กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข สัมภาษณ์อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยที่ยังพูดถึง “ตุลาการภิวัฒน์” และ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ดังนี้
***********
มองปัญหาตุลาการภิวัฒน์ในเมืองไทยอย่างไร
ปัญหาตุลาการภิวัตน์ (ผมสะกดด้วย “ต.เต่า” ครับ) เป็นเรื่องน่าห่วง น่ากังวลยิ่ง ปัญหานี้อาจบานปลายไปจนถึงสถาบันศาลหรือตุลาการ อาจเกิดปัญหาเสื่อมศรัทธาเช่นหลายสถาบันของไทย
ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร 2549 มีการพูดถึงอำนาจ “ตุลาการภิวัฒน์” และองค์กรอิสระเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการยุบพรรคการเมืองและลงโทษนักการเมือง อาจารย์มีความเห็นอย่างไร
การที่ตุลาการภิวัตน์หรือการที่ศาลกลายเป็นองค์กรที่ถูกใช้ให้ระงับปัญหาและความขัดแย้งเฉพาะหน้า คือการยุบพรรคการเมืองกับการกำจัดรัฐบาลนายสมัคร (สมัคร สุนทรเวช) และนายสมชาย (สมชาย วงษ์สวัสดิ์) นั้น คือสิ่งที่น่าวิตกอย่างที่กล่าวเรื่อง “เสื่อมศรัทธา” ข้างต้น สถาบันตุลาการหรือศาลถูกเชิดให้เป็น “คู่ชก” เป็นฝ่ายตรงข้ามกับขบวนการประชาชน แทนที่จะอยู่เหนือขึ้นไปจากความขัดแย้ง นี่อาจเป็นปัญหาทำนองเดียวกันที่มีการกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ให้สถาบันกษัตริย์และองค์พระมหากษัตริย์ถูกนำมาใช้ในความขัดแย้งทางการเมืองนับตั้งแต่ก่อนและหลังรัฐประหาร 2549 ถือเป็นเรื่องอันตรายมาก และไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของชาติมาก่อน
ตุลาการภิวัฒน์มีผลกระทบกับหลักนิติรัฐและประชาธิปไตยอย่างไร คิดว่าจะทำให้นิติรัฐและนิติธรรมกลับมาเป็นเสาหลักของบ้านเมืองได้อย่างไร
ตุลาการภิวัตน์มีผลกระทบต่อนิติรัฐอย่างแน่นอน เพราะทำให้สถาบันศาลหรือสถาบันตุลาการเป็นเรื่องของตัวบุคคล กับเป็นเรื่องของคนที่เข้าไปนั่งประจำอยู่ในตำแหน่งนี้ หาใช่เป็นเรื่องของ “หลักการ” ไม่ การจะนำนิติธรรมหรือนิติรัฐกลับมาเป็น “เสาหลัก” ของบ้านเมืองได้ก็อยู่ที่ตัวสถาบันเอง และสถาบันอื่นๆที่ประกอบกันเป็นสถาบันหลักๆของชาติ พูดง่ายๆเงื่อนไขเหล่านี้อยู่ที่คนชั้นสูง อยู่ที่บรรดาอีลิต ชนชั้นนำหรือไฮโซทั้งหลายทั้งปวงนั่นเอง
บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่ากระทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง และยังขยายเขตอำนาจศาลจนพูดกันว่าเป็นการทำ “รัฐประหารโดยศาล”
จากเหตุการณ์การเมืองที่ผ่านมากว่า 10 ปีนั้น ศาลรัฐธรรมนูญถูกมองและถูกตำหนิว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และเราอาจจะพูดได้ว่ามีสิ่งที่เรียกว่า “รัฐประหารโดยศาล” เกิดขึ้นแล้ว นี่แหละที่จะทำให้ศาลขาดความศักดิ์สิทธิ์และขาดศรัทธา กลายเป็นว่าเกือบทุกสถาบันหลักๆของชาติได้เข้าไปร่วมตะลุมบอนในสนามยุทธ์ทางการเมืองกันหมดแล้ว จนอยากจะขอยืมคำอุทานเก่าแก่ของ ฯพณฯ ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ (อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร) ที่ว่า “ยุ่งตายห่ะ” กลับมาใช้อีกครั้งครับ
ที่มีข้อเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญหรือให้ศาลกลับไปให้อยู่ในกระบวนยุติธรรมปรกติ หรือสถาบันตุลาการควรเข้ามามีบทบาทกับการเมืองอย่างไร เช่น ศาลการเมืองหรือการปฏิรูปศาลเพื่อไม่ให้ถูกมองว่าสองมาตรฐาน อย่างการดำเนินคดีระหว่างคนเสื้อแดงกับแกนนำพันธมิตรฯ หรือกรณีมาตรา 112
