คอลัมน์: รู้จักอาเซียน
เวียดนามเป็นที่น่าจับตามองสุดในกลุ่มประเทศอินโดจีน จนกระทั่งประสบปัญหาเงินเฟ้อหนักในช่วงปีที่ผ่านมา โดยขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ร้อยละ 23 ในเดือน ส.ค.ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันเศรษฐกิจขยายตัวอย่างควบคุมไม่ได้ กระทรวงการวางแผนและลงทุนเวียดนาม เปิดเผยข้อมูลต่อกลุ่มผู้สื่อข่าวอบรมหลักสูตรอาเซียนของสมาคมนักข่าว
นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยกล่าวว่าปีนี้เวียดนามต้องคุมระดับเงินเฟ้อให้อยู่ในอัตราที่ไม่เกินร้อยละ 10 ให้ได้ และคาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะโตได้ที่ระดับ 5.4-5.7% ขณะที่ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับปี 2554-2558 เวียดนามคาดว่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยระหว่าง 7-7.5% และหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเข้าปี 2556
ปัญหาการคุมเงินเฟ้อเป็นเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลเวียดนามดูแลอย่างใกล้ชิด
แต่เวียดนามยังมีปัญหาภายในอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเปิดประเทศรับการลงทุนจากนักธุรกิจต่างชาติ พร้อม ๆกับการเรียกนักท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้ของประเทศ
ปัญหาที่เป็นอุปสรรคอย่างสูงต่อการทำธุรกิจและท่องเที่ยวในเวียดนามคือ เส้นทางคมนาคมและถนนหนทางในเวียดนามไม่เพียงพอ โดยเฉพาะถนนหลวงหมายเลข 1 ที่พาดกลางประเทศจากเหนือจดใต้ เป็นเส้นทางการเดินรถหลักของประเทศ ความยาว 2,289 กิโลเมตร จากประสบการณ์ตรงที่สัมผัสเส้นทางรถจากเมืองวินห์ (Vinh) จังหวัดเหงะอาน (Nghe An) ไปยังเมืองหลวงฮานอย ถนนมี 2 เลน และอยู่ในสภาพที่ส่งแรงสะเทือนสูงต่อทั้งคนและสินค้า ด้วยสภาพหลุมบ่อบนเส้นทาง ระยะทางราว 330 กิโลเมตร ใช้เวลา 6 ชั่วโมง จึงเป็นไปได้ยากที่จะพึ่งพาการคมนาคมทางบกในการขนคนและสินค้าในเวียดนาม
อุปสรรคอีกอย่างของการเดินทางท่องเที่ยวและติดต่อธุรกิจต่าง ๆ ในเวียดนามคือ ภาษา ชาวเวียดนามไม่นิยมพูดภาษาอังกฤษ หากไม่ใช่ย่านช็อปปิ้งที่นักท่องเที่ยวเดินขวักไขว่
ในเวียดนาม กระทั่งโรงแรม และสนามบิน ชาวเวียดนามก็ไม่เจนจัดนักในการสื่อสารภาษาอังกฤษ ธุรกิจบริการของเวียดนามดูท่าไม่ค่อยสดใส เมื่อพนักงานบริการไม่สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้
นายบุญรงค์ พงษ์เสถียรศักดิ์ อัครราชทูตไทย ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย บอกเล่าให้ฟังว่า การทำธุรกิจที่นี่ต้องฝ่าด่านสำคัญประการแรกคือ ภาษา เอกสาร ข้อมูล เว็บไซต์และการติดต่อใด ๆ กับทางการเป็นภาษาเวียดนามทั้งหมด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีที่ปรึกษาเป็นผู้เชี่ยวชาญรู้ภาษาเวียดนาม อีกทั้งการติดต่อกับภาครัฐยังมีอุปสรรค เนื่องจากมีหน่วยงานราชการของส่วนกลางและท้องถิ่นที่ทับซ้อนกันอยู่ และกฎระเบียบของเวียดนามเปลี่ยนแปลงบ่อย
ส่วนปัญหาใหญ่อีกประการที่นักธุรกิจต้องมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมในเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามประสบปัญหาพลังงานในประเทศไม่เพียงพอ โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทั้งประชาชนและภาคอุตสาหกรรมต่างต้องเผชิญปัญหาไฟดับ โรงงานอุตสาหกรรมต้องจัดคิวผลัดกันเดินเครื่องจักร
แต่จากต้นปีที่ผ่านมาเวียดนามประสบปัญหานี้น้อยลง อย่างไรก็ตามรัฐบาลเวียดนามได้บรรจุแผนในการพัฒนาพลังงานของชาติ โดยจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อรองรับภาวะขาดพลังงานในอนาคต แต่ก็เป็นแผนระยะยาว ซึ่งโครงการจะลุล่วงในอีก 30 ปีข้างหน้า
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น