นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์ ว่า ขณะเหลือเวลาทำงานอีก 8 เดือนเต็ม ระบุห่วงการขาดทุนของธปท. และหวังว่าจะปรับความเข้าใจนโยบายการเงินกับธปท.ได้ บอกหากทำได้ถือเป็นผลงานยิ่งใหญ่ไม่แพ้สมัยขอ “ป๋าเปรม” ลดค่าเงิน มีรายละเอียดดังนี้
นายวีรพงษ์ กล่าวว่าค่อนข้างเป็นห่วงผลการขาดทุนของ ธปท. เพราะจนถึงขณะนี้เชื่อว่าผลการขาดทุนคงไม่น้อยกว่าระดับ 5 แสนล้านบาทแล้ว
"เวลาที่ผมเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการไม่ว่าบริษัทไหน วันแรกที่ผมจะดู คือ งบดุล พอมาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติวันแรก ผมก็ขอดูงบดุลเลย ซึ่งก็พบว่าขาดทุนบักโกรก โดย ณ สิ้นเดือนมี.ค. แบงก์ชาติมียอดขาดทุนสะสมกว่า 4.7 แสนล้านบาท และตอนนี้คงเป็น 5 แสนกว่าล้านบาทแล้ว เพราะมันขาดทุนทุกเดือน"นายวีรพงษ์กล่าว
การขาดทุนของธปท.นั้น แม้วันนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน แต่อนาคตหากยังขาดทุนต่อเนื่องก็อาจส่งผลกระทบได้เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องระมัดระวัง โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธปท.ขาดทุน คือ ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดจากการดูดซับสภาพคล่องในระบบ ซึ่งตรงนี้ธปท.ต้องพิมพ์เงินออกมาจ่าย การพิมพ์เงินออกมาเยอะๆ ก็ควรต้องระมัดระวังเพราะอาจเป็นการแพ้ภัยตัวเองได้
"ตามอุคมคติแล้ว ธนาคารกลางไม่ควรขาดดุล และไม่ควรกำไร งบดุลควรเป็นศูนย์ บางปีอาจขาดทุนบ้าง บางปีกำไรบ้าง แต่ระยะยาวต้องเป็นศูนย์ แต่ถ้ามันขาดทุนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ การตีกลับมาก็คงยาก ตอนนี้ติดลบ 5 แสนล้านบาท ยังพอตีกลับมาได้ แต่ถ้าเป็น 1 ล้านล้านบาทแล้ว การตีกลับมาคงจะยาก"นายวีรพงษ์กล่าว
นอกจากนี้ นายวีรพงษ์ ยังตั้งคำถามขึ้นมาด้วยว่า การใช้อัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อ สามารถทำได้จริงหรือไม่ ถ้าทำไม่ได้จริง การกำหนดดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3% เท่ากับเป็นการทำร้ายตัวเอง เพราะเวลาออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่อง ธปท.ต้องออกที่อัตราดอกเบี้ย 3% ด้วย
ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยที่สูง ยังเป็นช่องทางให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาเก็งกำไรจากส่วนต่างของราคา (Arbitrage) ได้ด้วย เพราะตอนนี้ดอกเบี้ยต่างประเทศอยู่ที่ 1% ทำให้นักลงทุนต่างชาติบางกลุ่ม กู้เงินต่างประเทศมาเพื่อมารับดอกเบี้ยในประเทศไทยที่ 3%
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมา ได้เสนอให้ธปท.จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุดเพื่อศึกษาแผนลดขาดทุนของธปท. ซึ่งขณะนี้ใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว โดยแนวทางเบื้องต้นที่จะดำเนินการ คือ หาแนวทางเพิ่มผลตอบแทน และลดรายจ่ายลง ซึ่งความพยายามในการเพิ่มผลตอบแทนนั้น จะเน้นไปที่ตราสารหนี้ของประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก ส่วนตราสารทุนนั้นยังไม่อยากให้มีการลงทุน เพราะความเสี่ยงยังมีอยู่มาก
นายวีรพงษ์ กล่าวว่า เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เขาได้เชิญเจ้าหน้าที่ของธปท.ที่ดูแลเรื่องการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศมาหารือ ซึ่งเขาได้อนุมัติเรื่องเรทติ้งของประเทศในการลงทุน โดยอนุญาตให้ลงทุนในประเทศที่มีอันดับเครดิตต่ำกว่าประเทศไทยได้ไม่เกิน 2 ขั้น
"เดิมนั้นเราเอาประเทศไทยเป็นที่ตั้ง หากเครดิตต่ำกว่าไทยก็ลงไม่ได้ ซึ่งทำให้เหลือประเทศที่ลงทุนได้ไม่กี่ประเทศเท่านั้นและผลตอบแทนก็ต่ำมากด้วย ผมก็ถามไปว่าแล้วกลุ่ม BRIC อย่าง บราซิล ลงทุนได้หรือไม่ เขาก็บอกว่าไม่ได้ เพราะเครดิตต่ำกว่าไทย 2 ขั้น ผมจึงเสนอให้เอาขั้นสุดท้ายเป็น บราซิล" นายวีรพงษ์กล่าว
