--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

“พรรคการเมืองทางเลือก” มีจริงหรือ? แค่กระแส หรือ ของจริง?

โดย จิตติพร ฉายแสงมงคล
ชื่อบทความเดิม “โอกาสและความจำเป็นของพรรคทางเลือก- ทางที่ควรเลือก?”

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาขึ้นมาเท่าใดคำถามเรื่องพรรคทางเลือกก็ยิ่งดังขึ้นมากเท่านั้นพรรคที่สามหรือแม้แต่ผู้สมัครอิสระเป็นหัวข้อที่ถกเถียงในสหรัฐอเมริกากันมาอย่างยาวนานแต่ดูเหมือนว่าจะเป็นไปได้ยากว่าจะมีพรรคใดสามารถเบียดพรรคใหญ่ทั้งสองได้

เนื่องจากประวัติศาสตร์การเมืองรวมทั้งระบบการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาแบบfirst-past-the-post (ผู้สมัครซึ่งได้คะแนนเลือกตั้งมากที่สุดได้รับเลือก) เป็นปัจจัยทำให้เกิดระบบสองพรรคขึ้น (1)
เลือกพรรคทางเลือก ภาพจาก http://whataboutpeace.blogspot.com/
เลือกพรรคทางเลือก ภาพจาก http://whataboutpeace.blogspot.com/

หันกลับมาดูในประเทศไทยซึ่งก็ใช้ระบบผู้สมัครซึ่งได้คะแนนเลือกตั้งมากที่สุดได้รับเลือกเช่นกัน(การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเพิ่งเพิ่มมาหลังปีพ.ศ.2540) แต่ที่นั่งในสภาก็ไม่ได้เป็นแค่ของสองพรรคแต่อย่างใดบ้านเรามีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของการจับมือกันของพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมจะมีก็ช่วงหลังที่ระบบพรรคการเมืองไทยเริ่มมีแนวโน้มจากแบบหลายพรรคเป็นระบบสองพรรคมากขึ้น
คำถามเรื่องพรรคทางเลือกจึงมีมากขึ้นในช่วงนี้สำหรับสหรัฐอเมริกาพรรคทางเลือกคือพรรคอื่นนอกเหนือจากพรรคเดโมแครตกับพรรครีพับลิกันสำหรับประเทศที่มีรัฐบาลผสมอย่างเยอรมนีพรรคทางเลือกเป็นพรรคที่มีคนเลือกน้อยซึ่งอาจจะนับพรรคที่ไม่มีผู้แทนเข้าไปนั่งในสภาเพราะได้รับคะแนนเสียงไม่เกินห้าเปอร์เซ็นของคะแนนเสียงทั้งหมดทั้งนี้การจะเรียกพรรคใดว่าพรรคทางเลือกในประเทศที่มีรัฐบาลผสมนั้นไม่มีข้อกำหนดที่แน่นอน[2]

ถ้ามาดูผลการเลือกตั้งของประเทศไทยเมื่อปี2554จะเห็นได้ว่าพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์คือพรรคใหญ่สองพรรคที่กวาดที่นั่งรวมกันไปเกือบ85% ของที่นั่งทั้งหมดโดยมีพรรคภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนาที่ตามมาห่างๆที่6.8% และ3.8% ตามลำดับซึ่งผู้เขียนคิดว่าพรรคทั้งสองนี้น่าจะจัดอยู่ในหมวดพรรคทางเลือกเช่นเดียวกับพรรคเล็กอื่นๆ

ในการเลือกตั้งครั้งนี้อาจมีหลายคนตั้งคำถามกับตัวเองว่าแล้วครั้งต่อไปจะเลือกพรรคเหล่าดีไหมหรือควรจะสนับสนุนมีพรรคทางเลือกมากขึ้นหรือเปล่าเพราะดูๆไปแล้วพรรคเหล่านี้ไม่น่าจะมีบทบาททางการเมืองมากนักสู้ไปเลือกพรรคใหญ่ที่มีโอกาสเป็นรัฐบาลได้จะดีเสียกว่า


พรรคใหญ่สองพรรคของประเทศไทย ภาพจากarticle.wn.com
พรรคใหญ่สองพรรคของประเทศไทย ภาพจากarticle.wn.com

อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนแรกว่าแม้แต่ประเทศที่เป็นระบบสองพรรคเต็มตัวอย่างสหรัฐอเมริกาก็มีการถกเถียงเรื่องพรรคที่สามเป็นวงกว้างแน่นอนว่าระบบสองพรรคมีผลดีต่อเสถียรภาพในการปกครองและประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐ

