กลุ่มประเทศในภูมิภาคอุษาคเนย์เรามีความผูกพันกันมาอย่างแน่นแฟ้น เหมือนน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า มานานนับพันปี แม้บางครั้งอาจมีทะเลาะเบาะแว้งกันก็ตามประสาลิ้นกับฟัน แต่สำหรับในยุค ที่ดินแดนอุษาคเนย์แห่งนี้มีความจำเป็น จะต้องเกาะเกี่ยวกันเป็นกลุ่มเพื่อให้เกิด ขุมกำลังในการเจรจาต่อรองทางการค้า จนก่อให้เกิดความร่วมมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งในเรื่องดังกล่าว ได้รับการตอบรับจากทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี
ในด้านของรัฐบาลเองก็ตระหนังถึงข้อนี้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศที่เพิ่งออกมาเปิดเผยถึงแผนงาน ตามนโยบายที่ทำมาตลอด 1 ปีที่ผ่านมา นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถึง นโยบายเร่งด่วนคือการแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าเมียนมาร์, กัมพูชา, ลาว หรือมาเลเซีย ในภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างกันดีขึ้น ในส่วนของความสัมพันธ์ ไทย-เมียนมาร์ มีการเปิดด่านแม่สอด-เมียวดี มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ที่สำคัญที่สุดคือ เอ็มโอยูว่าด้วย การพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวายและพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เชื่อมอีสเทิร์นซีบอร์ดหรือแหลม ฉบังของไทยกับเวสเทิร์นซีบอร์ดคือท่าเรือ น้ำลึกทวายของเมียนมาร์ นายกรัฐมนตรีจะนำรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปเยือนเมียนมาร์ ในช่วงวันที่ 19-21 กันยายนนี้
สำหรับประเทศลาวก็ได้เริ่มหารือเพื่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 หลังจาก คาดว่าสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 จะเปิดใช้ งานได้ในเดือนธันวาคมปีนี้ ส่วนเวียดนาม ก็จะจัดประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมระหว่างสองประเทศอีกครั้งในราวเดือนตุลาคมปีนี้ นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังได้มีการจัดเสวนา หัวข้อ สัมมนาเรื่อง “การแก้ไขปัญหาเขตแดนไทย-เมียนมาร์ และไทย-ลาว”..เพื่อเป็นช่องทางให้เราได้มีความรู้ความเข้าใจในประเทศเพื่อนบ้านได้ดียิ่งขึ้น
“เนวิน บุญประเสริฐ” เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาและกระบวนการ แก้ไขปัญหาเขตแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจังหวัดเชียงรายก็มีลักษณะ พิเศษที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านถึงสองประเทศ คือเมียนมาร์และลาว จึงถือเป็นโอกาสของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะหา ทางร่วมมือในการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะแนวเขตชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่เปรียบเหมือนมรดกที่สืบทอดมาจากการจัดทำสนธิสัญญา และการปักเขตแดนระหว่างสยามกับอังกฤษ และสยามกับฝรั่งเศส ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วยปลายคริสต์ศตวรรษที่19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20
เบื้องต้นพบว่า การใช้ประโยชน์ของ ชายแดนได้เพิ่มมากขึ้นในขณะที่ความชัดเจนของแนวเขตแดนมิได้พัฒนาขึ้นในสัดส่วนที่เท่าเทียมกันจึงจะมีความไม่แน่ชัดอยู่บ้าง จึงทำให้เกิดข้อพิพาทในเรื่อง เขตแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน หลายต่อหลายครั้งยังความเสียหายแก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภาพรวมทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง นอกจากนี้ ภายในประเทศยังคงได้ใช้ปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนเป็นเครื่องมือในการโจมตีให้ร้ายกันในทางการเมือง ทำให้เกิดความบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลอีกด้วย
