--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

การแทรกแซงราคาพืชผล : บทเรียนที่ต้องจดจำ !!??

การออกมาชุมนุมประท้วงราคายางพาราตกต่ำของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและมีอาชีพเกี่ยวกับยางพาราทั่วประเทศ จนเหตุการณ์บานปลายกลายเป็นการปิดถนน ปิดทางรถไฟ ยึดสถานที่ราชการ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แน่นอนว่าย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมควร และไม่ใช่เป็นการชุมนุมประท้วงตามสิทธิที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามที่กลุ่มผู้ชุมนุม กล่าวอ้างอย่างแน่นอน

เพราะการชุมนุมดังกล่าวมีการละเมิดสิทธิของผู้อื่นอย่างชัดแจ้ง และการชุมนุมในลักษณะเช่นนี้ ถ้าเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีอำนาจอย่างเต็มที่ตามกฎหมายในการเข้าสลายการชุมนุม เพื่อรักษาสิทธิของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ให้ได้รับผลกระทบ โดยไม่จำเป็นต้องรอฟังคำสั่งจากนักการเมืองหรือรัฐบาลแต่อย่างใด ซึ่งถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการสลายการชุมนุม อาจถูกกล่าวหาฟ้องร้องจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ว่าเจ้าหน้าที่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เรื่องของการชุมนุมประท้วงจนบานปลาย กลายเป็นม็อบและมีการปิดถนนไปหลายแห่งนั้น สาเหตุหลักก็คือ เรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ในอดีตก็มีการประท้วงกันอยู่เป็นประจำ รัฐบาลก็แก้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง วิธีการแก้ไขก็วนเวียนกันไปมา ระหว่างการรับจำนำ การประกันราคา การให้เงินช่วยเหลือ ฯลฯ ซึ่งก็ทำกันอยู่อย่างนี้เรื่อยมา โดยไม่สนใจที่จะแก้ไขปัญหาในระยะยาวกันแต่อย่างใด

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ในเมื่อเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติเป็นประจำ ทำไมปีนี้บรรยากาศการประท้วงจึงรุนแรงกว่าทุก ปี ทั้งๆที่ราคายางก็ยังไม่ได้ตกต่ำอะไรมากมายจนเกินไปนัก ว่า กันที่จริงราคายางที่กิโลกรัมละ 70-80 บาท ก็ยังพออยู่กันได้ เพียง แต่ไม่มีกำไรมากมายนัก แต่แน่นอนว่าถ้าเอาไปเปรียบเทียบกับ ราคาที่เคยขึ้นไปสูงสุดถึง 140-150 บาท/กก. ก็จะรู้สึกว่าราคา ตกต่ำลงมามาก แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าราคานั้นเป็นราคาที่สูงเกินปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง และเป็นราคาที่ไม่ยั่งยืน อยู่ได้ไม่นาน

ผมมาวิเคราะห์ดูแล้วก็เห็นว่า มีปัจจัยอยู่สองประการที่ทำ ให้การประท้วงในปีนี้ค่อนข้างจะรุนแรงกว่าทุกปี คือ

1.บรรยากาศทางการเมืองที่มีการแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน ระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งมีความพยายามที่จะปลุก ระดมมวลชนนอกสภาให้เข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองของพรรค การเมืองทั้งสองฝ่าย ยิ่งทำให้การต่อสู้ทางการเมืองมีความเข้มข้นมากขึ้น และลุกลามออกมานอกสภา

ถึงแม้ว่าทางฝ่ายเกษตรกรผู้ชุมนุมจะปฏิเสธว่าไม่มีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองหนุนหลัง แต่การที่การชุมนุมมีความเข้มข้นรุนแรงมากที่สุดในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลของพรรคฝ่ายค้าน ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าการประท้วงครั้งนี้ปลอดจากการเมืองโดยสิ้นเชิง

2.นโยบายรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าราคาตลาดมากถึง 40% ของรัฐบาล นโยบายนี้เป็นนโยบายดาบสองคมของรัฐบาล ทางหนึ่งทำให้รัฐบาลชนะการเลือกตั้ง และเมื่อทำได้จริง ก็ได้รับความนิยมจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าว แต่อีกทางหนึ่งก็ทำให้รัฐบาลเผชิญกับปัญหาข้าวล้นสต็อก ขายไม่ออก ขาดทุนมหาศาลจากโครงการนี้ ถูกตรวจสอบอย่างหนักจากการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว

มาคราวนี้รัฐบาลยังถูกเกษตรกรชาวสวนยางย้อนรอยว่า รัฐบาลกำลังดำเนินนโยบายสองมาตรฐานกับเกษตรกร โดยรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าราคาในตลาดโลกมาก แต่กับยางพารารัฐบาลกลับไม่ยอมประกันราคาหรือรับจำนำในราคาสูงเช่นเดียว กันกับข้าว แต่กลับบอกว่าต้องเป็นไปตามราคาในตลาดโลก

ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญครับ และรัฐบาลคงดิ้นไม่หลุด เพราะเป็นผู้ไปผูกปัญหาเอาไว้เอง โดยลืมไปว่า การรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าตลาดโลกมาก จะเป็นตัวอย่าง ให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชชนิดอื่นเรียกร้องเอาอย่างตาม

เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่หาทางออกลำบากครับ เพราะรัฐบาลจะไปบอกว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีความสำคัญกว่าเกษตรกรชาวสวนยางก็พูดไม่ได้ หรือจะบอกว่าข้าวสำคัญกว่า ยางพาราก็พูดได้ไม่ถนัดปากนัก พูดมากไปจะกลายเป็นการแบ่งพื้นที่ช่วยเหลือตามพื้นที่คะแนนเสียงที่ได้รับเลือกตั้งเสีย อีก ซึ่งเป็นจุดอ่อนของพรรครัฐบาลที่ถูกโจมตีในเรื่องนี้มาโดยตลอดอยู่แล้ว

ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของการกำหนดนโยบายที่ไม่รอบคอบ มองไม่รอบด้านเท่าที่ควร และข้อสำคัญไม่มีความเข้าใจว่า นโยบายประชานิยมนั้น เมื่อนำมาใช้ก็เหมือนยาเสพติด มีแต่จะต้องใช้ยาแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะนโยบายอุดหนุนหรือแทรกแซงราคาสินค้าทางการเกษตรนั้นกูรูทางการตลาดเขาบอกเอาไว้แล้วว่า เป็นประชานิยมขั้นสุดยอด ทำแล้วได้คะแนนเสียงเป็นกอบเป็นกำ แต่ต้องทำให้เป็นนะครับ ถ้าทำไม่เป็น มันก็จะหันกลับมาบาดมือจนเลือดสาดแบบนี้ละครับ

อย่างที่เขาเรียกกันว่า "ประชานิยมไร้เดียงสา" ไงล่ะครับ !!!

ที่มา.สยามธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น