--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

โครงการจำนำข้าว v.s. โครงการประกันรายได้ นโยบายใดที่ชาวนาได้รับประโยชน์มากที่สุด !!?

โครงการรับจำนำข้าว โครงการประชานิยมสำหรับเกษตรกรที่หลายฝ่ายกำลังมองว่าเป็นปัญหา เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาได้มีการออกมาล่ารายชื่อจากกลุ่มนักวิชาการเพื่อยื่นต่อศาลให้ยุตินโยบายดังกล่าวโดยมองว่าเป็นโครงการที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลและเอื้อต่อการทุจริต

ภาพจากไทยรัฐ

นอกจากนี้ ประเด็นที่โหมกระแสเล่นกันอยู่ตามหน้าสื่อต่างๆ ก็มีอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย เช่น..
  • บทความเรื่อง ไทยเสียแชมป์ส่งออกจนได้ หรือ
  • ยืนยันว่าไทยเสียแชมป์โลก ส่งออกข้าว…ใครรับผิดชอบ?
  • จากบทสัมภาษณ์ของกรุงเทพธุรกิจ หอการค้าชี้ไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าว
  • หรือจากฝ่ายค้าน ปชป.ซัดรบ.ทำปท.เสียแชมป์ส่งออกข้าว
  • กระทั่งรัฐบาลต้องออกมาแก้ข่าว ปูให้ก.พาณิชย์แจงไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าว “บุญทรง” ลั่นไม่เกี่ยวรับจำนำ
SIU จึงอยากชวนผู้อ่านมาร่วมกันทบทวน ระหว่างการรับจำนำกับการประกันรายได้ แต่ละนโยบายที่ใช้มีข้อบกพร่องอย่างไรบ้าง

โครงการจำนำข้าว

ในโมเดลนี้รัฐจะทำตัวเป็นพ่อค้ารับซื้อข้าวจากชาวนาโดยการนำข้าวไปที่โรงสี ตามด้วยการตรวจวัดความชื้นโดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐประจำโรงสีคอยควบคุม จากนั้นจึงออกใบประทวนให้ชาวนาเพื่อรับเงินจาก ธกส และโรงสีจะสีข้าว นำไปเก็บเพื่อรอขาย

จากโมเดลนี้ชาวนาเลือกขายข้าวให้กับผู้ที่ให้ราคาดีกว่าแต่อีกด้านพ่อค้าก็จำเป็นต้องซื้อข้าวไปขายเช่นกันจึงต้องรับซื้อจากชาวนาในราคาที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวในตลาดปรับตัวขึ้นโดยที่รัฐไม่ต้องไปรับซื้อข้าวทั้งหมดจากตลาด
ภาพจากข่าวสด

ประเด็นเรื่่องการทุจริต

การทุจริตยังมีอยู่จริง จากการเอาข้าวไปผ่านโรงสีกลายเป็นช่องทางในการเอาข้าวเก่ามาสับเปลี่ยนกับข้าวใหม่ที่รับจำนำมาบ้าง หรือในเรื่องการลงทะเบียนพื้นที่เพาะปลูกเกินจริงของชาวนา โดยร่วมมือกับโรงสีเพื่อที่โรงสีจะนำข้าวจากที่อื่นมาสวมสิทธิ หรือชาวนาถูกโกงโดยโรงสีจากการวัดความชื้นทำให้ได้ราคาจำนำที่ถูกลงในบางรายโรงสีไม่จ่ายใบประทวนให้เกษตรกรแต่จ่ายเงินสดด้วยราคาที่น้อยกว่ารัฐ นอกจากนั้นโรงสีก็จะได้รับผลประโยชน์จากการสีข้าวให้รัฐบาล และจากค่าเช่าสถานที่เก็บข้าว
หากมองในเชิงการเมือง การจำนำข้าวคือนโยบายหลักที่ทำให้พรรคเพื่อไทยได้ชัยชนะจากฐานเสียงของเกษตรกร ดังนั้นการทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้จึงเป็นการรักษาฐานเสียงของพรรค อีกทั้งประโยชน์ที่น่าจะเอื้อต่อการหล่อเลี้ยงผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เช่น กลุ่มนายทุนโรงสี ที่น่าจะเป็นทั้งฐานเสียงและหัวคะแนนให้กับพรรคในการเลือกตั้ง จะใช่หรือไม่คงต้องตามดูกันต่อไป

