--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ข้าว : อมตะนิยาย !!?

พรรคประชาธิปัตย์หยิบประเด็นการจำนำข้าวของรัฐบาลมาโจมตีรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ได้ถูกเรื่องถูกราวเป็น “ปมเด่น” ของฝ่ายค้านเรื่องหนึ่ง จนวงการค้าข้าวและนักวิชาการออกมาผสมโรงให้มีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อปนเป็นเนื้อเดียวกับวิธีโกง ที่จับได้ค่อนข้างยาก แต่มีตัวเลขเอามาหักล้างได้อย่างแนบเนียน ก็ยิ่งน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นไปอีก

ไม่ต่างกับข้าวหม้อหนึ่ง ถ้าให้ประชาชนไปนั่งนับว่ามีกี่เมล็ด ทุกคนมักส่ายหัว เพราะเบื่อไปนั่งนับทีละเม็ด ส่วนใหญ่จึงพูดเหมารวมแบบประมาณการ ซึ่งมีโอกาส ที่จะเถียงได้ตลอดเวลาว่า ตัวเลขไม่ตรงกับความเป็นจริง

แต่วิธีที่ “ซิกแซ็ก” ต่างหาก ที่ทำให้เชื่อได้ว่า การจำนำข้าวมีใคร กลุ่มไหนได้ประโยชน์จริง

แต่อ้างชาวนาเป็นเครื่องมือ!

ชัดแจ้งที่สุดคือ โรงสีกับผู้ส่งออก ไม่เคยมีใครเห็นว่า ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินหลังขดหลังแข็ง ร่างกายทนทุกข์ทรมาน แถมไม่เคยพลีชีพต่อสู้ กับสารเคมีเพื่อหวังจะได้ข้าวให้มากที่สุด

เพราะนั่นมันอมตะชีวิตของชาวนา ที่ลงท้ายเอาข้าวไปขายก็ถูกโรงสีเอาเปรียบ สารพัดโกงทั้งความชื้นหรือ “เศษกิโล” และส่วนเกินที่ข้าวติดค้างตามตัวเกวียนแต่ดันไปตกเรี่ยราดในโกดัง กลายเป็นส่วนได้ฟรีๆ ของเจ้าของโกดังหน้าตาเฉย

โรงสีและผู้ส่งออกมีเงินฝากแบงก์ไม่รู้กี่สิบบัญชี แต่ชาวนาเป็นหนี้ทั่วแผ่นดิน จนรัฐบาลต้องออกนโยบายพักหนี้ ต้องตั้งธนาคารเฉพาะกิจเพื่อให้ชาวนาไปกู้แล้ว เอาโฉนดไปค้ำทั่วประเทศ

โรงสีกับผู้ส่งออก ส่งลูกหลานไปเรียนเมืองนอก ว่างๆ ตัวเองก็บินไปเที่ยวทั่วโลก แต่ชาวนาต้องไปขุดดินหากบเขียด เขี่ยขี้วัวขี้ควายจับแมงกุ๊ดจี่กินแทนกับข้าว บ้านไหนอยู่ใกล้ชายป่าก็ต้องซอกแซกยิงสัตว์หาของป่ามากินประทังชีวิตอย่าง น่าสมเพชเวทนา

โรงสีกับผู้ส่งออกไม่เบื้อใบ้นิ่งเฉย วิ่งไปจับมือถือข้าราชการไว้เป็นเครื่องมือ ใช้ในยามติดขัดภาษี แถมไปนับญาติใกล้ชิดกับนักการเมืองทุกระดับเพื่อสร้างอิทธิพลทางอ้อมและมีอำนาจต่อรองกับนโยบายระดับชุมชนถึงระดับชาติ ดีไม่ดีมีทุนมากพอก็ส่งตัวเองหรือลูกหลานเข้าไปชิงพื้นที่ในวงการเมืองได้อย่างไม่ยากเย็น

เพ่งมองให้จะจะ ก็จะเห็นลูกหลานเจ้าของโรงสีและผู้ส่งออกหรือญาติใกล้ชิดเกี่ยวดองในแวดวงการเมืองกลาดเกลื่อนสายตา

นโยบายจำนำข้าว หรือประกันราคาข้าว ถ้าลงว่าตั้งใจจะโกงเสียอย่าง มันโกง ตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางได้พอๆ กันทั้งนั้น อย่ามาพูดเลยว่าวิธีไหนดีกว่ากัน

สำคัญอยู่ที่รัฐบาลชุดไหน จริงใจมีวิธีทำให้ชาวนาส่วนใหญ่หน้าตาสดใส ไร้หนี้สิน หายจากความเป็น “ทาสติดแผ่นดิน” ได้มากกว่ากันเท่านั้น

รัฐบาลชุดไหนสามารถ “ชิงชาวนา” ให้เป็นไท มีรายได้เลี้ยงครอบครัวมั่นคง มีข้าวปลาอาหาร มีเครื่องมือครบพร้อมเลี้ยงครอบครัวได้ตลอดชีวิต ออกมาประกาศ ตัวพร้อมกันทั่วประเทศนั่นแหละ มันถึงพิสูจน์ได้ว่านโยบายของรัฐบาลชุดนั้นได้รับ ความสำเร็จ

แต่ถ้าวิธีจำนำข้าว หรือประกันราคาข้าว ถูกหยิบมาใช้และเอาตัวเลขที่ต่างกัน มาวิพากษ์โต้เถียงแบบไม่มีใครยอมใคร มันก็อาจเป็นชนวน “ข้าวขัดแย้ง” เข้ามา แทนที่ความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อของแต่ละฝ่ายในทางการเมือง

เป็นม็อบความขัดแย้งวงใหม่ที่หาความสามัคคีในแผ่นดินไม่ได้ไปอีกนาน

คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ตำนานผู้รู้เรื่องข้าวดีที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยเคยพูดว่า พ่อค้าข้าวส่งออกไทยมีมากถึง 30-40 เจ้า แย่งกันประมูลข้าวจำนำในสต็อก แล้วแย่งกันขายส่งออกแบบตัดราคากันป่นปี้ ผู้ซื้อต่างชาติรายไหนก็หัวร่องอหาย กลายเป็น “อาหารหวานหมูของผู้ซื้อ”

ก็เลยเห็น “สัจธรรมข้าว” ว่า ชาวนาไทยเป็นเกษตรกรที่ระทมทุกข์ตลอดชีวิต เพราะถูกกดขี่ขูดรีดจากโรงสีและผู้ส่งออกมาเป็นทอดๆ จนวงการข้าวของ เมืองไทยเป็น “อมตะนิยายที่แสนเศร้าของแผ่นดิน” ไปชั่วนาตาปีนี่เอง!

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น