โดย พิชัย พืชมงคล (http://dlo.co.th/attorneys/phichai-phuechmongkol)
สำนักกฎหมายธรรมนิติ (http://dlo.co.th/)
สำนักกฎหมายธรรมนิติ (http://dlo.co.th/)
เนื่องจากดารา-นักแสดงเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้สูง จึงทำให้คนในสังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์การหลบหนีภาษีดังกล่าวกันอย่างกว้างขวาง ทั้งดารา-นักแสดง ยังเป็นกลุ่มคนซึ่งมหาชนชื่นชอบ เป็นพระเอกนางเอกที่มีอิทธิพลต่อจิตใจ เป็นตัวอย่างในการใช้ชีวิตของแฟนคลับจำนวนมาก เห็นได้จากกรณีที่มีคนเอาอย่างตัวละครไปใช้ในชีวิตจริง
การเสียภาษีที่ไม่ถูกต้องของเหล่าดารานักแสดง อาจเกิดจากความไม่รู้ หรือรู้แล้ว แต่พยายามหลบหนีภาษี แต่หลบได้ไม่ดี ดังนั้น เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่เหล่าดารานักแสดง เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2555 กรมสรรพากรจึงได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “การเสียภาษีอากรของดารานักแสดงสาธารณะ”
โดย ดร.สาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดการสัมมนา และ นายสมพงษ์ ตัณฑพาทย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นผู้บรรยายให้ความรู้การเสียภาษี โดยมีดารานักแสดง ผู้จัดการและสำนักงานบัญชีที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการสัมมนากว่า 300 คน
เมื่อการเสียภาษีของดารานักแสดงเป็นที่สนใจของผู้คนในสังคม ผู้เขียนจึงขอนำเสนอภาระภาษีอากรของดารานักแสดงสาธารณะและผู้จ่ายเงินแก่ดารานักแสดงโดยสังเขป เฉพาะประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ภาระภาษีของเงินได้จากการแสดงสาธารณะ
[มาตรา 8 (43) ของพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502] หมายถึง “เงินได้จากการแสดงของนักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ” ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภท เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) ตาม มาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากรเงินได้ ((มาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร “เงินได้พึงประเมิน” หมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ตามมาตรา 40 และเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ ด้วย))
จากการแสดงสาธารณะนี้ รวมถึงค่าตอบแทน เงินรางวัลและประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการแสดงหรือการแข่งขันเพื่อแสดงต่อสาธารณะ เช่น ค่าพาหนะในการเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไม่ว่าจะจ่ายตามจำนวนคราวที่แสดงหรือแข่งขัน จ่ายเป็นการเหมา หรือจ่ายในลักษณะอื่นทำนองเดียวกัน
แต่ทั้งนี้ นักแสดงสาธารณะอาจจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ ถ้าเงินที่ได้รับนั้นเป็นเงินได้ที่ยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร เช่น นักแสดงเป็นพรีเซ็นเตอร์รถยนต์ เมื่อนักแสดงแต่งงาน บริษัทผู้ผลิตให้รถยนต์เป็นของขวัญในงานแต่งงาน ดังนี้ ถือว่า มูลค่ารถยนต์เป็นเงินได้จากการให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นต้น แต่บริษัทผู้ให้รถยนต์โดยเสน่หา ก็ไม่อาจนำมูลค่ารถยนต์นั้นไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะเป็นการให้โดยเสน่หาจึงไม่ใช่รายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการ [มาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร]