เรื่องการบิดเบือกลไกตลาดน่าจะเป็นประเด็นรองที่ควรจะนึกถึงกัน แต่ควรจะห่วงเกษตรกรก่อน ตราบใดที่อุตสาหกรรมข้าวไทยยังอ่อนแอ ควรต้องปกป้องชาวนาก่อนกลไกตลาด ??

จำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องยึดติดกลไกตลาดขณะที่เรายังไม่พร้อมจะแข่งขัน เราจะเห็นว่าในหลายๆ ประเทศ เช่นอเมริกาที่มักอ้างเรื่องการค้าเสรี หลายครั้งๆ ก็ยังต้องออกมาปกป้องสินค้าของตนเองเพื่อให้ผู้ผลิตในประเทศสามารถอยู่ได้
 
ภาพจากไทยรัฐ

ประเด็นเรื่องงบประมาณ

โครงการนี้ใช้งบประมาณมากขึ้น แต่เป็นงบหมุนเวียน (ย้ำ งบหมุนเวียน) ไม่ใช่งบเสียเปล่าเพราะจะต้องมีเงินคืนกลับมาจากการขายข้าวโดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ได้อธิบายไว้ในบทความเรื่อง โครงการรับจำนำข้าวใครได้ประโยชน์? ว่าในทางปฏิบัติ รัฐบาลไม่ต้องรับจำนำข้าวหมดทั้งประเทศ
เพราะเมื่อข้าวตกอยู่ในมือของรัฐบาลมากขึ้น ตลาดเอกชนก็จะมีข้าวน้อยลง ทำให้ราคาตลาดเอกชนสูงขึ้นไปเอง ชาวนาทั่วไปก็จะขายข้าวในตลาดเอกชนได้ราคาสูงตามไปด้วยโดยไม่ต้องเข้าโครงการจำนำ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เม็ดเงินตกไปที่ชาวนาเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น

ผลทางจิตวิทยาที่ตามาคือ พ่อค้าข้าวในประเทศจะเป็นผู้ซื้อข้าวจากชาวนาในราคาที่ใกล้เคียงกับรัฐบาลเพราะถ้าราคาต่างกันมากชาวนาก็จะขายข้าวให้กับรัฐบาลแทน โดยปัจจุบันยอดจำนำข้าวสิ้นเดือนกันยายน 2555 มีข้าวเข้ามาจำนำในโครงการที่ 14.39 ล้านตัน ( ร้อยละ 57.56) จากข้าวทั้งหมด 25 ล้านตัน เท่ากับว่าข้าวอีก 42 % อยู่ที่พ่อค้าข้าวและข้าวที่พ่อค้าซื้อจากชาวนาซึ่งก็คงจะไม่รับซื้อในราคาที่ต่างจากรัฐบาลมากนัก

ด้าน นายบุญไทย แก้วขันตี รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง ไทยโพสต์ ว่าโครงการจำนำทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากกว่าโครงการประกันราคาถึง 6.8 หมื่นล้านบาท โดยเปรียบเทียบจากราคาอ้างอิงช่วงประกันราคาข้าวที่กำหนดไว้ 8,000 บาท/ตัน

เรื่องงบประมาณนั้นเราคงต้องรอดูว่ารัฐบาลขายข้าวได้เงินกลับมาเท่าไหร่ หักลบกันแล้วการรับจำนำจะใช้เงินมากกว่าหรือน้อยกว่าการประกันรายได้หรือไม่

นโยบายจำนำข้าวกับการเสียแชมป์ของไทย?

