--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เงาสะท้อนประวัติศาสตร์ วันมหาวิปโยคประชาธิปไตย..บนกองเลือด !!?

ถนนสายประชาธิปไตย” ทอดยาวมาแล้วถึง 80 ปี พลันได้เกิดเหตุการณ์การชุมนุม ทางการเมืองที่รุนแรงถึงขั้นนองเลือดอยู่หลายต่อหลายครั้ง และเท่าที่ปรากฏว่ารุนแรง ที่สุด ซึ่งรัฐกระทำต่อประชาชน นั่นคือ “วันมหาวิปโยค” 6 ตุลาคม 2519 ที่ส่วนหนึ่งเป็น การผสมจินตภาพไปกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งมีระยะห่างกันราว 3 ปี

ทำให้ทุกปี เมื่อตรงกับวันที่ 6 และ 14 ตุลาคม จะมีการจัดงานรำลึกถึง “วีรชน” และอุดมการณ์ของผู้เสียชีวิตจากทั้ง 2 เหตุการณ์นอง เลือด อันเป็นภาพซ้อนแห่งความขัดแย้งในทาง การเมือง ระหว่างประชาชนกับ “อำนาจรัฐ”

และถือได้ว่าทั้ง 2 กรณียังมีความเกี่ยวพันกัน เพราะในเหตุการณ์ 14 ตุลา ขบวนการนักศึกษาเป็นแกนนำในการต่อต้านเผด็จการและ ประสบความสำเร็จในการขับไล่รัฐบาล “จอมพลถนอม กิตติขจร” และฟื้นฟูประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ส่วนกรณี 6 ตุลา หมายถึง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน คือการเข่นฆ่าสังหารนักศึกษาประชาชนที่เกิดขึ้นในเวลาเช้าตรู่กับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเวลาเย็นวันนั้น

เหล่านี้ ได้ปรากฏให้เห็นถึง “พฤติกรรม” อันเลวร้ายของผู้มีอำนาจในการ “เข่นฆ่าประชาชน” ที่ออกมาชุมนุมทางการเมือง ซึ่งแน่นอน ว่าเหตุการณ์แบบนี้ คงไม่มีการบันทึกเอาไว้ในหน้าประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ เพราะเป็นการกระทำอันโหดเหี้ยมอำมหิตจากฝ่ายที่มีอำนาจในบ้านเมือง ย่อมต้องการให้ความจริงใน วันนั้นสูญสลายหายไป!!

แต่สำหรับผู้คนที่ผ่านความเป็นความตายในวันนั้น ยุคสมัยนั้น คงยากจะลืมเลือนได้

แม้ “วันมหาวิปโยค 6 ตุลาฯ 19” ดูจะแตกต่างไปจากเหตุการณ์อื่น เพราะมีการวางแผน เอาไว้ล่วงหน้า เพื่อจะกวาดล้างขบวนการฝ่ายก้าวหน้าให้สิ้นซาก ขณะที่ 14 ตุลาฯ 2516 ต่อเนื่องมาถึงพฤษภาทมิฬ 2535 และการสั่ง “กระชับพื้นที่” และสั่งปราบปรามผู้ชุมนุมใน ช่วงปี 2552-2553 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง ที่เกิดจากการควบคุมสถานการณ์ไม่ได้และการ “ไม่ยอมถอยจากอำนาจ” ของรัฐบาลในขณะนั้น

ยิ่งดูในข้อเท็จจริงแล้ว ทุกเหตุการณ์ก็ไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไหร่! นั่นเพราะผู้สั่งปราบปรามประชาชนไม่มีความรู้สึกรับผิดชอบ ตลอด จนการดิ้นรนต่อสู้เพื่อปกปิดความจริง ก็ยังดำเนิน อยู่อย่างไม่ถดถอย

“จรัล ดิษฐาอภิชัย” อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค” ล้อมปราบนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่โหดร้ายที่สุดในสังคมไทย ได้ฉายภาพความแตกแยกที่เกิดขึ้นในอดีตจนถึงปัจจุบันไว้อย่างน่าสนใจ

