โดย.รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ออกมาระบุว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้(2556) จะลดลงเหลือ 3 % จากปีก่อนอยู่ที่ 6.8 % สร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก จนหลายฝ่ายต้องออกให้ความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยยังไปได้ดีอยู่
เรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายเรื่องตัวเลข GDP ที่ต่ำลง เพราะหากไม่ทำความเข้าใจอาจกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนได้ เพราะเพียงครึ่งปีแรกที่มีการประกาศตัวเลข GDP ออกมาว่าต่ำกว่าเป้าหมาย ตลาดก็วิตก และซวนเซ
การถดถอยของตัวเลขเศรษฐกิจในปีนี้เป็นผลจาก “การอัดฉีดนโยบายประชานิยมที่เร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือสเตียรอยด์อีโคโนมี” ไม่ว่าจะเป็นนโยบายรถคันแรก บ้านหลังแรก หรือค่าแรง 300 บาท/วัน ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในปีนี้ถูกนำไปใช้ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กำลังซื้อผู้บริโภคที่มีสัดส่วน 55 % ของ GDP ขยายตัวได้เพียง 3% จากที่คาดว่าน่าจะขยายตัวได้ถึง 6 %
แต่สำหรับค่าแรง 300 บาท ถือเป็นสเตียรอยด์ที่ดี เพราะถ้าเราไม่มีเรื่องค่าแรง 300 บาท ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะรุนแรงกว่านี้มาก ภาคอุตสาหกรรมในเมืองจะดึงแรงงานไว้ไม่ได้ เพราะคนจะกลับชนบทไปทำนา เนื่องจากข้าวเกวียนละ 15,000 บาท ซึ่งในปัจจุบันนี้คนในภาคเกษตรมีประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนแรงงานทั้งหมด สร้างจีดีพีได้ไม่เกิน 10 % ฉะนั้นถ้าคนไหลเข้าไปในภาคเกษตรมากๆ ในระยะยาวจะไม่เป็นผลดีกับประเทศ
การใช้นโยบายประชานิยมของรัฐไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนนโยบายประชานิยมหลายประการที่อาจมีผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ และหันมาพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง 3 ภาคธุรกิจหลัก คือ ภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคค้าปลีกและค้าส่ง ซึ่งไทยมีศักยภาพอยู่แล้ว
ดังนั้น สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงมากในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงอาจจะเป็นปีหน้า คือ การดูแลสภาวะเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ มากกว่าการเร่งความเจริญเติบโต
เพราะตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อย่างน้อย 1-2 ปีข้างหน้า จะเกิดสภาวะความไม่แน่นอนที่สูงมาก ทั้งระดับในและต่างประเทศ
ในต่างประเทศจะมีความไม่แน่นอนในลักษณะที่เรียกว่า Triple uncertainty คือความไม่แน่นอนแบบ 3 จังหวะ
1. Economic uncertainty เป็นผลจากการถอนตัวออกจากคิวอีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจจะเริ่มตั้งแต่ปลายปีนี้ไปเป็นต้นไป รวมถึงปีหน้าอาจจะมีการขึ้นดอกเบี้ย ฉะนั้นเมื่อเกิดการกลับทิศของเศรษฐกิจโลก คืออเมริกาเริ่มถอนตัวออกจากคิวอี เสริมด้วยปัญหาของยุโรปที่ยังแก้ไม่ตก ยังไม่รวมเรื่องเศรษฐกิจอเมริกาและยุโรปที่ยังอยู่ในสภาวะที่ยังไม่มีพัฒนาการอย่างเห็นชัดเจนมาก ทำให้เกิดความไม่แน่นอนที่สูง เนื่องจาก GDP ของทั้ง 2 ประเทศรวมกันเท่ากับครึ่งหนึ่งของโลก
ข้อสังเกตุอีกประการหนึ่ง คือ ตอนนี้ทั่วโลกเกิดสภาวะ ที่เรียกว่า economic paradox(ความขัดแย้งของตัวแปรทางเศรษฐกิจ) เช่น ประเทศพัฒนาแล้วมีความกลัวปัญหาตรงกันข้ามกับประเทศกำลังพัฒนา ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น กลัวปัญหาเงินฝืด ญี่ปุ่นภายใต้อาเบ้โนมิกจึงต้องการเร่งให้เงินเฟ้อขึ้นมาอีก 2 % จึงอัดฉีดเงินออกมามาก ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา ยกตัวอย่างอินเดีย อินโดนีเซียและอีกหลายๆ ประเทศ กลัวปัญหาเงินเฟ้อ
