป้าหมายที่จาตุรนต์ อยากเห็นและ ต้องการทำ 2 เรื่องให้ประสบความสำเร็จ คือ การทำให้ผู้เรียนสามารถคิด วิเคราะห์ เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยต้องเห็นผลลัพธ์ในปี 2558 คือ ทำให้อันดับในการประเมิน Pisa ดีขึ้น , ขยับสัดส่วนเรียนต่อสายสามัญและสายอาชีพเป็น 50:50 , ทำให้มหาวิทยาลัยไทยติดอันดับโลกมากขึ้น และการกระจายโอกาสและเพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษามากขึ้น

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
///////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น