“เวลานี้สังคมแบ่งเป็น 2 ฝ่าย และต่อสู้ความคิดการเมือง ทางอุดมการณ์ซ้ายขวาเป็นเวลา 2 ปีกว่าๆ หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ แล้วสุดท้ายพลังฝ่ายซ้ายก็ถูกปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดนั้น น่าจะทำให้สังคมมีบทเรียนว่าต่อไปนี้จะต้องไม่แบ่งกัน รัฐต้องไม่ล้อมปราบประชาชนกัน แต่ปรากฏว่าบทเรียนนี้ ทั้งรัฐและ สังคมไทยไม่ได้ยึดถือ เพราะว่าเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 และเหตุนองเลือดในเดือน เม.ย.-พ.ค.ปี 2553 ก็เกิดเหตุการณ์ในลักษณะที่ “รัฐเข้าปราบปรามประชาชน” แสดงให้เห็นว่า...สังคมไทยไม่เคยเรียนรู้บทเรียน!!

ยิ่งไปกว่านั้น อิทธิพลของวงการสื่อสารมวลชนกระแสหลัก ยังสามารถกำหนดความคิดของประชาชนได้อย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สื่อมวลชนกระแสหลัก วิทยุต่างๆ โหมกระหน่ำว่าในหมู่นักศึกษาที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์มีพวกคนญวน คนจีน ดังนั้น นักศึกษาและประชาชนที่อยู่ในธรรมศาสตร์...ไม่ใช่คนไทย พอแบ่งแยกคนเหล่านี้ออกไป รัฐและกลุ่มพลังฝ่ายขวาจึงไม่ลังเลใจและใช้ข้ออ้างนี้ในการทำอำมหิตต่อคนในประเทศ ด้วยการเผาทั้งเป็น ตอก ลิ่มศพจับศพไปแขวนคอแล้วใช้เก้าอี้ฟาด

เช่นเดียวกับเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.ปี 2553 ที่สื่อมวลชนกระแสหลักต่างนำเสนอข่าวว่า ผู้ชุมนุมเสื้อแดงไม่มีความจงรักภักดี เป็นพวกล้มเจ้า ทาง ศอฉ.ก็ทำผังล้มเจ้าขึ้นมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน สื่อก็ไม่ยอมตรวจสอบแต่กลับนำไปเผยแพร่ซึ่งก็ไม่ต่างจากการเผยแพร่ใบปลิวของกลุ่มพลังฝ่ายขวาในอดีต

ดังนั้น ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 สื่อมวลชนก็ผลัก “ผู้ชุมนุมเสื้อแดง” ไปอยู่อีกข้าง ทำให้รัฐบาลขณะนั้นมีความชอบธรรมและได้รับแรงสนับสนุนให้สังหารประชาชนที่ไม่มีอาวุธอยู่ในมือ แล้วก็ไปอ้างว่ากลุ่มคนเสื้อแดงที่ชุมนุมมีชายชุดดำปะปนอยู่ด้วย ไม่ต่างจากดาวสยาม หรือวิทยุยานเกราะในสมัยก่อนนี้ ที่บอกว่ามีพวกญวน คอมมิวนิสต์อยู่ปะปนกับนิสิต นักศึกษา และประชาชน ในธรรมศาสตร์ แล้วความเป็นจริงก็เห็นชัดเจนว่า คนที่ตายในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีแต่คนไทย แล้วหลายคนที่เสียชีวิตก็คือ นิสิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันทั้งสิ้น

อันที่จริงความขัดแย้งทางอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย กับฝ่ายขวาในสมัยการต่อสู้คอมมิวนิสต์กับอุดมการณ์ของเหลือแดงมีความแตกต่างกัน เพราะอุดมการณ์ความขัดแย้งระหว่างเหลืองกับแดงมันกว้างประเด็นแหลมคมและฝังรากลึกเกินกว่าจะถอนออกได้

แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ สื่อมวลชนทั้ง 2 ยุค ต่างก็สร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคม แบ่งคนในสังคมให้แยกออกจากกัน คิดต่างกันไม่ใช่พวกเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างใส่ร้ายป้ายสีว่า อีกกลุ่มเป็นยักษ์เป็นมาร เหมือนที่กล่าวหาว่า พวกนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ ตอนนี้มาบอกกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นพวกล้มเจ้า สุดท้ายเมื่อไม่มองกันและกันว่าเป็นมนุษย์ ความรุนแรงก็ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ความขัดแย้งทางการต่อสู้ที่วันนี้มันยกระดับ เป็นเรื่องความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ แล้ว ในช่วง 5-6 ปีที่แล้วมา ก็ฟาดฟันกันทางความคิดและวาจา โต้ตอบกันมาโดยตลอด ฟาดฟันกันจนทั้งสองฝ่ายรู้สึกเจ็บปวด เคียดแค้นชิงชัง แล้วไม่มีแนวโน้มที่จะคลี่คลาย เพราะทั้ง 2 ฝ่าย ก็ไม่เห็นด้วยกับการปรองดอง ดังนั้น ถ้าคนทั้ง 2 ฝ่ายมาอยู่ใกล้กันแนวโน้มที่จะปะทะกันก็มีสูง”

