--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

อุ้มราคายาง ใครรวยกันแน่ !!??

แม้วันนี้ม็อบยางพาราในจังหวัดภาคใต้ จะดูเหมือนอยู่ระหว่างการพักรบ เพื่อหาจุดร่วมในการที่จะตกลงกันว่า ราคาที่เป็นไปได้ของรัฐบาลในการที่จะช่วยอุ้มชาวสวนยางพารา กับราคาที่ม็อบยางพาราต้องการนั้น

จุดที่รับได้ของทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ตรงไหน

ถ้าหาจุดลงตัวไม่ได้ ฝ่ายม็อบก็ยืนกรานแล้วว่า จะประท้วงอีก และจะยกระดับความรุนแรงมากขึ้น โดยนอกจากจะปิดถนนอีกรอบแล้ว จะมีการไปปิดด่านสะเดาอีกด้วย

เรียกว่ามุ่งกดดันด้วยความเสียหายในภาพรวมของประทศชาติ และประชาชนเป็นหลัก
ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ ที่ต้องใช้ถนน ใช้สนามบิน ใช้เส้นทางคมนาคม ได้แต่มองตาปริบๆ เพราะเหมือนกับว่าเป็นตัวประกันให้กับกลุ่มม็อบ

ปัญหาที่ผู้คนในสังคม โดยเฉพาะคนในสังคมภาคใต้ควรตั้งคำถามก็คือ นี่คือการชุมนุมโดยการใช้สิทธิของประชาชนที่สามารถชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธจริงหรือไม่???

เพราะถึงขั้นเผารถนักข่าว ทำลายรถตำรวจ ทำลายทรัพย์สินของทางราชการของผู้ที่ทำหน้าที่กันเช่นนี้ ยังจะบอกได้อีกหรือว่าเป็นการกระทำโดยที่ไม่มีผลประโยชน์การเมืองหนุนหลัง

ถ้าเช่นนั้นทำไมนักการเมืองที่เป็น ส.ส.ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ แทนที่จะออกมาดูแลความเดือดร้อนของคนในจังหวัด ของนักท่องเที่ยว และคนนอกพื้นที่เดือดร้อนจากการกระทำของม็อบ กลับกลายเป็นว่านักการเมืองไปขึ้นเวทีม็อบ

แม้แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ก็สนใจแค่ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะถูกละเมิดหรือไม่ หรือว่าจะมีการใช้กำลังใช้อาวุธสลายการชุมนุมหรือเปล่า???

ส่วนประชาชนจำนวนมากที่ถูกละเมิดสิทธิกันเห็นจะๆ จากการปิดถนนปิดทางรถไฟ ทุบทำลายทรัพย์สิน ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ ปรากว่าคณะกรรมการสิทธิ์ ชุดของนางอมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธานกรรมการ กับ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ไม่เคยที่จะใส่ใจ

ทั้งๆที่ก็ถูกประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนไปแล้ว แต่ก็เงียบ ราวกับอมสากกันหมดหรืออย่างไร
เพราะเป็นเช่นนี้หรือไม่ ที่ทำให้ความเชื่อที่ว่า เรื่องนี้ต้องมีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวอยู่เบื้องหลังมีน้ำหนักเป็นอย่างมากในสายตาและความรู้สึกของสังคม

มองกันตื้นๆ หากม็อบทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ ด้วยการยื่นเงื่อนไขที่ไม่มีทางทำได้ ไม่ว่าจะในเรื่องของราคาประกัน เรื่องของเงินช่วยเหลือ และที่สำคัญเรื่องที่จะไม่ให้เอาผิดใดๆกับบรรดาแกนนำบรรดา

หัวโจก บรรดาผู้ที่กระทำผิดกฎหมายทั้งหลาย

โดยอาศัยข้ออ้างว่า เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการแสดงออก
ทั้งๆที่เป็นการแสดงออกโดยทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย... แล้วจะให้จบไปโดยไม่มีอะไร รับรองได้ว่าอนาคตจะมีสารพัดม็อบเกิดขึ้นตามมาแน่นอน

เพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ไปขึ้นเวทีพูดปาวๆแล้วว่า นี่คือชัยชนะของม็อบยางพารา แถมยังบอกให้คนอื่นๆดูเอาไว้เป็นแบบอย่าง... ปลุกเร้าแบบเปิดหน้าหรากันเลยว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่จะทำ

