โดย : กชพรรณ สุขสุจิตร์
เปิดหน้าใหม่ของกองทุนหมู่บ้านหลังการดำเนินงานมานานกว่า 10 ปีซึ่งวันนี้ เตรียมยกระดับสู่การเป็นกองทุนแห่งชาติ (Nation Fund)
ตั้งเป้าเพิ่มสมาชิกเป็น 20 ล้านคนใน 10 ปี โดยการดำเนินงานครั้งนี้จะพยายามลบจุดอ่อนในช่วงการบริหารที่ผ่านมา ในประเด็นที่ประชาชนไม่เข้าใจระบบการบริหารเชิงธุรกิจ จนเกิดภาวะงูกินหางจากการใช้หนี้กองทุน
การบริหารที่ผิดพลาดทั้งหมดจะจัดทำเป็นบทเรียนองค์ความรู้ผ่านสถาบันการเรียนรู้แต่ละหมู่บ้าน พร้อมเตรียมเสนอรัฐบาลปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนหมู่บ้าน ปี 2547 เสนอแนวคิดออกบัตรเครดิตกองทุนตรวจสอบการใช้เงิน เพื่อทำความรู้จักกับทศวรรษใหม่ของกองทุนหมู่บ้าน "กรุงเทพธุรกิจ" ได้สัมภาษณ์พิเศษ "นที ขลิบทอง" ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ถึงนโยบายการบริหารงานกับกองทุนหมู่บ้านยุคใหม่ ที่จะก้าวเข้าเป็นกองทุนแห่งชาติ
นที บอกว่า โครงการกองทุนหมู่บ้านซึ่งกำลังก้าวไปสู่การเป็นกองทุนแห่งชาติที่สามารถเชื่อมโยงเงินกองทุนระหว่างหมู่บ้านกับหมู่บ้านและพัฒนาไปสู่ระดับตำบลจนถึงจังหวัดได้ในอนาคต
แต่ก่อนการพัฒนาไปสู่กองทุนแห่งชาติ ภาพรวมของกองทุนหมู่บ้านเดิมก็ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขและเตรียมความพร้อม
โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบัน ยังถือว่าเป็นการลองผิดลองถูก เนื่องจากประชาชนยังไม่เข้าใจในเรื่องของระบบธุรกิจ ระบบการบริหารจัดการแต่จะเป็นไปในลักษณะของการสนิทสนม นับถือกันแบบพี่น้อง หรือสังคมแบบเกื้อกูล
"วิธีการของความไว้ใจสมาชิก ยืมเงินไปถึงเวลาเอาเงินมาชำระ ผู้รับชำระจะไม่ได้ทำเรื่องสัญญา เอกสาร ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน จะทำให้ตรงนี้ง่าย สะดวกคล่องตัว ถ้าไม่เกิดปัญหาก็แล้วไป แต่วันหนึ่งถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาไม่มีอะไรมายืนยัน ว่าฝ่ายใดจ่าย ฝ่ายใดรับ หรือดำเนินการเมื่อไรอย่างไร"
บทเรียนระยะเวลาของการลองผิดลองถูกต้องปรับปรุงในเรื่องของกระบวนการทางเอกสาร กระบวนการในระบบงาน ความรู้เชิงกฎหมาย เชิงบัญชี ซึ่งจะทำให้เกิดระบบที่เป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น ทำให้ระบบการเงินขยายตัวเพราะนั้นการมีแผนการลงทุน มีแผนการใช้การหมุนเวียนเงินต่างๆ ดังนั้น ระบบการทำงานระหว่างน้ำใจและการเอื้อเฟื้อกับการบริหารในเชิงธุรกิจต้องหาจุดสมดุลที่เหมาะสม
ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า จำนวนหมู่บ้านสมาชิกประมาณ 77,000 หมู่บ้าน มีกองทุนที่ไม่พร้อมและต้องติดตามอย่างใกล้ประมาณ 10% หมู่บ้านโดยเฉลี่ย 60% และหมู่บ้านที่เป็นตัวอย่างได้ 30%
ในส่วนของความรับผิดชอบของสมาชิกจำนวน 12,801,444 คน พบว่ามีหนี้ค้างชำระโดยเฉลี่ยไม่เกิน 10% สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไม่เกิน 5% ขณะที่การดำเนินคดีเป็นคดีความแพ่ง 5,084 คดี เป็นทุนทรัพย์ 84,096,624.62 บาท และคดีความอาญา 734 คดี ทุนทรัพย์ 213,127,500.66 บาท
การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปี 2554 มีการเพิ่มเงินประมาณแสนล้านบาท และมีเงินที่เพิ่มจากทั้งการระดมเงินออม ระดมเงินฝาก จากการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ของแต่ละกองทุนประมาณ 6 หมื่นล้านบาท แต่ก็มีสิ่งที่น่ากังวล คือ ภาวะงูกินหาง เพราะบางหมู่บ้านที่ภาพที่สวยหรูในแง่ของการบริหารเงินกองทุน แต่ที่มาของเงินมาจากการกู้หนี้นอกระบบมาชดเชย
"การไปกู้นอกระบบมาชดเชยไม่ใช่ความต้องการกองทุนหมู่บ้าน กองทุนหมู่บ้านต้องการเงิน 3-4 ล้าน 1-2 ล้าน ก็ได้ แต่ทุกคนมีความสุข สมาชิกอยู่ร่วมกันได้ เพราะฉะนั้น เราจะไม่ได้วัดค่าเงินอย่างเดียว แต่ค่าของเงินมีส่วนที่เห็น คือ เงินไม่สูญ คืออย่างน้อยคิดว่าเงินไม่สูญมีที่มาที่ไป ถือว่ารับได้ระดับหนึ่งส่วนการงอกเงยถึงไหนอย่างไรถือว่าเป็นเรื่องในพื้นที่เป็นเรื่องบริหารจัดการกันเอง แต่ก็เอามาดูประกอบ เรียกว่าเป็นมิติทางเศรษฐกิจ"
ดังนั้น สิ่งที่กองทุนต้องทำ คือ การสร้างองค์ความรู้และเตรียมความพร้อมให้กับหมู่บ้าน เพื่อนำไปสู่ระดับกองทุนแห่งชาติ (Nation Fund) จะผ่านบทเรียนกองทุนหมู่บ้าน เช่น ปัจจัยของหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว องค์ความรู้อาชีพ องค์ความรู้ที่ใช้บริหารจัดการ องค์ความรู้ในการแก้หนี้นอกระบบ องค์ความรู้ในการระดมทุนโดยจะจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้กองทุนหมู่บ้านซึ่งในเบื้องต้นมี 84 แห่ง ด้วยการจัดเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปี 2554 และจะขยายเพิ่มอีก 80 แห่ง ด้วยการจัดเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาราชินี ในปี 2556
พร้อมกันนี้ นทีกล่าวว่าได้วางแนวทางในการพัฒนากองทุนหมู่บ้านไว้ 3 แนวทาง คือ 1. การเพิ่มทุนล้านเพื่อการสร้างอาชีพซึ่งดูจากแผนของการขอกู้เงิน รวมถึงต้องการให้การเพิ่มทุนล้านใหม่นำไปสู่การสร้างประโยชน์ที่งอกเงยกลับมา แต่ต้องเสนอแผนของโครงการสร้างอาชีพ เช่น ส่งเสริมเรื่องอะไรในการพัฒนาอาชีพเอาเงินออกไปและความคุ้มค่า โดยเงินล้านใหม่จะเป็นการสร้างอนาคตไม่ใช้สร้างภาระในกระบวนการ
2. เปลี่ยนรูปแบบกองทุนหมู่บ้านจากกองทุนหมู่บ้านเพื่อสมาชิกกลายเป็นกองทุนหมู่บ้าน เป็นศูนย์บริการประชาชนซึ่งจะพยายามสร้างกองทุนหมู่บ้าน เช่น เชื่อมโยงกองทุนหมู่บ้านเป็นที่รับจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เพื่อเป็นการบริการประชาชน สร้างรายได้เกิดขึ้นกองทุนหมู่บ้านก็จะได้เปอร์เซ็นต์ จากการดำเนินการเหล่านี้
3. การต่อยอดสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน หรือยกระดับเป็นสถาบันการเงินชุมชนขับเคลื่อนการพัฒนากองทุนหมู่บ้าน โดยในปี 2554 สามารถทำได้ 950 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่ 1,128 แห่ง และมีเป้าหมาย คือ 7,400 แห่ง ทุกตำบล และถ้ามีความเข้มแข็งจะยกกิจกรรมไปสู่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดธนาคารประชาชน ธนาคารหมู่บ้านที่แท้จริงซึ่งจะเป็นบทบาทในอีก 10 ปีข้างหน้า และเชื่อว่าจะทำให้มีสมาชิกตามเป้าหมาย 20 ล้านคนได้