อวสานแชมป์ ภาพจากกรุงเทพธุรกิจ
หลายท่านอาจภูมิใจกับตำแหน่งนี้มากเพราะคิดว่าการส่งออกข้าวได้มากชาวนาก็จะได้เงินมากขึ้น แต่จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าการส่งออกอันดับ 1 ของโลกนั้นได้มาซึ่งการกดราคาข้าวจากพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกันรายได้ช่วยส่งเสริมให้พ่อค้าคนกลางกดราคาข้าวให้ถูกลง
ถามว่า ชาวนาจะภูมิใจกับตำแหน่งดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน? หากตนเองขายข้าวได้ในราคาที่ถูกเพื่อจะไปแข่งขันกันด้านราคาให้ประเทศไทยได้แชมป์ส่งออกข้าว

ในสถานการณ์ปัจจุบันราคารับจำนำข้าวของไทยแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน หากราคาข้าวในตลาดโลกไม่ขยับไทยอาจจะต้องเสียตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ ในขณะที่ชาวนาจะได้เงินมากขึ้นเพราะราคารับจำนำข้าวที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะต้องโยนคำถามกลับไปที่ชาวนาในฐานะผู้ปลูกข้าวว่าการรักษาแชมป์ส่งออกข้าวกับการขายข้าวได้ราคาดีขึ้นอะไรคือสิ่งที่เขาต้องการ??

โครงการประกันรายได้



โครงการประกันรายได้เกษตรกร มาจากฐานคิดเรื่องหลักประกันความเสี่ยงเนื่องจากความผันผวนของราคาหรือกรณีเกิดการเสียหายของพืชผลการเกษตรจากภัยพิบัติต่างๆซึ่งจะเป็นหลักประกันว่าเกษตรกรจะได้เงินชดเชยกลับไปบ้าง โดยรัฐไม่ต้องไปเป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ในตลาด

เพราะรัฐจะชดเชยส่วนต่างของราคาสินค้าให้เกษตรกร เช่น รัฐประกันราคาข้าวไว้ที่ตันละ 10,000 บาท แต่เกษตรกรขายข้าวได้ 5,000 บาท รัฐก็จะชดเชยให้อีก 5,000 บาท ซึ่งเราเข้าใจกันแบบบนั้น แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ในเรื่องการชดเชย รัฐจะมีลิมิตในการชดเชยซึ่งรัฐจะทำการคำนวนคร่าวๆไว้แล้วว่าพื้นที่ปลูกข้าว 1ไร่ จะได้ข้าวกี่ตัน และรัฐจะชดเชยตามที่คำนวนให้ สมมติ 1 ไร่/1 ตัน ซึ่งรัฐจะทราบจำนวนไร่ของชาวนาจากการรลงทะเบียนของชาวนา

ประเด็นการทุจริต

การทุจริตจะอยู่ที่ขั้นตอนลงทะเบียนพื้นที่เพาะปลูกหากชาวนาลงทะเบียนเกินพื้นที่จริงจะทำให้รัฐต้องจ่ายเงินส่วนต่างเกินความเป็นจริง บางรายลงทะเบียนทำนาแต่ไม่ได้ทำจริงก็มีเพราะที่ดินบางส่วนไม่สามารถทำนาได้เนื่องจากระบบชลประทานไม่ทั่วถึง ทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินประกันให้ผู้ลงทะเบียนที่ไม่ได้ทำนา

เช่น คนมีที่นา 10 ไร่ ทำได้จริงแค่ 3 ไร่ เพราะอีก 7 ไร่ไม่สามารถทำนาได้อยู่แล้วแต่ก็จะได้เงินชดเชยจากการประกันรายได้อีก 7 ไร่ที่ไม่ได้ทำอีกด้วยเพราะการประกันราคาไม่ได้ดูว่าชาวนาทำนาจริงหรือไม่ ดูแค่จำนวนที่นาที่ลงทะเบียนและประเมินว่านา 1ไร่จะได้ผลผลิตเท่าไหร่ และรัฐจะจ่ายส่วนต่างหากชาวนาขายข้าวไม่ถึงราคาประกัน