เรื่องจะยุบหรือไม่ยุบศาลรัฐธรรมนูญนั้นผมคิดว่ายุบก็ได้ ไม่ยุบก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญจะอยู่ได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผู้ที่นั่งอยู่ในตำแหน่งนั้นนั่นแหละ แต่ที่อยากพูดต่อก็คือ เรื่องกฎหมายอาญา หรือกฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112 ที่มีคดีฟ้องร้องเกิดขึ้นมากมายผิดปรกติ นับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา
ขอขยายความว่า การที่กฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112 มีปัญหามาก เพราะมีลักษณะที่ประหลาดพิสดารเป็นพิเศษประเทศเดียวในโลก คือใครก็ได้เดินไปที่สถานีตำรวจที่ไหนก็ได้ แล้วแจ้งความว่าใครคนไหนก็ได้ว่าหมิ่นสถาบัน คือเป็นเอกชนฟ้องร้องได้ทุกคน แทนที่จะเป็น “รัฐการ” หรือ “ราชการ” เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญในการพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์
ความพิสดารและอปรกตินี้มาจากการที่ฝ่ายเผด็จการทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมทำการออกกฎหมายกำหนดไว้ในหมวดนี้เป็นความมั่นคงของชาติ
ดังนั้น เอกชนคนไหนก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวแทนของรัฐหรือของราช (ราชะหรือราชา) ก็ตาม ฟ้องร้องได้ และนี่เป็นเหตุผลที่พวกเรา รวมทั้งผมเองที่รวมกันเป็น “ครก.112” (คณะรณรงค์แก้มาตรา 112) จึงเห็นด้วยกับกลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าจะต้องแก้ตรงหมวดนี้
กล่าวโดยย่อ ถ้าต้องการประชาธิปไตยกับต้องการที่จะรักษาสถาบันกษัตริย์อย่างจริงจังให้เหมือนอย่างประเทศที่ศิวิไลซ์ อย่างสหราชอาณาจักรหรือยุโรปตะวันตก ไม่ใช่เพียงเอามาใช้ “โหน” เอามาใช้ “อ้าง” เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพรรคพวก ก็ต้องแก้กฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112 และมาตราอื่นๆที่เกี่ยวข้อง หนทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีครับ
ประเทศไทยจะหลุดพ้นจากวิกฤตการเมืองอย่างไร เพราะทั้งพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มพันธมิตรฯยังสร้างกระแสว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือศูนย์กลางของปัญหา แม้แต่นายคณิต ณ นครเรียกร้องให้พ.ต.ท.ทักษิณเสียสละ
การเมืองของสยามประเทศของเราความขัดแย้งระหว่างคนเสื้อสีต่างๆนั้น รวมทั้งแนวร่วมกับตัวประกอบ เกิดขึ้นท่ามกลางความเกลียดชังหรือ hate ครับ นี่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสังคมไทย ต่างฝ่ายต่างเกลียดกัน และที่น่าประหลาดใจคือ เกือบ 6 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก 19 กันยายน ปี 2555 ก็ครบ 6 ปีแล้วที่ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ทำ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นรัฐประหารที่ล้มเหลวที่สุด
ไม่น่าเชื่อว่าคนไทยหลายๆสียัง “ก้าวไม่พ้นทักษิณ” ดูได้จากเหตุการณ์คนเสื้อเหลืองประท้วงงานเสวนาที่ไทยทาวน์ แอลเอ/ฮอลลีวู้ด สหรัฐ
เราผ่านรัฐบาลนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็แล้ว รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ ก็แล้ว รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็แล้ว แต่กลับได้นายกรัฐมนตรี “ปูแดง” น้องสาวคุณทักษิณมาแทน
ดังนั้น ผมสงสัยว่าเกมการเมืองนี้จะยาวข้ามรัชสมัยแน่ๆ ฝ่ายไหนจะชนะ ผมเดาว่าฝ่ายไหนอดทน อึด สุขภาพจิต สุขภายกายแข็งแรง สั่งสมวิริยะบารมีไว้เพียงพอ เก็บแต้มไปเรื่อยๆ ฝ่ายนั้นก็จะชนะ “กาลเวลาไม่ปรานีใคร” หรอกครับ!
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข คอลัมน์ เวทีความคิด โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
***********************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น