เงินได้จากการแสดงสาธารณะนี้ สามารถหักรายจ่ายได้สูงกว่าเงินได้ประเภทอื่นๆ เพราะรัฐเห็นว่า เงินได้ประเภทนี้ มักมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าเงินได้จากค่าจ้างแรงงานหรือเงินได้อีกหลายประเภท จึงยอมให้ผู้มีเงินได้สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ วิธีใดวิธีหนึ่ง จาก 2 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1. หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา หมายถึง การใช้สิทธิหักค่าใช้จ่าย โดยไม่ต้องแสดงหลักฐานการใช้จ่าย เพื่อพิสูจน์การใช้จ่ายใด ๆ โดยหักเป็นรายจ่ายได้ดังนี้
- (ก) เงินได้ส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท หักได้ร้อยละ 60
- (ข) เงินได้ส่วนที่เกิน 300,000 บาท หักได้ร้อยละ 40 แต่การหักค่าใช้จ่ายตาม (ก) และ (ข) รวมกันต้องไม่เกิน 600,000 บาท
แต่หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 17/2555 ว่า มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ ที่ให้ถือเอาเงินได้ของภริยาเป็นเงินได้ของสามีนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 คู่สมรสของดารา รวมถึงคู่สมรสอื่น ก็ไม่ต้องแบกรับภาระภาษีมากกว่าคนโสดอีกต่อไป
วิธีที่ 2. หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร โดยผู้มีเงินได้ต้องแสดงหลักฐานการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับรายได้จากการแสดงสาธารณะนั้น เพื่อพิสูจน์ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ต่อเจ้าพนักงานสรรพากร ตามหลักที่ว่า “พิสูจน์ได้เท่าใด ก็หักค่าใช้จ่ายได้เท่านั้น” ถ้าตามหลักฐานที่นำมาพิสจน์ ปรากฏว่า มีรายจ่ายน้อยกว่าอัตราเหมา (ตามวิธีที่ 1) ก็ให้ถือว่า ดารา-นักแสดงมีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ (มาตรา 8 วรรคท้าย ของพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502)
เงินได้จากการแสดงสาธารณะและการหักค่าใช้จ่ายของบุคคลธรรมดานั้น ผู้มีเงินได้ต้องรวมเงินได้จากการแสดงสาธารณะที่ได้รับทุกครั้งในรอบปีปฏิทิน แล้วจึงเลือกว่า จะใช้สิทธิขอหักค่าใช้จ่ายเหมาหรือหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร อย่างใดอย่างหนึ่ง
ในกรณีผู้มีเงินได้จากการแสดงสาธารณะ มีเงินได้ประเภทอื่นด้วย เช่น เงินเดือน ค่ารับทำงานให้ ค่าลิขสิทธิ์ ค่าดอกเบี้ย เงินปันผล ฯลฯ ผู้มีเงินได้มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเหมาตามประประเภทเงินได้นั้น หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริง ถ้าประมวลรัษฎากรยอมให้หักค่าใช้จ่ายด้วยวิธีนี้ได้
จากนั้น จึงเอาเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายทุกประเภทที่ได้รับในรอบปีปฏิทินมารวมกัน แล้วจึงหักค่าลดหย่อน ตามมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากรต่อไป เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ภริยา บุตร ค่าเบี้ยประกันชีวิต ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อบ้าน เป็นต้น
เงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนประเภทต่าง ๆ แล้วนี้ เรียกว่า เงินได้สุทธิ ซึ่งจะใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าภาษีที่ต้องเสียในแต่ละปี ตามอัตราก้าวหน้าตั้งแต่ ร้อยละ 10-37 ตามช่วงของเงินได้สุทธิ ตั้งแต่ 150,001- 4,000,000 บาทขึ้นไป ตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร
