คดีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2489 ผ่านมาแล้วถึง 60 กว่าปี แต่คดีนี้ยังเป็นปริศนาที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือลดความน่าเชื่อถือของนายปรีดี พนมยงค์ แม้กระทั่งปัจจุบันนี้
ตัวอย่างชัดเจนล่าสุดคือ หนังสือ “เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ” ของ “วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย” ที่พิมพ์จำหน่ายครั้งที่ 1 เดือนสิงหาคม 2553 และนำมาตีพิมพ์เผยแพร่เป็นตอนๆในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ตั้งแต่ต้นปี 2555 โดยหนังสือเขียนพาดพิงเรื่องความขัดแย้งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลกับรัฐบาลนายปรีดีหลายเรื่อง ทั้งที่ในความจริงแล้วรัฐบาลมิได้มีข้อขัดแย้งใดๆเลย
ในบทที่ 23 หน้า 145 ของหนังสือเอกกษัตริย์ฯ กล่าวหาว่าคดีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเป็นความไม่รับผิดชอบของรัฐบาลขณะนั้น ทั้งยังมีเจตนาที่จะให้เรื่องดังกล่าวเป็นช่องว่างทางประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจหาความกระจ่างใดๆได้ ซึ่งไม่มีเหตุผลอันใดเลยที่รัฐบาลนายปรีดีจะกระทำเช่นนั้น
รัฐบาลพยายามปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังในอันที่จะแสดงความขาวกระจ่างในคดีนี้อย่างถึงที่สุด จึงได้ตั้งกรรมการสอบสวนการเสด็จสวรรคต ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา อธิบดีศาลอุทธรณ์ อธิบดีศาลอาญา อธิบดีกรมอัยการ ประธานพฤฒสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยให้อธิบดีกรมตำรวจนำพยานมาสอบสวนต่อหน้ากรรมการ และถ้ากรรมการประสงค์จะสอบสวนเพิ่มเติมก็ให้สอบถามได้
รายชื่อกรรมการยังมีเชื้อพระราชวงศ์ชั้นสูงร่วมอยู่ด้วยคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์ บริพัฒน์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต
หลักฐานนี้แสดงให้เห็นความบริสุทธิ์ใจของนายปรีดีที่มิได้นำตนมาเกี่ยวข้องในคณะกรรมการชุดนี้เลย สิ่งที่แสดงความสัมพันธ์ที่ราบรื่นเป็นประจักษ์อีกประการคือ หลังจากการประกาศสันติภาพเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 นายปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้มีโทรเลขลงวันที่ 6 กันยายน 2488 กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติพระนคร ซึ่งขณะนั้นพระองค์ประทับอยู่ที่โลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์
และพระองค์เสด็จนิวัติถึงพระนครเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2488 โดยพระราชพาหนะเครื่องบินพระที่นั่ง ยังความปลาบปลื้มปีติยินดีแก่พสกนิกรโดยถ้วนหน้า
ทันทีที่พระองค์เสด็จมาถึง นายปรีดีได้เข้าเฝ้าฯถวายคืนพระราชอำนาจทั้งหลายทั้งปวงให้พระองค์ ซึ่งได้ทรงบรรลุนิติภาวะแล้วตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2488 และภาระหน้าที่ของนายปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็สิ้นสุดลง ณ บัดนั้น
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่นายปรีดีได้ประพฤติปฏิบัติต่อเชื้อพระวงศ์มาโดยตลอด ทั้งก่อนและระหว่างสงครามนั้น ได้ปฏิบัติภารกิจหน้าที่ทั้งในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย เพื่อรักษาเอกราชของชาติและปกป้องดูแลทุกข์สุขของพระราชวงศ์อย่างเต็มกำลังความสามารถ ล้วนเป็นประจักษ์พยานว่านายปรีดีมิได้มีจิตอกุศลคิดการร้ายใดๆต่อราชบัลลังก์แม้สักนิด
ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลก็ทรงมีน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นด้วยเมตตาต่อนายปรีดี ดังพระราชดำรัสที่ทรงมีต่อนายปรีดีเมื่อวันที่เสด็จนิวัติกลับเมืองไทยตอนหนึ่งว่า
ข้าพเจ้าขอขอบใจท่านเป็นอันมากที่ได้ปฏิบัติกรณียกิจแทนข้าพเจ้าด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อข้าพเจ้า และประเทศชาติ ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้แสดงไมตรีจิตในคุณงามความดีของท่าน ที่ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติ และช่วยบำรุงรักษาความเป็นเอกราชของชาติไว้”
ทั้งยังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯยกย่องนายปรีดีไว้ในตำแหน่ง “รัฐบุรุษอาวุโส” หลังจากที่เสด็จนิวัติถึงพระนครเพียง 3 วัน เพื่อให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจราชการแผ่นดินเพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป
ในหนังสือ “1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์” หม่อมราชวงศ์สายสวัสดี (คุณหน่อย) ธิดาของหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ผู้เป็นพระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เล่าว่า
“พ่อใช้เวลาเขียนหนังสือกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวถึงร้อยกว่าหน้า พยายามอธิบายคดีกล่าวหาว่ามีการลอบปลงพระชนม์นี้ เป็นแผนการเมืองของฝ่ายตรงข้ามกับอาจารย์ปรีดี ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ และเผด็จการทหารที่จะทำลายปรีดีให้ได้โดยสิ้นเชิง แต่พ่อไม่ได้รับคำตอบใดๆทั้งสิ้น
เมื่อตาชิต (ชิต สิงหเสนี) ถูกประหารแล้ว ยายหนู (ชูเชื้อ สิงหเสนี) ได้รับหนังสือเชิญให้ไปพบเจ้าหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่าท่านนายกรัฐมนตรี (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) สงสารว่ายายหนูตัวคนเดียว จะเลี้ยงดูลูกตั้ง 7 คนต่อไปได้อย่างไร ท่านจึงขอให้เงินช่วยเหลือเลี้ยงดูครอบครัวเดือนละ 2,000 บาท ในจดหมายที่มีมาถึงยายหนู ได้ให้คำอธิบายด้วยว่า ตาชิตเป็นผู้ที่ต้องรับภัยทางการเมือง”
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข \ คอลัมน์ เปิดฟ้าเปิดตา โดย ดอม ด่าน
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น