--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คลัง อาเซมบรรลุข้อตกลงลดกีดกันทางการค้า !!?




คลังอาเซมบรรลุข้อตกลงลดการกีดกันทางการค้า ผลักดันเจรจาเอฟทีเอ ห่วงการค้าเชื่อมโยงกันก่อความเสี่ยง สร้างความผันผวนตลาดเงิน-สินค้าโภคภัณฑ์

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังการประชุมรัฐมนตรีคลังเอเชีย-ยุโรปครั้งที่ 10 ว่า การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำระดับนโยบายของกลุ่มประเทศในสองภูมิภาคว่า จะร่วมกันเผชิญปัญหาเศรษฐกิจไปด้วยกัน โดยที่จะทำให้การค้าขายระหว่างกันสะดวกยิ่งขึ้น

"ที่ประชุมได้พูดถึงการป้องกันการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ โดยทั้งสองภูมิภาคจะทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ และผลการประชุมนี้จะนำไปสู่เวทีการประชุมผู้นำอาเซียนในประเทศลาวต้นเดือนหน้า จากนั้นจะนำความเห็นจากทุกภาคส่วนราชการของแต่ละประเทศนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกัน" นายกิตติรัตน์ กล่าว
เดินหน้าเอฟทีเอไทย-อียู

นายกิตติรัตน์ ยังกล่าวถึงข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างอียูกับไทย โดยยอมรับว่า ที่ผ่านมา มีความล่าช้าในการเจรจา โดยมีสาเหตุมาจากฝั่งไทยมากกว่า แต่รัฐบาลของไทยในปัจจุบัน จะพยายามผลักดันให้การเจรจาการค้าดังกล่าวเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ซึ่งรวมถึงการเจรจาการค้ากับประเทศอื่นที่ต้องมีความคืบหน้าด้วย

นายโอลี อิลมารี เรห์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐเอสโตเนีย หนึ่งในคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มการค้าขายระหว่างเอเชียกับยุโรปนั้น มีปริมาณที่จะลดลง แต่เราพยายามที่จะทำให้แน่ใจว่า เราจะไม่ยอมให้เรื่องนี้ขยายตัวจนเป็นปัญหาการกีดกันทางการค้า โดยเราจะหาทางทำให้การหารือในระดับองค์การการค้าโลกหรือดับเบิลยูทีโอมีข้อสรุปโดยเร็ว

"อียู จะให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับการเจรจาการค้าแบบจับคู่กับประเทศต่างๆ ทั้งในเอเชียและประเทศต่างๆ และหวังว่า การเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับอียูจะมีความคืบหน้าเร็วๆ นี้ โดยจะทำให้กำแพงด้านภาษีและการอำนวยความสะดวกการค้าคล่องตัวยิ่งขึ้น" เขากล่าว

@ห่วงตลาดเงิน-โภคภัณฑ์ผันผวน
ขณะที่ นายนาโอยูกิ ชิโนฮารา รองผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ รวมทั้งสมาชิกคณะกรรมาธิการจากยุโรปและสมาชิกบอร์ดของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ต่างแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องพัฒนาการเศรษฐกิจและการคลังของเอเชียและยุโรป ซึ่งพวกเขาคาดหวังว่าเศรษฐกิจยุโรปจะค่อยๆ ฟื้นตัวจากวิกฤติที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเห็นพ้องกันว่าเศรษฐกิจยุโรป จำเป็นต้องดำเนินการรักษาวินัยทางการคลังแบบแตกต่างกันไปเพื่อเกื้อหนุนการเติบโต และใช้นโยบายส่งเสริมการเติบโต พร้อมการปฏิรูปโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผลจากเศรษฐกิจเอเชียและยุโรปต่างพึ่งพากันและกัน กลุ่มรัฐมนตรีอาเซมได้แสดงความกังวล เรื่องความเสี่ยงเกิดจากการเชื่อมโยงการค้าและความผันผวนตลาดเงินและตลาดโภคภัณฑ์ และยังย้ำถึงบทบาทของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเวทีโลกให้ใช้ความพยายามสร้างการบริโภคภาคเอกชนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างให้เกิดผลสำเร็จ เพื่อช่วยส่งเสริมอุปสงค์และการเติบโตในประเทศ

ในช่วงท้ายรัฐมนตรีอาเซมยังย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้บริโภค กำจัดการเชื่อมโยงของปัญหาระหว่างหนี้ภาครัฐและระบบธนาคาร รวมถึงทำให้เกิดการจ้างงาน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวล้วนเป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบยั่งยืน
แลกประสบการณ์ยุโรป-เอเชีย

นายโยชิ เนโมโต และ นายคลอส เรกลิง ประธานเจ้าบริหารของกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินของยุโรป (อีเอฟเอสเอฟ) ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการแก้ปัญหาการเงินในระดับภูมิภาคของเอเชียและยุโรป การจัดตั้งกองทุนจากความคิดริเริ่มที่เชียงใหม่ และกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (อีเอสเอ็ม) รวมถึงกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินของยุโรป (อีเอฟเอสเอฟ) ซึ่งกลุ่มรัฐมนตรีคลังเอเชีย-ยุโรปต่างมองว่าการดำเนินการจัดตั้งกลไกและกองทุนเหล่านี้ มีประโยชน์และมีประสิทธิภาพ ในการจัดการกับวิกฤติเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอาจเกิดขึ้นในอนาคต

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น