เมื่อคำนวณได้ค่าภาษีที่ต้องชำระแล้ว ผู้มีเงินได้ก็นำค่าภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้แล้ว มาหักออกก่อน ถ้าภาษีที่คำนวณไว้มากกว่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย ก็ต้องชำระค่าภาษีเพิ่ม แต่ถ้าภาษีที่คำนวณไว้น้อยกว่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย ผู้มีเงินได้ ก็มีสิทธิขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกินจากกรมสรรพากรได้
2. นักแสดงสาธารณะต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี ปีละ 2 ครั้ง
นักแสดงสาธารณะ หมายถึง นักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใด ๆ ไม่ว่าจะแสดงเดี่ยว เป็นหมู่หรือคณะ หรือแข่งขันเป็นทีม เช่น นักแสดงละครเวที นักแสดงภาพยนตร์ นักแสดงละครวิทยุ นักแสดงละครโทรทัศน์ ผู้ดำเนินรายการทางโทรทัศน์ นักแสดงตลก นายแบบ นางแบบ นักพูดรายการทอล์คโชว์ นักมวยอาชีพ นักฟุตบอลอาชีพ เป็นต้นนักแสดงสาธารณะดังกล่าว ไม่รวมถึง ผู้ประกาศข่าว โฆษก พิธีกร นักจัดรายการวิทยุ นักจัดรายการในสถานบันเทิงใด ๆ ผู้บรรยายหรือนักพากย์ ผู้จัดการส่วนตัวของนักแสดงสาธารณะ ผู้กำกับการแสดง ผู้จัดการทีมกีฬา ผู้ฝึกสอน นักกีฬาหรือบุคคลผู้กระทำการในลักษณะทำนองเดียวกัน [[ข้อ 1 วรรคสอง ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.102/2544 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มของนักแสดงสาธารณะ ผู้จัดให้มีการแสดงของนักแสดงสาธารณะ และคู่สัญญาที่จัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดง]]
ดังนั้น นักแสดงสาธารณะ จึงหมายถึง บุคคลที่มีอาชีพหรือมีเงินได้จากการแสดงประเภทต่าง ๆ ต่อสาธารณะ หรือผู้ที่ดำรงชีพจากค่าตอบแทนที่ได้รับจากการแสดงประเภทต่าง ๆ ต่อสาธารณะ
เงินได้ของนักแสดงสาธารณะ หมายถึง เงินได้พึงประเมิน หรือค่าตอบแทนจากการประกอบอาชีพนักแสดงสาธารณะตามวรรคหนึ่ง รวมถึง รางวัลและประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการแสดงหรือการแข่งขัน เช่น ค่าพาหนะในการเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไม่ว่าจะจ่ายตามจำนวนคราวที่แสดงหรือแข่งขัน จ่ายเป็นการเหมา หรือจ่ายในลักษณะอื่นทำนองเดียวกัน
นักแสดงสาธารณะ มีหน้าที่ยื่นรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละ 2 ครั้ง [[ข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.102/2544]] ดังนี้
ครั้งที่ 1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ให้นำเงินได้ของนักแสดงสาธารณะ ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ไปยื่นรายการและชำระภาษีภายในเดือนกันยายนของทุกปีภาษี โดยใช้แบบ ภ.ง.ด.94
ครั้งที่ 2 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ให้นำเงินได้ของนักแสดงสาธารณะ ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม ไปยื่นรายการและชำระภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยใช้แบบ ภ.ง.ด.90 ทั้งนี้ ให้นำภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีที่ชำระไว้ตามครั้งที่ 1 มาถือเป็นเครดิตภาษีในการคำนวณภาษี
สำหรับคนที่มีอาชีพอื่น แต่มีเงินได้จากการแสดงสาธารณะประเภทต่าง ๆ แบบสมัครเล่น เป็นครั้งคราว ไม่ถือว่าเป็นนักแสดงสาธารณะ แต่ยังคงมีหน้าที่ยื่นเสียภาษีตามประเภทเงินได้ ถ้าเป็นเงินได้ 40 (1) เงินเดือนอย่างเดียวก็ยื่นแบบเสียภาษีครั้งเดียว แต่ถ้ามีเงินได้อื่นตามมาตรา 40 (5) (6) (7) และ (8) ก็ต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละ 2 ครั้ง