ทุจริตประกันรายได้ ภาพจากผู้จัดการ

นอกจากนั้นยังเอื้อให้เจ้าของที่นาปล่อยที่ให้คนอื่นเช่าทำนา อาจเป็นการเปิดช่องให้มีการโกงคนที่ทำนาอีก เพราะเมื่อเจ้าของนาไปลงทะเบียนประกันรายได้ แต่ตอนทำนาไม่ได้ทำเอง แต่ให้เกษตรกรรายอื่นไปเช่าทำต่อ เมื่อถึงเวลาจ่ายเงินประกันรายได้รัฐบาลไม่ได้จ่ายให้คนที่เช่านา แต่รัฐต้องจ่ายให้กับผู้ลงทะเบียนก็คือเจ้าของที่นา เงินจึงไม่ตกไปที่เกษตรกรตัวจริง

ซ้ำร้ายไปกว่านั้นการประกันรายได้ที่เราคิดว่าชาวนาจะได้ส่วนต่างจากราคาประกัน เช่นประกันไว้ 10,000 บาท ขายได้ 5,000 บาท รัฐจะชดเชยให้ 5,000 บาท แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะรัฐบาลไม่รู้ว่าชาวนาขายข้าวได้เท่าไหร่ เพราะราคาข้าวนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพข้าว รัฐบาลจึงได้กำหนด “ราคาอ้างอิง” เพื่อใช้แทนราคาขายจริง แต่ราคาอ้างอิงของทางการกลับสูงกว่าราคาขายจริง
เช่น ประกันราคาไว้ที่ตันละ 10,000 บาท ชาวนาขายได้จริงตันละ 5,000 บาท ก็ควรจะได้รับชดเชยตันละ 5,000 บาท แต่ราคาอ้างอิงทางการอยู่ที่ 8,000 บาท ผลก็คือ ชาวนาได้รับชดเชยจริงแค่ตันละ 2,000 บาท รวมเป็นราคาที่ชาวนาได้รับจริง คือ เงินจากการขายข้าวให้พ่อค้า 5,000 บาท + เงินชดเชยจากรัฐ 2,000 บาท เท่ากับได้ ตันละ 7,000 บาท ไม่ใช่ตันละ 10,000 บาทตามที่รัฐบาลประกันไว้

อีกทั้งยังทำลายความจูงใจในการผลิตข้าวต่อไร่ของชาวนาเพราะเมื่อรัฐชดเชยรัฐจะชดเชยเป็นจำนวนไร่ สมมติรัฐให้ 1ไร่/1ตัน ชาวนามีนา10ไร่ รัฐจะชดเชย 10ตัน แต่หากชาวนาปลูกข้าวขายได้รวมกัน 11ตัน แล้วอีก 1ตัน ที่เกินมาชาวนาก็ไม่ได้รับการชดเชยอยู่ดี

ซึ่งก็ไปทำลายแรงจูงใจที่จะให้ชาวนาปลูกข้าวต่อไร่ให้ได้ผลผลิตสูง และไปเพิ่มความต้องการในการสะสมที่นาของแหล่งทุนหรือเพิ่มแรงจูงใจในการทุจริตแจ้งจำนวนที่นาปลูกข้าวเกินจริงเพื่อจะรับเงินประกันตามพื้นที่

ประเด็นเรื่องงบประมาณ

ถือเป็นข้อดีของการประกันรายได้คือเป็นโครงการที่รัฐไม่เหนื่อยมากเท่าการรับจำนำ ไม่ต้องใช้เงินหมุนเวียนสูงอย่างโครงการรับจำนำ โดยงบประมาณปีที่แล้วรัฐต้องให้เงินชดเชยไปร่วม 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็เยอะแต่ยังน้อยกว่าโครงการรับจำนำหลายเท่าตัว (หากเทียบกับงบหมุนเวียน) และเกษตรกรยังได้รับเงินจากรัฐทั่วถึงจากโครงการนี้แม้เฉลี่ยแล้วต่อผลผลิตต่อตันรัฐจะชดเชยให้น้อยกว่าก็ตาม
คลิกเพื่อขยายภาพทำความเข้าใจโครงการประกันรายได้ผ่านผังภาพ

โครงการประกันรายได้กับการเสียแชมป์การส่งออกของไทย?