จึงไม่แปลกที่กรณีนายเชน เทือกสุบรรณ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมอย่างมากด้วยการทุ่มเก้าอี้ระบายอารมณ์ถึง 2 ตัว แบบขาดสติยับยั้งชั่งใจ นายอภิสิทธิ์ถึงได้แก้ต่างแทนว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งก็จริง แต่ที่ทำเพราะอัดอั้นตันใจ

น่าสนใจตรงคำถามที่ว่า อัดอั้นตันใจเรื่องอะไรกันแน่ เรื่องไม่ได้พูดถึงปัญหาม็อบยางพารา หรือเรื่องที่ไม่ได้ใช้เวทีในการถล่มรัฐบาล หรือว่าเป็นเพราะไม่ได้พูดออกทีวีให้ประชาชนได้เห็น
หรือว่ามีอะไรมากไปกว่านั้นหรือไม่???

เพราะต้องยอมรับความจริงว่า ชาวสวนยางในปัจจุบัน นอกจากจะมีประชาชนชาวสวนเดิม ชาวสวนใหม่แล้ว ยังมีพวกนักการเมือง มีพวกเศรษฐีนักธุรกิจระดับมหาเศรษฐีเข้าไปลงทุนปลูกยางพารากันเป็นจำนวนมากด้วย

เป็นที่รู้กันว่า ที่จังหวัดบึงกาฬ พื้นที่ปลูกยางกว่า 7,000 – 8,000 ไร่ เป็นของนักการเมืองใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งก้ต้องชมว่าอย่างน้อยก้มีสปิริต ไม่ได้ออกมาปลุกเร้าประชาชน ไม่ได้ออกมาเล่นการเมืองเบื้องหลังม็อบรอบนี้เลยแม้แต่สักนิด

แค่รอส้มหล่น รัฐบาลอุ้มยิ่งมากแค่ไหน นั่นก็หมายถึงประโยชน์ล้วนๆอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องทำให้ประเทศชาติเสียหาย

ซึ่งก็คงคิดเหมือนกับนักธุรกิจใหญ่ หลายๆคน ที่โดดเข้าไปลงมุนในสวนยางพาราทั้งในประเทศและแถบประเทศเพื่อนบ้านของไทย จนเป็นที่พูดกันปากต่อปากว่า เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งค่ายไทยเบฟ กับเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งอาณาจักรซีพี

ต่างก็ไปลงทุนในสวนยางพารากันเป็นหมื่นๆไร่

เอาแค่รอรับส้มหล่น จากราคาตลาดซึ่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 72-76 บาท แล้วรัฐบาลประกันราคาที่กิโลกรัมละ 85 บาท หรือ 90 บาทแล้ว ก็รับเนื้อๆไม่รู้เท่าไหร่แล้ว... ไม่ต้องไปถึงกิโลละ 120 บาท ก็รวยกันสะดือปลิ้นแล้ว

ฉะนั้นบรรดาชาวสวนยางที่เดือดร้อนจริงๆ คงต้องฉุกใจคิดเหมือนกันว่า ที่พยายามเรียกร้องราคาสูงๆ ที่ขีดเส้นตายกันอยู่ในเวลานี้... ใครกันแน่ที่รวยเละ!!!

ชาวสวนที่มีพื้นที่แค่ 10-20 ไร่ หรือว่าคนรวยที่มีสวนยางเป้นพันๆหมื่นๆไร่กันแน่
นี่ยังไม่นับบรรดาเจ้าของสวนยางในประเทศเพื่อนบ้าน ที่สามารถจะส่งยางมาขายในเมืองไทยได้ด้วย หากมีราคาที่สูงกว่าระดับราคาในตลาดโลก... ใครคือผู้ที่เสียเปรียบหากไม่ใช่ประเทศไทยคนไทย
หรือแม้แต่ข้อมูลในเว็บไซด์ พระนครสาส์น ที่มีการนำเสนอรายงาน “ไขปริศนาม็อบปิดถนน?” โดยเปิดบัญชีทรัพย์สิน3พี่-น้องตระกูลเทือกสุบรรณ ว่าที่แท้เข้าข่ายเศรษฐีสวนยาง!