3. การหักภาษี ณ ที่จ่ายของเงินได้จากการแสดงสาธารณะ
บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล บริษัทหรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้ค่าแสดงสาธารณะแก่นักแสดงสาธารณะ ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย [[ข้อ 9 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528]] ดังนี้- (ก) กรณีนักแสดงสาธารณะมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ให้คำนวณหักภาษีไว้ในอัตราร้อยละ 5.0
- (ข) กรณีนักแสดงสาธารณะมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ ให้คำนวณหักภาษีไว้ตามอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
โดยผู้จ่ายเงินได้ มีหน้าที่คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้
4. การหลีกเลี่ยงภาษีโดยการจัดให้ผู้อื่นรับเงินแทน
การหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราที่สูง มักใช้วิธีจัดให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับเงินแทน เรียกว่า วิธีการใช้ตัวแทนเชิด แตกหน่วยภาษีจากหน่วยเดียวเป็นหลาย ๆ หน่วย ทำให้แต่ละหน่วยภาษี สามารถหักค่าลดหย่อนได้มากขึ้นตามจำนวนหน่วยที่แตกออกไป เมื่อแตกหน่วยภาษีแล้ว แต่ละหน่วยภาษี ก็จะมีรายได้สุทธิน้อยลง เสียภาษีในอัตราที่ลดลง ทำให้ค่าภาษีโดยรวมลดลงเป็นจำนวนมากทั้งนี้ ผู้รับเงินแทนอาจเป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ บริษัทหรือนิติบุคคลอื่น หรืออาจใช้ผู้รับเงินหลายประเภทดังกล่าวข้างต้น ร่วมกันรับเงินแทน แต่หน่วยภาษีที่นิยมใช้กันมากคือ บุคคลธรรมดาและหรือคณะบุคคล ด้วยเหตุที่ทำง่าย มีค่าใช้จ่ายต่ำ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้บังคับให้บุคคลธรรมดาและคณะบุคคลต้องจัดทำบัญชีและมีการสอบบัญชี เช่นเดียวกับบริษัทหรือนิติบุคคลประเภทอื่น
การหลีกเลี่ยงภาษีด้วยวิธีนี้ เจ้าของเงินได้หรือตัวการ จะขอให้บริษัทหรือนิติบุคคลอื่น จ่ายเงินให้แก่ตัวแทน แล้วให้ตัวแทนนำเงินนั้นมามอบให้แก่ตัวการ ถ้าหากจำนวนเงินไม่มาก ก็ให้ตัวแทนลงชื่อรับเงินแทน โดยใช้บัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านเป็นเอกสารประกอบการรับเงิน หากจำนวนเงินมาก ก็อาจจัดให้ตัวแทนหนึ่งรายหรือหลายราย เข้าทำนิติกรรมหรือสัญญากับบริษัทหรือนิติบุคคลผู้จ่ายเงิน เพื่อรับเงินแทนตัวการ
ที่ผ่านมา กลุ่มคนที่มีรายได้สูง เช่น ดารา นักแสดง แพทย์ สถาปนิก วิศวกร ผู้บริหาร นักบัญชี รวมถึงนักวิชาชีพอื่นๆ บางส่วน ใช้ตัวแทนเชิดรับเงินแทน ทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้น้อยลง กรมสรรพากรได้รวบรวมข้อมูลพบว่า มีการจัดตั้งคณะบุคคลทั่วประเทศกว่า 10,000 คณะ
โดยผู้มีรายได้สูงไม่น้อย จัดตั้งและเข้าเป็นหุ้นส่วนในคณะบุคคลจำนวนมากตั้งแต่สิบถึงหลายสิบคณะ น่าเชื่อว่า เป็นการใช้คณะบุคคลเป็นตัวแทนเชิดรับเงินแทน กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่สรรพากรเน้นตรวจสอบรายจ่ายของบริษัทหรือนิติบุคคลที่จ่ายให้คณะบุคคลและบุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นตัวแทนเชิดรับเงินแทนเป็นพิเศษ
กรณีตามข่าวที่ว่าดารานักแสดงคนดังใช้บัตรประชาชนของพ่อคนขับรถมารับเงินค่าตัวแทน ก็เป็นตัวอย่างการหลีกเลี่ยงภาษีด้วยวิธีการใช้ตัวแทนเชิดรับเงินแทน ดังกล่าวข้างต้น ส่วนมากเมื่อตรวจสอบเส้นทางของเงิน ก็จะพบว่า ตัวแทนเชิดแทบจะไม่ได้เงินเลย และไม่มีเหตุผลว่า พ่อคนขับรถ จะมาช่วยหรือทำอะไร จนมีเงินได้จากการแสดงสาธารณะได้