หากใช้นโยบายประกันรายได้จะมีโอกาสน้อยมากที่ไทยจะเสียแชมป์ในการส่งออก เพราะกลไกของการได้มาซึ่งแชมป์การส่งออกนั้น ชาวนาจะขายข้าวให้พ่อค้าคนกลาง โดยพ่อค้าก็อาจจะกดราคาข้าวให้ต่ำที่สุดเพื่อให้พ่อค้าได้ ต้นทุนต่ำที่สุด เพื่อให้พร้อมกับการแข่งขันกับส่งออกกับประเทศต่างๆ
เพราะพ่อค้าทราบดีว่าถึงยังไงแล้วรัฐก็ต้องจ่ายส่วนต่างให้ชาวนา และเมื่อส่งออกข้าวไปแข่งขันกับข้าวที่มาจากเวียดนามที่คุณภาพข้าวต่ำกว่า แต่พ่อค้าไทยขายในราคาไล่เลี่ยกัน เพราะซื้อมาในราคาแสนถูก คงไม่แปลกอะไรที่คนจะเลือกซื้อข้าวไทย ด้วยเหตุนี้ไทยจะยังคงรักษาแชมป์ส่งออกข้าวต่อไป
สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ทาง Voice TV ของนายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ที่กล่าวว่า ปัญหาหรือกระแสข่าวเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวในช่วงที่ผ่านมา เป็นเพียงความต้องการของกลุ่มคนบางกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ ซึ่งไม่สามารถที่จะกดราคาซื้อข้าวให้ต่ำตามที่ต้องการได้

บทสรุป จำนำข้าว V.S. ประกันรายได้ เลือกอะไรดี?

การประกันรายได้นั้น กำไรจากการขายข้าวจะตกไปอยู่ที่ พ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะกดราคารับซื้อข้าวจากชาวนาเพื่อไปขายในราคาตลาดโลกที่แพงกว่ามาก

การที่นักวิชาการบางกลุ่มออกมาท้วงติงว่ารัฐไปแทรกแซงเอกชน (พ่อค้าข้าว) ไปจนถึงการเสียแชมป์ส่งออกข้าวนั้น เท่ากับว่านักวิชาการกลุ่มนี้ออกมาเรียกร้องเพื่อพ่อพ่อค้าใช่หรือไม่? อันที่จริงก็มีอีกหลายนโนยบายประชานิยมที่สุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกับที่นักวิชาการควรจะออกมาปกป้องท้วงติง หากมองผ่านกรอบความคิดที่ว่านโยบายดังกล่าวสนับสนุนหรือให้ประโยชน์แก่คนชั้นกลางเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นกลุ่มคนที่แสดงสิทธิแสดงเสียงแล้วสังคมได้ยินมากกว่า ก็อาจเป็นสาเหตุที่ไม่จำเป็นต้องออกมาเรียกร้องต่อต้าน (ดูเพิ่มเติม: นโยบายรถคันแรกอาจกลายเป็นวิกฤตซับไพรม์ไทยในอนาคต)


คลิกเพื่อขยายภาพทำความเข้าใจ โครงการรับจำนำข้าว ผ่านผังภาพ

การรับจำนำข้าว แม้ชาวนาจะได้เงินมากขึ้น เพราะการเข้ามาแทรกแซงด้วยการรับซื้อข้าวในราคาสูงของรัฐบาล อีกด้านก็ทำให้พ่อค้าต้องซื้อข้าวจากชาวนาในราคาใกล้เคียงกัน หรือไม่พ่อค้าก็ต้องมาซื้อตอนรัฐบาลเปิดประมูล แต่ในระบบนี้ โรงสีจะได้ผลประโยชน์จาก ค่าจ้างจากการสีข้าวให้รัฐ เอื้อให้โรงสีโกงได้อีก ทั้งยังใช้งบหมุนเวียนสูง ซึ่งควรจะจำกัดการจำข้าวปีละ 2 ครั้ง