โดยได้มีการตรวจสอบ “บัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน” ที่นักการเมืองจะต้องแจ้งเอาไว้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งพบว่าทั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายเชน เทือกสุบรรณ และนายธานี เทือกสุบรรณ มีรายได้จาก “สวนปาล์ม” และ “สวนยางพารา” รวมกันเกือบ 50 ล้านบาท

โดยนายสุเทพ ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเอาไว้กับ ป.ป.ช. เมื่อเข้ารับตำแหน่ง “ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์” เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2554 ระบุว่า มีทรัพย์สินรวม 141,785,824.24 บาท มีหนี้สินรวม 47,973,015.97 โดยมีรายได้จาก สวนยาง,สวนปาล์ม สูงถึง 41,459,970 บาท (สี่สิบเอ็ดล้านสี่แสนห้าหมื่นเก้าพันเก้าร้อยเจ็ดสิบบาท)

ส่วนนายเชน ก็ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเอาไว้กับ ป.ป.ช. เมื่อเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ วันที่ 10 กันยายน 2554 ระบุว่า มีทรัพย์สินรวม 47,717,208.88 บาท และมีหนี้สินรวม 3,313,683.00 บาท

และมีรายได้จากสวนยางพาราถึง 3,000,000 บาท (สามล้านบาท) รวมทั้งมีรายได้จากสวนปาล์มน้ำมันอีก 2,000,000 บาท(สองล้านบาท) นอกนั้นเป็นรายได้จากสวนผลไม้อีก 800,000 บาท
ขณะที่นายธานี ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อ ป.ป.ช. เอาไว้เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2554 ระบุว่ามีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 58,501,534.13 บาท และมีหนี้สิน 19,665,641.56 บาท

โดยนายธานี มีรายได้จากสวนปาล์ม 1,800,000 บาท (หนึ่งล้านแปดแสนบาท)โดยประมาณ ขณะที่คู่สมรสมีรายได้จากสวนปาล์มอีก 360,000 บาท(สามแสนหกหมื่นบาท)โดยประมาณ
ซึ่งเมื่อรวมพี่น้องทั้ง 3 คนในตระกูลเทือกสุบรรณจะพบว่า มีรายได้จากยางพาราและสวนปาล์ม รวมกันสูงถึง 48,619,970 บาท (สี่สิบแปดล้านหกแสนหนึ่งหมื่นเก้าพันเก้าร้อยเจ็ดสิบ)

อ่านรายละเอียดได้ใน http://www.phranakornsarn.com/cockroach/1934.html

ซึ่งหากมองกันตามสิทธิของประชาชนที่มีมาทุกยุคทุกสมัย ใครใคร่ค้าช้างค้า ค้าม้าค้า ค้าวัวค้าความค้า... การที่คนในตระกูลเทือกสุบรรณ จะไปลงทุนทำสวนยางพารา จะปลูกปาล์มน้ำมันนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก กฎหมายไม่ได้ห้ามว่าคนตระกูลนี้ห้ามปลูกยางห้ามเป้นเจ้าของสวนยางพาราเสียเมื่อไหร่
แต่ที่เป็นประเด็นคือการแสดงออกที่ดุเดือดต่างหาก ที่ทำให้คนสงสัยว่าตกลงจริงๆแล้วที่ดาลเดือดขนาดนั้นมันเรื่องอะไรแน่???

เช่นเดียวกับข้อสงสัยที่ว่า มีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังม็อบนั้น มันเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วยหรือไม่???
ตรงนี้แหละที่เป็นคำถามคาใจสังคม

เพราะที่ตลกร้ายไปยิ่งกว่านั้นก็คือ ข้อมูลจากนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่านายอำนวย ยุติธรรม นักเคลื่อนไหว ที่เป็นแกนนำในการเรียกร้องและขู่ปิดถนนนั้น ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า นายอำนวย ไม่ได้ทำสวนยาง แต่มีอาชีพเป็นรองนายกฯอบต.ที่แต่งตั้งโดยนายบุญโชค แก้วแกม นายกฯอบต. ต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

ซึ่งก็คงจะมั่นใจในข้อมูล ถึงได้กล้าท้าว่า หากนายอำนวยทำยางจริงจะไปรับซื้อถึงบ้านกิโลกรัมละ 200 บาท

เงื่อนงำต่างๆทำนองนี้แหละที่ทำให้น่าคิดว่ากำลังเกิดขบวนการอะไรเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองหรือไม่???

ขณะที่คนสวนยางภาคใต้ก็ต้องคิดให้หนักว่า ถ้ารัฐบาลยอมตามเงื่อนไข เพราะไม่อยากให้ประเทศชาติมีปัญหาความวุ่นวายนั้น

ใครกันแน่ที่รวย!!!

ที่มา.บางกอกทูเดย์
/////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น