กระทรวงต่างประเทศได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้จึงได้พยายามผลักดันปัญหาเขตแดนออกจากปัญหาความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ ซึ่งก็ได้จัดทำโครงการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านให้ชัดเจนเป็นที่ยอมรับระหว่างกัน ซึ่งหากโครงการดังกล่าว สำเร็จก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริม ความร่วมมือข้ามแดนระหว่างไทยกับประเทศ เพื่อนบ้านในทุกๆ ด้าน อันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการรองรับการรวมตัวกันของประชาคมเศรษฐกิจ ASEAN ในปี2015
ในด้านของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เมียนมาร์ ไม่มีการเสวนาในหัวข้อเรื่อง “พัฒนาการความสัมพันธ์ไทย- เมียนมาร์ ปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหา เขตแดน”
“พิษณุ สุวรรณะชฎ” เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ กล่าวว่า การที่นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีของเมียนมาร์ มาเยือนไทยเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มีนัยยะสำคัญ เป็นการเน้นย้ำว่าเมียนมาร์ให้ความสำคัญกับไทย อีกทั้ง ในการหารือ ข้อราชการระหว่างผู้นำ มีหลายเรื่องที่เป็น ประโยชน์มากมาย เช่น การเปิดด่านหลาย แห่ง การแก้ไขปัญหาเขตแดนที่ตั้งอยู่บน โครงการด้านเศรษฐกิจที่มีประโยชน์ต่อเมียนมาร์ ไทย และภูมิภาคนี้โดยรวม คือ โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายที่เป็นอนาคตของภูมิภาคนี้ เพราะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่าง มหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย และเชื่อมโยงกับมหาสมุทรแอตแลนติก โดยมีไทยและเมียนมาร์เป็นศูนย์กลาง ทำให้ มีผลประโยชน์ต่างๆ ติดตามมามากมาย
ใน 3 ปีข้างหน้า เมียนมาร์จะมีพัฒนาการในหลายด้านเกิดขึ้น โดยในปีหน้า เมียนมาร์จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ซึ่งจะเปิดตัวนครเนปิดอว์ให้โลกได้รู้จักผ่านงานนี้ แต่การที่เมียนมาร์ จะประสบความสำเร็จในการจัดการแข่งขันนี้ได้ ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากไทย และในปี2557 เมียนมาร์จะเป็นประธานอาเซียน ซึ่งเขายังต้องการให้ ไทยสนับสนุนและร่วมมือเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการเป็นประธานอาเซียน ต่อมาในปี 2558 เมียนมาร์จะมีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งผลจากการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ การพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาเมืองใหม่ และผลจากการเป็นประธานอาเซียน จะเป็นตัวสร้างคะแนนนิยมให้กับรัฐบาล เมียนมาร์ในการเลือกตั้ง
ดังนั้น 3 ปีนี้ ถือเป็นปีทองของไทย เพราะเมียนมาร์ขาดไทยไม่ได้ เราจึงมั่นใจ ได้ว่าจะประคับประคองความสัมพันธ์กับไทย ขณะที่ไทยต้องการพัฒนาความสัมพันธ์กับเมียนมาร์อยู่แล้ว ตนยังไม่เห็น ว่าความสัมพันธ์ไทย-เมียนมาร์ใน 3 ปีข้างหน้าจะเป็นไปในทางลบได้อย่างไร ตนจึงเห็นว่าถ้าใครอยากจะไปทำอะไรในเมียนมาร์ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ขอให้รีบทำ มิฉะนั้นถ้าทำหลังจาก 3 ปีดังกล่าวแล้ว จะเจอคู่แข่งมากมาย และสิ่งที่คิดว่าจะทำ เป็นธุรกิจในเมียนมาร์ได้จะกลายเป็นเรื่อง ยากมากขึ้น ขณะที่เรื่องเขตแดนก็เช่นกัน ควรรีบทำในช่วงโอกาสทองนี้ เพราะทั้ง 2 ฝ่ายมีนโยบายและวิสัยทัศน์ที่แน่ชัดในการทำทุกอย่างเพื่อรองรับกับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เจริญก้าวหน้า