ส่วนอีกประเด็นที่ นายวีรพงษ์ เสนอให้สามารถนำทุนสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนได้ คือ พันธบัตรกึ่งรัฐบาล เช่น ตราสารหนี้ที่ออกโดยมลรัฐต่างๆ ที่อันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่ดี เช่น ตราสารหนี้ของลอนดอน เป็นต้น และอีกอันที่เสนอ คือ พันธบัตรของรัฐวิสาหกิจประเทศต่างๆ ที่อันดับเครดิตไม่น้อยกว่าประเทศนั้น เพราะเชื่อว่ารัฐบาลของประเทศนั้นคงไม่ปล่อยให้รัฐวิสาหกิจตัวเองเบี้ยวหนี้(Default) อย่างแน่นอน
สำหรับข้อเสนอเรื่องให้ลงทุนในตราสารทุนนั้น เรื่องนี้ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท. ได้เสนอให้ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ ทริปเบิ้ลเอ ขึ้นไปได้ แต่ในความเห็นของเขาแล้วมองว่ามันยังมีความเสี่ยงอยู่จึงขอไว้ว่าอย่าเพิ่งไปลงทุนในตราสารประเภทนี้เลย แต่ให้เน้นไปที่ตราสารหนี้เป็นหลักก่อน
นายวีรพงษ์ ยังกล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการธปท.นั้น เพราะต้องการทราบแนวคิดด้านการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและเศรษฐกิจการเงินของธปท. เพื่อที่จะจูนเข้าหากัน ซึ่งหลังเขาเข้ารับตำแหน่งนี้ได้ 4 เดือน ก็ทำให้ทราบอย่างชัดเจนแล้วว่า มีตรงไหนที่ไม่ตรงกันบ้างและเพราะอะไร
"ผมเข้าไปเพราะเห็นว่าหลักคิดและเหตุผลของนโยบายมหภาคกับนโยบายการเงิน ของผมกับทีมงานผู้ว่าการฯ ในแบงก์ชาติไม่ตรงกัน ซึ่งก็คือ การมองเป้าหมายนโยบายการเงินว่าควรอยู่ที่ใด ตัวผมเห็นว่าไม่ควรดูเงินเฟ้อ แต่ควรดูอัตราแลกเปลี่ยน การส่งออก และการขยายตัวของเศรษฐกิจบ้าง" นายวีรพงษ์กล่าว
นายวีรพงษ์กล่าวว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของธปท.มา 15 ปีแล้ว นับตั้งแต่ ธปท. เริ่มศึกษาแนวนโยบายการเงินโดยยึดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเมื่อ 14 ปีก่อน และตัวเขาก็ค้านแนวคิดนี้มาจนถึงปัจจุบัน
"สำหรับผม เป้าส่งออกกับอัตราแลกเปลี่ยนมันเป็นของอย่างเดียวกัน ถ้าเราจะหนุนการส่งออก เงินบาทก็ควรต้องอ่อนลง ซึ่งนโยบายการเงินหากดูตรงนี้เป็นกรอบ แนวคิดก็จะตรงกัน"นายวีรพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ ยืนยันว่า ภาคการส่งออกถือเป็นหัวจักรหลักของเศรษฐกิจไทย เพราะไทยเป็นตลาดเล็ก ผลิตอะไรนิดเดียวก็เกินความต้องการใช้ในประเทศแล้ว เนื่องจากความสามารถการผลิตเรามีสูงกว่ากำลังการบริโภคในประเทศ ดังนั้นการส่งออกจึงถือเป็นทุกอย่างของประเทศไทย และสัดส่วนการส่งออกของไทยในปัจจุบันที่ 70% ของจีดีพี ยังถือเป็นระดับที่ต่ำ เพราะตัวเลขนี้มีโอกาสสูงเกินกว่า 100% ของจีดีพีได้
นายวีรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันไทยเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) ซึ่งไม่มีเรื่องกำแพงภาษี ดังนั้นราคาสินค้าทุกอย่างจึงถูกกำหนดโดยตลาดโลก ซึ่งไทยเป็นประเทศเล็กไม่สามารถฝืนราคาตลาดโลกได้ อย่างกรณีน้ำมัน แม้เราไปฝืนมัน แต่ทำได้เพียงเล็กน้อยพอประทังไม่ให้ราคาปรับขึ้นเร็วเกินไปเท่านั้น ดังนั้นแล้วในเรื่องเงินเฟ้อระยะยาวเราจึงทำอะไรได้ไม่มาก เมื่อเป็นอย่างนี้จะไปดูแลทำไม ควรให้ความสำคัญกับการป้องกันดีกว่า
"ถามว่าเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ใช่เสถียรภาพของเศรษฐกิจหรือ เสถียรภาพที่สำคัญไม่ได้มีแต่เงินเฟ้อเท่านั้น อย่างอเมริกาเสถียรภาพที่สำคัญของเขา คือ การว่างงาน ถ้าเป็นประเทศด้อยพัฒนา เสถียรภาพ คือ การขยายตัวเศรษฐกิจ แต่ประเทศกลางๆ แบบเรา เสถียรภาพควรมุ่งไปที่อัตราแลกเปลี่ยน เพราะอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวการใหญ่ที่ทำให้เงินเฟ้อและการส่งออก สามารถโยกเยกได้"นายวีรพงษ์กล่าว
สำหรับช่วงเวลาที่เหลืออีก 8 เดือนในตำแหน่งประธานคณะกรรมธปท.นั้น เขาหวังว่าจะสามารถปรับความเข้าใจเรื่องการดำเนินนโยบายต่างๆ ระหว่างเขากับธปท.ให้ตรงกันได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นความหวังอันสูงสุดของเขา หากทำได้จะถือเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้สมัยที่เขาขอให้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ลดค่าเงินบาทเลย
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น