--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

ตัวแปรการเมืองอะไรบ้าง บ่งชี้สถานการณ์ ศก.ไทย 56-57 รอดหรือร่วง !!??

ก้าวสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 ที่ต้องบอกว่าสถานการณ์การเมืองไทยกลับมาขมึงเกลียวอีกครั้งกับข้อขัดแย้งในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยที่มาสว.และที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไปก็คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่จะกลับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา วาระ 2 ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ขณะที่สัญญาณด้านเศรษฐกิจปลายปีที่เชื่อว่าน่าจะดีขึ้น แต่ดูเหมือนว่านาทีนี้ยังคงสั่นคลอนด้วยแรงกดดันด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่มีความแน่นอน

ข้อพิจารณาสำคัญก็คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนที่กระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคส่งออก รวมถึงภาวะค่าครองชีพที่ตรึงตัวของผู้มีรายได้น้อยกลับไม่ทำให้รัฐ บาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยี่หระกับการให้ความสำคัญมากกว่าการทะลุทะลวงในเรื่องการแก้ปัญหาการเมืองให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เมื่อดูตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างการส่งออกพบว่า ช่วงม.ค.– ส.ค.56 มูลค่าการส่งออก ประมาณ 4.6 ล้านลบ. ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ร้อยละ 3.0 ขณะที่มูลค่านำเข้า ประมาณ 5.2 ล้านลบ. ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ร้อยละ 0.9  ทำให้ในรอบ 8 เดือนของปี 2556 ไทยต้องขาดดุลการค้ามูลค่าสูงถึงประมาณ 6.04 แสนลบ.เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียว กันของปี 2555  ที่ขาดดุลการค้ามูลค่าประมาณ 5.2 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 18.3  ซึ่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ  ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ยากที่การส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2556 จะเติบโตในช่วงร้อยละ 4-7 ต่อปี และยังมองว่าใน 4 เดือนที่เหลือการส่งออกจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 5 ซึ่งจะทำให้การส่งออกไทยในปี 2556 นี้ อาจขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2 ต่อปีเท่านั้น

ส่วนการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนก็ส่งสัญญาณชะลอตัวลงเช่นกัน  จากความกังวลในเรื่องค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เป็นต้นมา อีกทั้งแนวโน้มหนี้ภาคครัวเรือนที่เร่งสูงขึ้นต่อเนื่องจากร้อยละ 60 ของ GDP ในปี 2554 จนปัจจุบันอยู่ที่ระดับร้อยละ 75 ของ GDP ทำให้ประเมินเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง จะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.1 และทั้งปี 2556 จะขยายตัวที่เพียงร้อยละ 3.1 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 ในปีที่ผ่านมา

โดยค่าดัชนีค่าครองชีพประจำเดือนส.ค.56   เทียบเดือนก.ค. 56 ลดลงร้อยละ 0.01    แต่ถ้าเทียบเคียงกับเดือนส.ค.55 พบว่ามีอัตราสูงขึ้นร้อยละ 1.59  และเทียบเฉลี่ยช่วงเดือนม.ค – ส.ค.55  ปรากฎว่าสูงขึ้นถึงร้อยละ 2.47  

ทั้งหมดเป็นสถานการณ์เศรษฐกิจบางส่วนของประเทศที่คนไทยทั้งประเทศรับรู้โดยการใช้ชีวิตประจำวัน ขณะที่ข้าราชการบางคนกลับบอกว่าสินค้าราคาแพงเป็นแค่ความรู้สึก แถมรัฐบาลก็ยังเดินหน้าสนับสนุนประเด็นทางการเมือง อย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม โดยไม่ให้น้ำหนักเรื่องปากท้องประชาชน ทั้งๆที่รู้ว่าจะนำไปสู่ข้อขัดแย้ง

ที่มา.ทีนิวส์
////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น