--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2555

หินลองทอง สรยุทธ สุทัศนะจินดา จุดหัก สังคม !!?



เป็นอันโค่น สรยุทธ สุทัศนะจินดา ไม่ลง

ไม่ว่าจะเป็น ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น อันมี นายประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นหัวเรือใหญ่

ไม่ว่าจะเป็นสมาคมว่าด้วยนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ และสื่อทางวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ ซึ่งรวมศูนย์ภายใต้ร่มธง

สภาการหนังสือพิมพ์

ลำพัง สรยุทธ สุทัศนะจินดา ยังคงดำเนินรายการเรื่องเล่าเช้านี้ทางช่อง 3 อยู่เป็นปกติ ก็ท้าทายต่อมติขององค์กรสื่อ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างยิ่งแล้ว

ที่สำคัญ มีการยืนยันจากช่อง 3 อย่างหนักแน่นและจริงจังว่า

โฆษณาไม่เพียงแต่จะไม่มีการถอน ไม่มีการลด หากแนวโน้มอันเด่นชัดอย่างยิ่งก็คือ มีการไหลเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20

เป็นไปได้ยังไง

แท้จริงแล้ว ปัจจัยโฆษณาที่ไหลเข้าไปยังช่อง 3 นี้เอง คือปัจจัยชี้ขาด เป็นปรอทสำแดงอุณหภูมิทางสังคมอย่างเด่นชัด 1 เด่นชัดถึงสถานะอันมั่นคงของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ว่าวางรากฐานอยู่กับปัจจัยใดในทางสังคม

1 สังคมทุนนิยม

ต้องยอมรับว่า การปรากฏขึ้นของ ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องดีของคนดี การประกาศให้ความร่วมมือจากสมาชิกในภาคีจำนวนมากมาย

ก็เป็นเรื่องดี คนดี

ขณะเดียวกัน การออกโรงของสภาการหนังสือพิมพ์โดยประสานเข้ากับภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น

ก็เป็นจังหวะก้าวที่ดี

เพียงแต่กรณีของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่ปรากฏให้เห็นดำเนินไปอย่างเลือกปฏิบัติสะท้อนความไม่มีมาตรฐาน

และแฝงด้วยเงาสะท้อนแห่งสิ่งที่เรียกว่า-ริษยาของชนชั้นกลาง

ก็อย่างที่มีหลายคนได้ตั้งข้อสังเกตไว้แล้วว่า การกล่าวหา "สีเทา" อย่างนี้มิได้มีแต่กับ สรยุทธ สุทัศนะจินดา รายเดียว ยังมีอีกหลายราย บางรายศาลได้มีคำพิพากษาอย่างเด่นชัดและเจ้าตัวเองก็ยอมรับผิดด้วยซ้ำไป

เป็นเงินมากกว่า สรยุทธ สุทัศนะจินดา หลายร้อยเท่า สร้างความเสียหายให้กับธุรกิจและสังคมอื่นอย่างมหาศาล

แต่ไม่มีการแตะ

ไม่มีการกดดัน ไม่มีการเรียกร้อง ไม่มีการยื่นคำขาด

ยิ่งกว่านั้น ไม่ว่าการแสดงออกของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ไม่ว่าการแสดงออกของสภาการหนังสือพิมพ์ ยังยืนยันถึงการไม่เข้าใจต่อลักษณะที่แปรเปลี่ยนไปแล้วของสื่อ

ไม่ว่าสื่อหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าสื่อโทรทัศน์

สื่อในกาลอดีต ยุคของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ยุคของ อิศรา อมันตกุล ดำรงอยู่ภายใต้ร่มเงาอันมืดครึ้มแห่งระบอบเผด็จ การ

สังคมก็อยู่ในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่าน

ด้านครอบงำของสื่อยังดำเนินไปในลักษณะทางความคิด ทางการเมือง เป้าหมายของสื่อเป็นเป้าหมายของความคิดของการเมืองโดยมีธุรกิจเสมอเป็นเพียงองค์ประกอบ

องค์กรสื่อสามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนนำการต่อสู้โดยเน้นการเมืองเป็นเป้าหมายหลัก

แต่นับจากเกิดการแปรเปลี่ยนในทางเทคโนโลยี ธุรกิจสื่อเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ปัจจัยด้านทุนเข้ามาครอบงำ สื่ออาจมีหัวใจอยู่ที่การผลิตทางปัญญา ทางความคิดดำรงอยู่แต่เป้าหมายก็เพื่อผลกำไร

ยิ่งสื่อออนไลน์ปรากฏขึ้น สื่อใหม่ได้รุกคืบเข้ามาองค์ประกอบของสื่อยิ่งแตกกระจาย

ปัจจัยของจรรยาบรรณจากยุค กุหลาบ สายประดิษฐ์ ยุค อิศรา อมันตกุล อาจ ฟังดูดี แต่ปัจจัยที่สำคัญมากกว่าคือการ ขาย ไม่ว่าขายตัวสื่อเอง ไม่ว่าขายเนื้อที่ โฆษณา

โดยมีคุณภาพทางปัญญาเป็นตัวชี้ขาด

เช่นนี้เองที่พาดหัวหน้าปกมติชนสุดสัปดาห์ระบุ "คนยังคงยืนเด่นโดยท้า ทาย" จึงแหลมคมอย่างยิ่ง

แหลมคมในฐานะเป็นหินลองทองต่อ สรยุทธ สุทัศนะจินดา แหลมคมในฐานะเป็นหินลองทองต่อองค์กรสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาการหนังสือพิมพ์

"ประชาชน" ต่างหากที่เป็นคำตอบสุดท้าย
(หน้า 3 มติชนรายวัน 20 ตุลาคม 2555)
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น