ดังนั้นการรับจำนำข้าวนั้นก็คงไม่ใช่นโยบายที่ดีที่สุด จากข่าวไม่กี่วันที่มีน้ำท่วมในหลายพื้นที่และอีกหลายพื้นที่เสี่ยงต่ออุทุกภัย เช่นภาคเหนือตอนล่างที่หน้าน้ำหมุนเวียนมากี่คราก็จะได้รับผลกระทบ ทั้งยังต้องแบกรับภาระในการเป็นพื้นที่ทางผ่านของน้ำเป็นที่รับน้ำให้คนกรุงเทพ ซึ่งพอน้ำมา ผลผลิตก็เสียหายและเกษตรกรคงไม่มีพืชผลมาจำนำกับรัฐบาลแน่นอนแม้ว่าจะได้ราคาดีแค่ไหน

อีกด้านคงต้องยอมรับว่าทั้ง 2 โครงการไม่ได้ต่างกันคือสามารถเกิดการทุจริตขึ้นได้ง่าย เราคงจะต้องแยกเรื่องระหว่างการทุจริตกับโครงการรับจำนำอย่าพึ่งไปเหมารวมว่าทั้งโครงการไม่ดีเพราะมีชาวนาได้ประโยชน์จากโครงการนี้อีกมาก ทั้งยังเป็นนโยบายที่ทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งเข้ามาก็ควรจะต้องยอมรับมติมหาชน? ส่วนการทุตริตที่มีอยู่ก็ควรบริหารจัดการให้โปร่งใส ชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่
ทั้ง 2 โครงการนั้นใช้เงินจากภาครัฐ ไม่ว่าจะใช้มากหรือน้อยเพียงใด สุดท้ายรัฐยังต้องจ่ายเงินขั้นต่ำอยู่ที่หลัก 10,000 ล้านบาท ฉะนั้นสิ่งที่ต้องคิดต่อมาคือ ถ้ารัฐจ่ายเงินไปแล้วในทั้งสองโครงการ ผลที่จะได้กลับมาคืออะไร ??

ทั้ง 2 โครงการเป็นมาตรการที่ทุกรัฐบาลนิยมใช้เพราะเห็นผลเร็วที่ยังมีข้อบกพร่องอยู่เยอะและไม่ยั่งยืน โจทย์เหล่านี้ต่างหากที่น่าจะนำไปขบคิดต่อสำหรับทุกรัฐบาล คือระหว่างทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงแบบที่รัฐบาลเพื่อไทยกำลังจะทำอยู่ ด้วยการพยามเจราจาตั้งกลุ่มประเทศผู้ขายข้าว “สหพันธ์ผู้ค้าข้าว” เพื่อยกระดับราคาข้าว ซึ่งหากทำได้ก็น่าจะส่งผลดีในการทำให้ต้นทุนเกษตรกรต่ำ อันไหนทำได้ง่ายกว่าและยั่งยืนกว่ากัน

กล่าวโดยสรุปก็คือ เราคงต้องยอมรับกันว่าโครงการประชานิยมนั้นมีทั้งข้อดีข้อเสีย มีหลายๆ กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากประชาชานิยมในโครงการต่างๆ เช่น ชนชั้นกลางกับโครงการรถคันแรก เงินเดือนข้าราชการ 15,000 บาท ตลอดจนการลดภาษีนิติบุคลให้กับกลุ่มบริษัทซึ่งผู้ได้ประโยชน์ก็คงหนีไม่พ้นบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งก็ล้วนเป็นชนชั้นนำของประเทศ