“วศิน ธีรเวชญาณ” ประธานคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-พม่า กล่าวในประเด็นการดำเนินการแก้ไขปัญหาชายแดน ไทย-เมียนมาร์ ว่า ไทย-เมียนมาร์มีเขต แดนยาวทั้งสิ้น 2,401 กิโลเมตร มีการปักปันมานาน 150 ปี มีการทำความตกลง กัน 9 ฉบับ ขณะที่การจัดตั้งคณะกรรมการเจบีซีไทย-เมียนมาร์ มีการประชุมมาแล้ว 6 ปี ตั้งแต่ปี 2536 กระทั่งหลังปี 2548 ได้ว่างเว้นไป สำหรับสาเหตุที่ทำให้ติดขัดนั้น มีทั้งปัญหาภายในของแต่ละประเทศ และการที่เราพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะการทำเขื่อนป้องกัน ตลิ่ง และการเปลี่ยนทางน้ำในแม่น้ำเมย จึงกินเวลาของเจบีซีฯไปส่วนหนึ่ง แต่ก็พยายามทำบันทึกความเข้าใจในการจัดทำ หลักเขตแดน อย่างไรก็ตาม เมื่อเมียนมาร์ สามารถจัดการสภาพภายในประเทศได้ดีขึ้น เขาจึงขอจัดการประชุมเจบีซีฯ ครั้งที่ 7
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา เริ่มจากการเจรจากับฝ่ายเมียนมาร์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องประนีประนอม หรือการแก้ไขโดยสันติ หรือ วิธีสุดท้ายคือการให้บุคคลที่สามมาช่วยแก้ปัญหา อีกทั้งต้องแยกปัญหาเขตแดน ออกจากความสัมพันธด้านอื่นๆ เช่น ด้าน การค้าการลงทุน และต้องไม่ให้เรื่องเขต แดนเป็นเรื่องการเมือง แต่ต้องใช้เหตุผลและข้อมูลทางวิชาการมาพูดคุยหรือแก้ไข ขณะเดียวกัน แนวทางปฏิบัติภายในประเทศ นั้น ขอให้เจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่ช่วยดูแลหลักเขตแดนหรือหลักอ้างอิงเขตแดน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเดิน ของแม่น้ำ ซึ่งถ้าพบว่าเกิดความเสียหายหรือความผิดปกติ ขอให้แจ้งต่อกรมแผนที่ ทหาร หรือกองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมายทันที ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งต่อกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอให้รวบรวมรายชื่อบุคคลที่อยู่ใกล้กับเส้นแขตแดน เพื่อนำคนเหล่านี้มารับการอบรมเป็นอาสาสมัครช่วยดูแลเส้นเขตแดนให้มีความเรียบร้อย เพราะเส้นเขต แดนเป็นเรื่องสำคัญต่อทุกคน นอกจากนี้ทางราชการควรพิจารณาให้มีการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับภาคเอกชนที่อยู่ประชิด แนวเขตแดน ทั้งนี้ ถ้าเป็นไปได้ขอให้เว้นระยะจากเส้นเขตแดนออกไป 100-200 เมตร ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล
“ดุลยภาค ปรีชารัชช” อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง การทำความเข้าใจเรื่องเขตแดนนั้น เราต้องดูที่กองทัพเมียนมาร์ที่เป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องนี้ด้วย ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญของเมียนมาร์ที่โยงเรื่องเขตแดน คือ เมียนมาร์มีความละเอียดอ่อน ในเรื่องของเขตแดน มีกลุ่มชาติพันธุ์มาก มายที่เป็นเจ้าของแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีการต่อรองผลประโยชน์ในการแบ่งพื้นที่การปกครองหรือพื้นที่พัฒนาซึ่งคร่อมเขตแดน กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยบางส่วนเป็นพื้นที่รัฐซ้อนรัฐ ชนกลุ่มน้อยจึงเข้ามามีบทบาทในการแบ่งเขตแดน ขณะเดียวกัน โครงสร้างการเมืองของเมียนมาร์จะเปิดโอกาสให้มีสภาในภูมิภาค ดังนั้น การแก้ปัญหาเขตแดนต้องไม่มองข้ามคนที่อยู่ในตะเข็บชายแดนที่เป็นชนชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น อาข่า ไทยใหญ่ ว้า เป็นต้น ซึ่งในอนาคต เสียงของคนกลุ่มนี้จะดังมากขึ้น
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่าประเทศ ไทย-ลาว ได้มีการพูดกันในหัวข้อ “พัฒนา การความสัมพันธ์ไทย-ลาว ปัจจัยสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาเขตแดน”