แต่ข้อเสียคือประชาขนมีทางเลือกที่จำกัดบล็อคเกอร์ทางการเมืองหลายท่านเคยเปรียบเทียบไว้ว่าพรรคใหญ่ทั้งสองของสหรัฐฯเน้นเรื่องเสรีทางการค้าแต่พอเป็นเรื่องการเลือกตั้งประชาชนกลับมีตัวเลือกเพียงสองพรรคจริงๆแล้วสหรัฐฯก็มีพรรคทางเลือกเช่นกันส่วนใหญ่จะได้รับเลือกให้เข้าไปบริหารระดับท้องถิ่นเช่นพรรคกรีน, Libertarian Party, Reform Party เป็นต้น[3]

ถ้าหันมามองประเทศในแถบยุโรปจะเห็นได้ว่าพรรคทางเลือกมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลไม่น้อยเช่นสหราชอาณาจักรก็มีพรรคLiberal Democrat เป็นพรรคที่สามที่มีสัดส่วนที่นั่งในสภาสามัญชนเกือบ10% จากการเลือกตั้งในปีค.ศ. 2010 และทำให้พรรคอนุรักษ์นิยมได้เข้าไปเป็นรัฐบาลแทนพรรคแรงงานที่มีคะแนนเสียงมากกว่า

พรรคทางเลือกมักจะมีนโยบายที่แตกต่างจากพรรคใหญ่อย่างเห็นได้ชัด(ถ้าเห็นด้วยทั้งหมดคงไม่ขวนขวายที่จะตั้งพรรคใหม่) ส่วนใหญ่เป็นเพราะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างออกไป(สังคมนิยมหรือเสรีนิยม) หรือเรียกร้องในเรื่องที่พรรคใหญ่เมินเฉยหรือเป็นเรื่องที่กระทบคนกลุ่มน้อยในสังคมด้วยเหตุนี้พรรคทางเลือกส่วนหนึ่งจึงได้ชื่อว่าเป็น Single-Issue Party ชูนโยบายหลักอย่างเดียวพรรคทางเลือกเหล่านี้แม้จะไม่เคยจะมีโอกาสเข้าไปนั่งปริหารประเทศจริงๆจังๆแต่ได้ทิ้งร่องรอยทางการเมืองไว้มากมาย

ปัจจัยหนึ่งอาจเป็นเพราะพรรคทางเลือกมักเป็นพวก”หัวก้าวหน้า” มีวิสัยทัศน์ที่ไกลกว่าพรรคใหญ่เรื่องที่พวกเขาผลักดันก็อาจเป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่และพรรคใหญ่ยังไม่ตระหนักในตอนนั้นแต่ในเวลาต่อมาเรื่องนั้นอาจเป็นเรื่องที่มีความสำคัญระดับชาติก็ได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือนโยบายและข้อกฎหมายหลายอย่างที่คนอเมริกันทุกวันนี้คิดว่าเป็นเรื่องปกติไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งห้ามไม่ให้เด็กต้องทำงานลดชั่วโมงทำงานลงเหลือ40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือระบบประกันสังคมล้วนมาจากข้อเสนอต่างๆของพรรคทางเลือกในสหรัฐฯในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างศตวรรษที่19-20 ทั้งสิ้น พรรคเหล่านี้เป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างจากพรรคใหญ่ตัวอย่างเช่นพรรคSocialist [4]

อีกบทบาทหนึ่งของพรรคทางเลือกคือการเริ่มจากนโยบายใหม่เรื่องเดียวก่อนเช่นพรรคกรีนของเยอรมนีที่ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ.1980 โดยเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลักในปีค.ศ.1983 พรรคกรีนได้รับเสียงมากที่จะเข้าไปนั่งในสภาได้โดยไม่มีใครคาดคิดซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่คล้ายกับพรรคไพเรตเยอรมนีที่สามารถเข้าไปนั่งในสภารัฐท้องถิ่นของเยอรมันได้ในปีค.ศ. 2011

ปรากฏการณ์แบบนี้เป็นการปลุกพรรคใหญ่ให้ตื่นขึ้นมามองนอกกรอบความคิดของตนเองเมื่อพรรคเล็กที่เน้นนโยบายแค่เรื่องเดียวได้รับความสนใจจากประชาชนมากขนาดนั้นมันก็เหมือนเป็นสัญญาณเตือนให้พรรคใหญ่ได้รู้ว่านโยบายของตนนั้นบกพร่องในจุดใดบ้างสำหรับนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมของพรรคกรีนนั้นถือว่าประสบความสำเร็จในเยอรมนีมากตอนนี้พรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องมีนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ในกระเป๋า

แม้แต่การที่ประเทศอุตสาหกรรมอย่างเยอรมนีประกาศจะเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์แล้วหันมาใช้พลังงานทดแทนก็น่าจะถือได้ว่าเป็นอานิสงค์จากการรณรงค์และสร้างจิตสำนึกด้วยนโนบายของพรรคกรีนส่วนความสำเร็จพรรคไพเรตที่ทุกคนเคยมองด้วยความขบขันก็สามารถเปิดตาพรรคใหญ่ให้หันมาสนใจเรื่องเสรีภาพในโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