กระทั่งการทุ่มงบไปกับการดูแลชีวิตคนกรุงเทพฯ อย่างมหาศาล การนำทรัพยากรมากระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งหากมองจากมุมนี้ทุกคนก็ล้วนได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยม ซึ่งนโยบายใดๆ ก็ตามก็ย่อมส่งผลกระทบต่อรายรับรายจ่ายของรัฐเช่นกัน

กรวิจัยข้าว ภาพจาก cp e-news

ข้อเสนอแนะ

รัฐควรจะหาวิธีการที่ทำให้ต้นทุนในการทำเกษตรกรรมลดลง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการโครงสร้างระบบชลประทานที่ดีเพื่อป้องกันน้ำท่วมและภัยแล้ง และการส่งเสริมการวิจัยข้าว เช่น ทำอย่างไรให้ข้าวไทย คุณภาพดี เก็บได้นาน เพื่อยกระดับคุณภาพข้าวไทยโดยไม่ต้องไปแข่งขันเรื่องราคากับประเทศอื่นๆ
หรือการคิดค้นสายพันธุ์ข้าวที่ทนต่อสภาวะต่างๆ เช่น น้ำท่วม หรือฝนแล้งร่วมเดือน พันธุ์ข้าวนั้นๆ ก็ยังทนอยู่ได้ ขณะนี้เริ่มมีพันธุ์ข้าวดังกล่าวบ้างแล้ว เป็นการคิดค้นเพื่อลดความเสียหายจากสภาพอากาศ ลดการขาดทุนให้ชาวนา

หากพูดกันตามจริง งบประมาณด้านการวิจัยของไทยยังน้อย หากเทียบกับประเทศในอาเซียน อย่างเวียดนามในปี 2010 เวียดนามใช้งบ 3,000 ล้านบาทขณะที่ไทยใช้งบประมาณร่วม 200 ล้านบาท
หากเปรียบเทียบกับงบการวิจัยในประเทศโซนเอเซียด้วยกันในปี 2011 หากคิดเป็น GDP ไทยอยู่ที่ 0.25% ญี่ปุ่นอยู่ที่ 3.3% เกาหลีใต้อยู่ที่ 3.0% สิงคโปร์อยู่ที่ 2.2% จีนอยู่ที่ 1.4% อินเดียอยู่ที่ 0.9% และ มาเลเซีย อยู่ที่ 0.69% (ดูข้อมูลเพิ่มเติม AEC: จากความถดถอยของข้าวไทย สู่อนาคตที่สดใสของข้าวเวียดนาม)

ส่วนมาตรการด้านราคาทั้งจำนำและรับประกันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้นไม่ยั่งยืน เราทราบกันดีว่าปี 2015 ไทยจะข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้น การเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของสินค้าจะทำได้ง่ายมากขึ้น ฉะนั้นมาตรการในการตรวจสอบสินค้าตามแนวชายแดนก็ต้องรัดกุมมากขึ้นอีกเพื่อป้องกันการทุจริต รัฐบาลจะรับภาระหนักมากขึ้นหากยังดำเนินนโยบายการจำนำข้าวต่อไป
ทางเลือกที่เห็นผลลบน้อยสุด คือการหาวิธีการลดต้นทุนการผลิตให้ได้ เมื่อสินค้ามีต้นทุนต่ำจะมีศักยภาพในการขายแข่งกับใครก็ได้ ยิ่งสินค้ามีคุณภาพดีมากเท่าไหร่ยิ่งเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เรามีความจำเป็นน้อยมากที่ต้องไปฟาดฟันขันแข่งราคากับใคร

ในเรื่องการการกำหนดมาตรการด้านราคาสามารถทำได้เป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่เรื่องของปัจจัยพื้นฐานเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง

ถึงเวลาหรือยังที่รัฐควรจะคิดนโยบายใหม่เพื่อรับมือการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีในปี 2015 โดยเฉพาะ “ข้าวไทย”

ที่มา.Siam Intelligence Unit
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น