“วิทวัส ศรีวิหค” เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) กล่าวว่า การแก้ปัญหาเส้นเขตแดนนั้น ต้องประสาน ทำงานร่วมกันตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นไปถึง ระดับสูง อย่าให้ผู้นำ 2 ประเทศไปติดอยู่ที่ยอดมะพร้าว อย่าให้มีการตอบโต้กันผ่าน สื่อ เหมือนกับกรณีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กับสมเด็จฯ ฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา อีกทั้งเมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับเขต แดน เราไม่ควรให้มีการถ่ายทอดสดการอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องนี้ในรัฐสภาของไทย ออกอาอากาศทางโทรทัศน์ เพราะประชาชน ในประเทศเพื่อนบ้านสนใจติดตามรับชมมากกว่าคนไทย นอกจากนี้ เราต้องมองปัญหาในหลากหลายมิติประกอบกัน จะทำให้มีทางเลือกมากขึ้นในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ อีกทั้งเราต้องปรับจังหวะและเรียนรู้ชีพจรของประเทศเพื่อน บ้าน เพราะเมื่อเป็นประชาคมเดียวกันเหมือนกับการอยู่ในครอบครัวเดียวกันแต่ ไม่รู้จักกัน แล้วจะเป็นประชาคมได้อย่างไร
นอกจากนี้ เราต้องมองให้ไกลเกินกว่าระดับทวิภาคีเพื่อเสริมสร้างผลประโยชน์ ร่วมในกรอบความร่วมมือต่างๆ และทำให้ ไทยได้รับประโยชน์ รวมถึงส่งผลให้เราไม่มองตัวเองว่าเรารวยหรือดีกว่าเขา ทั้งนี้ จากการที่ตนเข้าพบกับนายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีของลาว จึงทราบว่าท่านอยากให้มีการปักปันเขตแดนให้เสร็จพร้อมกับไทย ซึ่งตนคิดว่าคนที่ยืนอยู่ข้างรั้วย่อมสำคัญกว่าคนที่อยู่ในรั้วเสมอ และ ต้องยึดสันติสุขเป็นที่ตั้ง อีกทั้งในระดับรัฐบาลไม่ควรคิดไปมุ่งแข่งขันกับใคร อย่า ไปชิงรักหักสวาทกับประเทศใด เพราะเมื่อประเทศอื่นจับมือกันได้ เขาจะเอาไทย เข้าร่วมกลุ่ม จึงควรปล่อยให้เป็นเรื่องของ ภาคเอกชนที่มีการแข่งขันกันทางธุรกิจอยู่แล้ว ส่วนการให้ความช่วยเหลือกับประเทศอื่นๆ นั้น ไทยมักออกข่าวล่วงหน้า และมีการให้ข่าวหลายครั้งมากเกินไปซึ่งทำให้ประเทศที่เป็นผู้รับรู้สึกอาย ฝ่ายไทย จึงไม่ควรทำเช่นนี้อีก นอกจากนี้ ของไทย มักให้ของช่วยเหลือโดยไม่ถามถึงสิ่งที่ประเทศนั้นๆ ต้องการ และบางครั้งยังให้เป็นของมือสองหรือตกรุ่นแล้ว เช่น มีบางองค์กรที่มอบคอมพิวเตอร์ตกรุ่นไปหลายปีแล้วให้กับโรงเรียนของลาว
“วศิน ธีรเวชญาณ” กล่าวอีกครั้งในฐานะ ประธานคณะเจ้าหน้าที่อาวุโส ภายใต้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-ลาว (ฝ่ายไทย) กล่าวถึงโครง การสำรวจและจัดทำเขตแดนไทย-ลาว ว่า ตอนนี้มีปัญหาที่ไทยค้างอยู่กับฝ่ายลาว 17 บริเวณ เป็นจุดที่ค่อนข้างแก้ไขยาก ซึ่งแบ่งปัญหาได้เป็น 4 กลุ่ม คือ 1.สันปันน้ำ ถูกทำลาย 2.ทั้ง 2 ฝ่ายต่างอ้างแนวสันปันน้ำต่างกัน เช่น ที่ช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี 3.ปัญหาสันปันน้ำในภูมิประเทศไม่สอดคล้องกับแผนที่ มี 7 แห่ง เพราะไปสำรวจแล้วพบว่าจริงๆ ไม่มีสันปันน้ำที่ยอดเขาที่ 4.ปัญหามวลชนในพื้นที่ต่อต้าน การสำรวจและปักหลักเขตแดน เช่น ทุ่งหนองบัว จ.อุบลราชธานี ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ไปสำรวจซึ่งบางครั้งเป็นเหตุผลเรื่องความรักชาติ จึงต้องใช้วิธีพยายามทำความเข้าใจกับชาวบ้านแม้จะต้องใช้เวลานาน อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อมีข้อพิพาทในกรณีเขตแดนไทย-ลาว เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยค่อนข้างอะลุ้มอล่วย เพราะไม่อยากให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่ฝ่ายลาวกลับเข้มงวด จึงคิดว่าควรทำตามกฎหมาย โดยคิดถึงผลประโยชน์ร่วมกันและมีความสันติสุขอยู่บน พื้นฐานความถูกต้อง
ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น