นอกจากนี้ทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะแกนนำต้องคิดด้วยว่า ควรจะจัดชุมนุมให้เกิดการปะทะกันหรือ ไม่ ยิ่งฝ่ายคนเสื้อแดงซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล ถ้าสมมติเกิดการปะทะกันของมวลชน ไม่ว่าจะกรณีใดๆ ฝ่ายเสื้อแดงชนะก็เหมือนแพ้ ถ้าแพ้แล้วก็ยิ่งแพ้เข้าไปใหญ่ เพราะคนที่แพ้ไม่ใช่แค่คนเสื้อแดง แต่รัฐบาลก็แพ้ตามไปด้วย เพราะสังคมก็จะวิจารณ์รัฐบาลหนักขึ้น แม้การปะทะกันจะผิดทั้งคู่ แต่รัฐบาลจะผิดมากที่สุด

แต่เข้าใจได้ว่า เมื่อฝ่ายเสื้อแดงเป็นรัฐบาล พวกเขาก็จะปกป้องรัฐบาลไม่ยอมให้อำนาจอื่น ใดมาล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากรัฐบาลของพวกเขาถูกล้มไปแล้ว 3 รัฐบาลในช่วง 6 ปีมานี้ ดังนั้น พวกเขาก็ไม่ยอมให้รัฐบาลชุดที่ 4 ล้มไปง่ายๆ ด้วยเหตุนี้ “คนเสื้อแดง” จึงต้องปกป้องทุกวิถีทาง

ถ้าฝ่ายเสื้อเหลืองยังมีเจตจำนงที่จะไม่ยอม รับรัฐบาลนี้ จ้องหาทางล้มรัฐบาลทุกวิถีทาง อย่าง ล่าสุดก็คือกลุ่มคณาจารย์นิด้า ไปยื่นเรื่องการจำนำ ข้าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ แบบนี้อย่างไรเสียก็ต้องมีการปะทะกันไปเรื่อยๆ ถ้าไม่เล่นตามหลักประชาธิปไตย คือรัฐบาลต้องมาจากการเลือกตั้ง

สำคัญคือ “รัฐบาล” ถ้าหากรัฐบาลเพื่อไทยที่มี “ยิ่งลักษณ์” เป็นนายกรัฐมนตรี คงจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบ 6 ตุลาคม 2519 เพราะรัฐบาลที่มา จากการเลือกตั้งคงจะไม่ปราบเสื้อเหลืองอย่างแน่นอน เพราะอาจไปสู่เงื่อนไขถูกล้มรัฐบาล ส่วนเสื้อแดงอย่างไร รัฐบาลก็ไม่ปราบอยู่แล้ว แต่ถ้ามีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นอีกฝ่ายแล้วใช้กระบวนการกล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีว่า “คนเสื้อแดง” เป็นพวกล้มเจ้า โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เหมือน 6 ตุลาฯ จะมีสูงมาก

“การจะแก้ปัญหาความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ในสังคมไทยรัฐบาลหรือระบบการเมืองต้องมีมาตรการป้องกันที่ดี ซึ่งก็ยาก เพราะอำนาจ นอกระบบก็มีอยู่มาก ฉะนั้น ทางแรกคือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องชนะการเลือกตั้งแบบเด็ดขาด ซึ่งเป็นไปไม่ได้อีก ดังนั้น ก็ต้องปรองดองแต่ก็ชัดเจนแล้วว่า ถ้าเกิด พ.ร.บ.ปรองดอง ขึ้นมาเมื่อไร ทั้ง 2 ฝ่ายจะปะทะกันหรือสร้างความวุ่น วายให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างแน่นอน”

เช่นเดียวกันนี้ ในงานสัปดาห์รำลึก “36 ปี 6 ตุลา...ประชาธิปไตยประชาชน” ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ระบุถึงขบวนการเคลื่อนไหว “ภาคประชาชน” ต่อกระบวนการประชาธิปไตยในปัจจุบัน...

“ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และ 14 ตุลาคม 2516 นั้น ผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก นอกจากคนในรุ่น 6 ตุลา และ 14 ตุลา เข้ามามีบทบาททางการเมืองการปกครองมากขึ้น ทำให้ความคิดในการต่อสู้ของประชาชนเพื่อสร้างประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการถูกฝังลึกในสังคมไทย ถึงแม้ในบางช่วงของการรัฐประหารจะมีประชาชนออกมา สนับสนุน แต่ท้ายสุดทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการรัฐประหารต้องไม่มีการทำลายล้างประชาธิปไตย หรือรัฐธรรมนูญต้องได้รับการคัดค้าน ทั้งนี้ กระบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนปัจจุบันต้องยอมรับว่า มีพรรคการเมือง นักการเมือง ให้การสนับสนุน ทั้งทุน และอื่นๆ”

อธิการบดี มธ. กล่าวว่า ปัจจุบันภาคประชาชนเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยมากขึ้นหาก เทียบกับยุค 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา เพราะในการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นม็อบเหลือง หรือม็อบแดง พบว่ามีชาวนา กรรมกร หรือกลุ่มผู้ค้าร้านโชวห่วยมาร่วมมากขึ้น ทั้งนี้มีสิ่งที่ตนห่วง คือในการชุมนุมที่มีการแบ่งฝ่ายทางความคิด มักไม่เคารพในกฎหมาย หรือนำกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือ ซึ่งในท้ายสุดอาจทำให้ความขัดแย้งมีเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ต้องให้มีการเรียนรู้ถึงการ เคารพสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของบุคคล รวมถึงการชุมนุมที่มีขอบเขต

“ผมเชื่อว่าท้ายสุดสังคมไทยจะมีทาง ออก คือ ต้องประนีประนอม ต้องปรองดอง ต้องนิรโทษกรรม ต้องอภัยโทษ แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าต้องทำให้ใครแค่ไหน รวมถึงใครบ้างเท่า นั้น ผมเชื่อทางออกที่นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศ จะใช้เวลาอีกไม่นาน”

ส่วนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนบางกลุ่มและมีประโยชน์ของนักการเมืองแอบแฝงนั้น “สมคิด เลิศไพฑูรย์” ย้ำหัวตะปูว่า ท้ายที่สุดประชาชนจะเข้าใจว่าผู้นำการชุมนุมเข้าขับเคลื่อนเพื่อประชาธิปไตยที่แท้ จริง หรือแค่นำประชาชนมาเป็นกำแพง เพื่อท้ายสุดให้เขาได้เป็นรัฐมนตรีเท่านั้น เมื่อประชาชนรู้และเข้าใจ ก็จะเกิดการเคลื่อนไหวโดยตัวของตัวเอง

ส่วนความขัดแย้งระหว่างภาคประชาชน ในช่วง 2-3 ปีมานี้ จะมีโอกาสทวีความรุนแรงอีกหรือไม่นั้น “อธิการบดี มธ.” ย้ำหัวตะปูว่า คงไม่มี...เพราะรัฐบาลมีบทเรียนจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา และเห็นได้ว่าบางเรื่องที่เสื้อเหลืองคัดค้าน เช่น การออกกฎหมายปรองดอง เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์นักการเมือง ถูกถอยออกไป โดยเชื่อว่า หากรัฐบาลเดินหน้าทั้ง 2 เรื่อง คนเสื้อแดงส่วนใหญ่จะไม่เอาด้วย เพราะไม่ใช่ประโยชน์ของเขา

ทั้งหมดทั้งปวง ล้วนเป็น “เงาสะท้อน” ภาพแห่งประวัติศาสตร์ใน “วันมหาวิปโยค” ที่ข้นคลั่กไปด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงทาง การเมือง นำไปสู่การได้มาซึ่ง “ประชาธิปไตย” ที่แลกมาจาก “ซากศพ” และ “กองเลือด” ของพี่น้องคนไทยด้วยกันเอง พลันให้มีคำถามตามมาว่า จากบทเรียนในอดีต... วันนี้เราได้เรียนรู้ถึงความผิดพลาดกันบ้างแล้วหรือยัง และสังคมไทยจะสามารถ “ก้าว ข้าม” ความขัดแย้งและแตกแยกทางความคิดนี้...ไปได้หรือไม่?!!

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น