การใช้ตัวแทนเชิด จึงเป็นนิติกรรมอำพรางชนิดหนึ่ง คือการทำสัญญาให้ตัวแทนเชิดรับเงิน อำพรางตัวการ ถ้าเจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจสอบ ก็จะพบได้ไม่ยาก เนื่องจากตัวแทนเชิด ไม่มีคุณสมบัติและไม่ใช่ผู้ให้บริการหรือผู้ทำงานที่แท้จริงให้แก่ผู้จ่ายเงิน แต่เป็นเพียงผู้รับเงินแทนอย่างเดียว จึงต้องถือว่า ตัวการเป็นผู้รับเงินได้ประเภทที่แท้จริงนั้น
นิติกรรมอำพราง (Concealed Act) หมายถึง นิติกรรมหนึ่งที่ทำขึ้นด้วยเจตนาลวง เพื่อปิดบังนิติกรรมอื่นที่ทำขึ้นด้วยเจตนาอันแท้จริง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 ท่านให้บังคับตามนิติกรรมที่ถูกอำพรางหรือตามนิติกรรมที่แท้จริง
การจ่ายเงินแก่ตัวแทนเชิด นอกจากต้องทำนิติกรรมหรือสัญญาอำพรางแล้ว ยังอาจเป็นการสร้างรายจ่ายเท็จ สร้างหลักฐานเท็จเพื่อลงบัญชี เป็นค่าใช้จ่ายประเภทต่าง ๆ เช่น ค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าจ้างทำของ ค่าพาหนะ และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด เป็นต้น ทำให้ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่รัฐจัดเก็บลดลงด้วย
อาจมีคำถามว่า ทำไมบริษัทหรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้แก่นักแสดงสาธารณะ จึงยอมให้ดารานักแสดงสาธารณะใช้ตัวแทนเชิดรับเงินแทน?
คำตอบคือ ดารานักแสดงที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากมหาชน จะมีอำนาจต่อรองสูงมาก ถ้าบริษัทผู้จ่ายไม่ยอม ดารานักแสดงก็จะอ้างว่า ถ้าต้องเสียภาษีสูงถึงร้อยละ 37 ก็จะไม่ไปแสดงให้ ทำให้ผู้ว่าจ้างที่แม้เป็นบริษัทใหญ่ระดับประเทศหรือระดับโลก ต้องยอมให้ความร่วมมือกับดารานักแสดง เพื่อให้กิจกรรมการตลาดและประชาสัมพันธ์ของบริษัทตนดำเนินการไปได้ตามแผน ตามคติที่ว่า “ให้งานเดินไปได้ก่อน ส่วนปัญหาค่อยหาทางแก้ภายหลัง”
ในกรณีตรวจสอบพบว่า บริษัทหรือนิติบุคคลใด จ่ายเงินแก่ตัวแทนเชิด ซึ่งไม่ใช่การจัดซื้อสินค้า หรือจัดจ้างหรือให้บริการอย่างแท้จริง หรือมีการใช้หลักฐานเท็จ รายจ่ายเท็จ เจ้าหน้าที่สรรพากรจะถือว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าว เป็นรายจ่ายต้องห้าม ตามประมวลรัษฎากร ม.65 ตรี บริษัทต้องนำรายจ่ายต้องห้ามดังกล่าว บวกกลับเป็นเงินได้ แล้วชำระค่าภาษีเพิ่มเติมให้ถูกต้อง รวมทั้งเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมายด้วย
ทั้งนี้ บริษัทอาจเสียสิทธิในการนำบรรดาภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งบริษัทได้หักไว้และนำส่งอย่างไม่ถูกต้อง ที่เกี่ยวกับการจ่ายค่าใช้จ่ายต้องห้าม ไปใช้ประโยชน์ทางภาษี และต้องร่วมรับผิดในค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่คำนวณตามประเภทหรือรายการจ่ายที่แท้จริง พร้อมทั้งเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากรด้วย
ทั้งนี้ บริษัทผู้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายผิดฝาผิดตัว เช่น ดารานักแสดง ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 5 แต่บริษัทผู้ว่าจ้างกลับหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากตัวแทนเชิด ซึ่งเป็นบุคคลอื่นในอัตราร้อยละ 3 ทำให้บริษัทผู้จ่ายเงินต้องร่วมรับผิดในค่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 ตามประเภทหรือรายการจ่ายที่แท้จริง ตามมาตรา 54 แห่งประมวลรัษฎากร