 ผู้นำพรรคเขียวเดินประท้วงต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปี 2008 ภาพโดย Paula Schramm

ผู้นำพรรคเขียวเดินประท้วงต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปี 2008 ภาพโดย Paula Schramm
ถ้าพรรคใหญ่เห็นดีกับนโยบายใหม่แล้วปรับนโยบายของตนให้เหมือนกับพรรคทางเลือกแล้วพรรคทางเลือกจะอยู่ได้ไหม? คำตอบน่าจะอยู่ที่ตัวพรรคทางเลือกเองมากกว่าพรรคที่มีนโยบายด้านเดียวอย่างเช่นพรรคกรีนน่าจะได้รับผลกระทบจากการถูก”กลืน” (co-opt) มากกว่าพรรคที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างจากพรรคใหญ่เช่นพรรคสังคมนิยมหรือเสรีนิยมแต่เราก็จะเห็นได้ว่าพรรคกรีนก็ยังคงอยู่มาถึงทุกวันนี้

นับเป็นเวลากว่า30 ปีแล้วแถมยังมีพรรคกรีนเพิ่มขึ้นในประเทศอื่นๆทั่วโลกรวมถึงในสหรัฐฯด้วยน่าจะเป็นว่าเพราะทางพรรคไมใช่แค่พรรคที่ชูนโยบายเดียวอีกต่อไปแต่มีนโยบายครอบคลุมมากขึ้นนอกจากนี้นโยบายในหลายๆด้านก็ยังมีความเป็นหัวก้าวหน้ามากกว่าพรรคอื่นๆในเยอรมนีอยู่ดีอาจจะเรียกได้ว่าพรรคกรีนได้สร้างอุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองขึ้นมาก็ว่าได้

สำหรับพรรคทางเลือกที่ถูกพรรคใหญ่ดูดกลืนนโยบายแล้วหายจากวงการเมืองไปเลยก็มีเช่นกันกรณีนี้ถือว่าพวกเขาล้มเหลวหรือไม่? ถ้าพรรคเหล่านี้ทำให้ประชาชนรวมทั้งพรรคการเมืองใหญ่หันมาสนใจในประเด็นที่เขายกขึ้นมาเสนอได้รวมทั้งนำประเด็นนั้นเข้าไปใส่ในนโยบายของพรรคหลักๆได้ก็ถือว่าพรรคทางเลือกนั้นได้บรรลุเป้าหมายแล้วแม้ว่าพรรคทางเลือกนั้นจะเสียฐานคะแนนไปในที่สุดก็ตาม
“Third parties usually lose the battle but, through cooptation, they win the war”
“พรรคทางเลือกมักจะแพ้ในสนามรบแต่เมื่อนโยบายถูกดูดกลืนก็ต้องถือว่าพวกเขาชนะสงคราม” [5]
เราจะสามารถสร้างกระแสจากพลังประชาชนเพื่อผลักดันพรรคการเมืองหลักแทนการก่อตั้งพรรคทางเลือกได้ไหม? แน่นอนว่าแรงขับเคลื่อนจากภาคประชาชนควรจะต้องเป็นแรงมีพลังมากที่สุดในการขับดันกำหนดและควบคุมการทำงานสภาถ้าภาคประชาชนมีความเข็มแข็งพอแลกกฏหมายเอื้ออำนวยพรรคทางเลือกก็คงไม่ต้องมาทำหน้าที่ผลักดันนโยบายใหม่ๆเข้าสู่สภา

แต่ถ้าเรากลับมุมคิดว่าพรรคทางเลือกอาจนำมาใช้เป็นกระบวนการสร้างความคิดทางการเมืองและการเคลื่อนไหวทางนโยบายนอกสภาให้กับภาคประชาชนได้เช่นกันเช่นการจัดประชุมร่างกฎหมายและนโยบายต่างๆกับฐานเสียงและบุคคลทั่วไปหรือแม้แต่การประท้วงต่อต้านนโยบายที่ไม่เห็นด้วยกิจกรรมเหล่านี้เป็นการพัฒนาการเมืองภาคประชาชนไปในตัว

การตั้งพรรคทางเลือกและการผลักดันการเคลื่อนไหวภาคประชาชนจึงเป็นสิ่งที่สามารถทำไปได้พร้อมๆกันโดยให้ทั้งสองกระบวนการสนับสนุนกันเอง[6]

ดังนั้นคำถามสุดท้ายอาจไม่ใช่คำถามที่ว่าเราจะผลักดันประเด็นทางเลือกด้วยการตั้งพรรคทางเลือกหรือสร้างความตระหนักในสังคมในประเด็นทางเลือกนั้นๆดีแต่อาจจะเป็นคำถามที่ว่าเราจะลงมือทำทั้งสองอย่างเมื่อไหร่และทำอย่างไร

อ้างอิง
[1] Sachs JD., The Price of Civilization, 2011.

ที่มา. Siam Intelligence Unit
////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น