เช่นเดียวกัน ประเทศพัฒนาแล้วกลัวค่าเงินแข็ง ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนากลัวค่าเงินอ่อน สิ่งเหล่านี้นำไปสู่นโยบายที่แตกต่างกัน ทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวมยากขึ้น
2. Political uncertainty ปีหน้าในหลายประเทศจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในอินโดนีเซีย อินเดีย เยอรมันนี จึงเกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองสูง
3.Security uncertainty เช่น ปัญหาซีเรีย จะนำไปสู่ปัญหาบานปลายสู่อิหร่านหรือไหม ถ้าไปถึงอิหร่าน น้ำมันถูกกระทบแน่นอน
จากการที่เราอยู่ Triple uncertainty รัฐบาลจะบริหารประเทศอย่างไร? องค์กรธุรกิจต้องเตรียมตัวเองอย่างไร? ประชาชนต้องเตรียมตัวอย่างไร? ตรงนี้คือ คำถามใหญ่ที่เราต้องคำนึงถึง เพราะนอกจาก Triple uncertainty ในต่างประเทศ ในประเทศไทยยังมี Double uncertainty หรือความไม่แน่นอนในหลายด้าน เช่น political uncertainty ตอนนี้มีปัญหาการแก้รัฐธรรมนูญ ปัญหาเรื่องนิรโทษกรรม ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ทำให้การบริหารจัดการด้านการเมืองในประเทศไทยเริ่มแกว่งตัวมากกว่าช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ economic uncertainty แกว่งตัวมากขึ้น การแก้ไขปัญหาจึงยากลำบากมากยิ่งขึ้น เพราะการแก้ไขปัญหา economic uncertainty ซึ่งเป็นผลการลดทอน จากเตียลอยด์อีโคโนมี จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความเข้มแข็งทางการเมืองซึ่งจะนำไปสู่การบริหารจัดการด้านนโยบายที่มีความน่าเชื่อถือ
สิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องคำนึงถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่า การหาทางเร่งสารเนื้อแดงใหม่
แนวทางการตั้งรับจึงต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบันแล้ววางยุทธศาสตร์ชาติให้มีความยืดหยุ่นคล่องตัว มีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา แล้วใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น การรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ ประเทศไทยต้องวางตัวเองให้เป็นศูนย์กลาง 3 ด้าน คือ
1. ศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตร (Agriculture Supply Chain) วางตัวเองไม่ใช่แค่ประเทศผู้ผลิต แต่ต้องขยับไปเป็นผู้แปรรูปและส่งออกไปยังตลาดโลก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้การผลิตจากประเทศเพื่อนบ้านให้เกิดประโยชน์
2. ศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมตั้งแต่อุตสาหกรรมรถยนต์ จักรยานยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยเหนือกว่าประเทศในอาเซียนจึงสามารถพัฒนาต่อยอดด้วยนวัตกรรมที่ส่งไปขายในอาเซียนได้ เมื่อกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนพัฒนาก็จะต้องการสินค้ากลุ่มนี้มากขึ้น รวมถึงด้านเครื่องใช้ไฟฟ้า ตั้งแต่ตู้เย็น หม้อหุงข้าว และโทรทัศน์ เมื่อเพื่อนบ้านเติบโตทางเศรษฐกิจหมายถึงความต้องการการสินค้ากลุ่มนี้ก็เพิ่มขึ้นด้วย
และ 3. ศูนย์กลางด้านการบริการตั้งแต่ท่องเที่ยว โลจิสติกส์, บริการสุขภาพ, ธุรกิจกีฬา, การศึกษา และด้านค้าปลีกค้าส่ง เนื่องจากประเทศไทยถือได้ว่ามีความโดดเด่นด้านนี้อย่างสูง
ต่อไปทิศทางเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกจะอิงภาคการเงินมากขึ้น เราต้องใช้ความได้เปรียบของประเทศไทยที่มีศักยภาพสูงและความพร้อมสูงกว่าหลายประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) รองรับการไหลเวียนทางการเงินโลกที่เข้ามาลงทุน เพราะตรงนี้ถือเป็นจุดสำคัญที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ในอนาคตอันใกล้ เศรษฐกิจไทยก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้น
ที่มา.สยามธุรกิจ
//////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น