เรียกง่าย ๆ ว่า ต้องเสียใหม่ทั้งหมด และต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร อีกทั้งมีโทษปรับซึ่งเป็นความผิดทางอาญาตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากรอีกด้วย ส่วนเงินภาษีที่หักผิดไป บริษัทผุ้จ่ายเงิน ก็จะขอคืนไม่ได้
หากเจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจพบรายการใช้จ่ายต้องห้ามจำนวนมาก ต่อเนื่องกันหลายปี จนน่าเชื่อว่า มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามกฎหมาย โดยเจตนา โดยวางแผน โดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยใช้อุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน บริษัท กรรมการ ผู้เกี่ยวข้องและตัวแทนเชิด อาจต้องรับผิดทางอาญา ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 2 แสนบาท ต่อกระทงความผิดด้วย
หากเจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจพบว่า ผู้จัดการส่วนตัวหรือสำนักงานบัญชีที่ทำบัญชีให้ดารานักแสดงสาธารณะรายใด ร่วมหลีกเลี่ยงภาษีด้วยการใช้ตัวแทนเชิดรับเงินแทน อธิบดีกรมสรรพากรได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่สรรพากรขยายผลการตรวจสอบไปยังลูกค้ารายอื่น ๆ ของผู้จัดการส่วนตัวหรือของสำนักงานบัญชีนั้นด้วย เพราะเป็นไปได้สูงว่า อาจหลีกเลี่ยงภาษีด้วยวิธีการใช้ตัวแทนเชิดรับเงินแทน เช่นเดียวกัน
ดารา-นักแสดงบางคน เข้าใจผิดว่า ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ เป็นการเสียภาษีที่ถูกต้องและครบถ้วนแล้ว จึงไม่ยื่นแบบแสดงรายการและคำนวณภาษี โดยรวมเงินได้จากการแสดงสาธารณะ ปีละ 2 ครั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวข้างต้น ทำให้ถูกประเมินและต้องเสียภาษีย้อนหลัง พร้อมเบี้ยปรับเงินเพิมจำนวนมาก เช่น
คุณโก๊ะตี๋ ได้รับว่า เคยถุกประเมินและเสียภาษีย้อนหลังเป็นเงินถึง 3 ล้านบาท ดาราบางคนกลายเป็นบุคคลล้มละลาย เช่น คุณเพชรา เชาวราษฎร์ หรือดาราบางคน ต้องต่อสู้คดีกับสรรพากรจนถึงศาลฎีกา เช่น คุณญาสุมินทร์ เลิศอมรวัฒนา (จ๋า) อดีตนักแสดงและพิธีกรชื่อดัง เป็นต้น
คุณนก-จริยา แอนโฟเน่ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไว้อย่างน่าสนใจว่า “ดารา นักแสดงแทบทุกคน เคยถูกเรียกภาษีย้อนหลังกันเกือบทั้งนั้น เนื่องจากไม่มีความรู้ในเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการเสียภาษีของนักแสดงสาธารณะ ทั้งนี้ ยอมรับว่า ที่ผ่านมา มีดารานักแสดงบางคน ขอให้ทางผู้จัดละคร ช่วยหลบเลี่ยงภาษีให้ แต่ได้เตือนไปและขอให้ทำให้ถูกต้อง”
การใช้ตัวแทนเชิดรับเงินแทน เป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้จ่ายและผู้รับเงินได้ ควรต้องร่วมกันรับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไข การหลีกเลี่ยงภาษีดังกล่าว นอกจากทำให้รัฐเสียรายได้ ทั้งค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว ยังไม่เป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีที่สุจริตทั่วประเทศ เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีในสังคมไทย ดารา-นักแสดงสาธารณะ เป็นตัวอย่างของเยาวชนวัยรุ่นจำนวนมาก จึงควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นหน้าที่ของพลเมืองดีทุกคน*
หมายเหตุ: พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก ในวารสารธรรมนิติฉบับ “เอกสารภาษีอากร” เดือนตุลาคม 2555 Vol. 32 No. 373
ที่มา.Siam Intelligence Unit
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น