"วันนี้มีกองทุนพี่ กองทุนน้อง กองทุนน้องหากไปไม่รอด ต้องไปกู้เงินแบงก์ กองทุนน้องมากู้กองทุนพี่ จะได้ดูแลเงินที่หมุนเวียนอยู่ในหมู่บ้านด้วยกัน การที่จะกู้แบงก์ร้อยละ 6 มากู้กองทุนพี่ร้อยละ 5 สมมติมีเงินฝากแทนที่จะเอาเงินไปฝากร้อยละ 1 มาฝากเงินกองกลางร่วมกัน คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 หรือ 3 ก็ได้ และตัดส่วนต่างร้อยละ 3 ออกมาบริหารจัดการแทนที่จะคิดเป็นกองทุนจากเดิมร้อยละ 3 ให้สมาชิกกู้ร้อยละ 6 ส่วนต่าง 3 นั้นเป็นเรื่องของแต่ละกองทุน"
ขณะเดียวกัน การติดตามประเมินผลจะดำเนินการ ในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ เป็นการประเมินกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ โดยจัดทีมอำเภอ ประกอบด้วย กรมการพัฒนาชุมชนเพราะถือว่าเป็นภาคีข้อราชการ ผู้แทนของธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผู้แทนภาคประชาชนในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ สทบ. ร่วมประเมินในทุกหมู่บ้าน
ในส่วนของกฎหมายที่จะมารองรับการเปลี่ยนกองทุนหมู่บ้านเป็นกองทุนแห่งชาติหรือสถาบันการเงินชุมชนในระยะสั้นจะอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง พ.ศ. 2547 ที่มีช่องให้สามารถทำสถาบันการเงินชุมชนได้ก็จะแปลจาก พ.ร.บ.ตรงนี้ออกมาเป็นประกาศระเบียบรองรับให้ชัดเจนมาก ขณะที่ในส่วนของ พ.ร.บ.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง พ.ศ. 2547 มีหลายเรื่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมก็เตรียมเสนอรัฐบาล เพื่อปรับปรุงแก้ไขคาดว่าจะประมาณปี 2557 ที่จะรองรับกระบวนการกองทุนหมู่บ้านมากขึ้น ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการรวบรวมปัญหาและดูว่าความจำเป็นที่จะปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ในส่วนไหน
"คิดว่าปีหน้าในส่วนประกาศระเบียบรองรับต้องออกแล้ว อย่างช้าเลย ภายในปี 2556 และอาจต้องขึ้นทะเบียนสถาบันการเงินชุมชนว่าให้สถาบันการเงินชุมชนมีใบอนุญาต ใบรับรองการมีทะเบียนสถาบันการเงินหรือกองทุนหมู่บ้าน"
ในส่วนงบมาประมาณในการยกระดับกองทุนแห่งชาติ (Nation Fund) จะใช้เงินรวมประมาณ 2 แสนล้านบาท มาจากเงินตั้งแต่การดำเนินงานช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่รัฐบาลให้หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ใน 77,000 หมู่บ้าน รวมเป็น 77,000 ล้านบาท และมีการเพิ่มทุนอีกในรัฐบาลที่ผ่านมา รวมกับดอกเบี้ยต่างๆ รวมกับที่รัฐบาลจะเพิ่มทุนให้อีก 80,000 ล้านบาท ทำให้มีงบประมาณในส่วนที่จะดำเนินการ 200,000 ล้านบาท โดยรูปแบบของกองทุนแห่งชาติจะเป็นเสมือนธนาคารชุมชน สามารถให้กู้โดยคิดดอกผล ค่าธรรมเนียมจะกลับเข้าสู่หมู่บ้าน
นอกจากนี้ นทียังมีแนวคิดในการออกบัตรกองทุนในลักษณะบัตรเครดิตให้กับสมาชิกกองทุนเพื่อการเชื่อมโยงหรือใช้ประโยชน์ เช่น ซื้อของในเครือข่ายร้านของเราได้ในราคาถูก เพราะในอนาคตจะสร้างกองทุนหมู่บ้านมีร้านค้าชุมชนเข้ามาร่วม รวมถึงเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของบัตร เช่น ออกบัตร 12.8 ล้านใบ และสามารถอ่านค่าของการหมุนเวียนเงิน อ่านค่าการชำระของการเอาเงินออกเอาเงินเข้าได้ สามารถรู้ว่าใครไม่ชำระคืน ใครกู้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าตรงนี้ ก็จะแก้ปัญหาได้โดยจะตรวจสอบจากบัตร เป็นแผนในช่วง 10 ปีนี้
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น