“โกร่ง” มองหลังเปิดเออีซี แบงก์ไทยเสียเปรียบแข่งขันเงินฝากไหลไปแบงก์ต่างประเทศ แนะปรับให้สอดคล้องกัน พร้อมประเมินผลงานผู้ว่า ธปท.แต่อุบไม่เปิดเผย "บัณฑิต" ชี้ผู้ประกอบการไทยหาประโยชน์จากการเปิดเออีซี
นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานปาฐกาพิเศษเรื่อง “เพิ่มพลังขีดแข่งขันรับบริบทใหม่ AEC” ว่า หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 จะเกิดการไหลของปริมาณเงินฝากไปยังสถาบันการเงินต่างประเทศที่ไม่มีภาษีเงินฝาก ทำให้สถาบันการเงินไทยเสียเปรียบการแข่งขัน
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี เช่น ภาษีเงินปันผล ซึ่งหากไทยยังมีอัตราภาษีสูง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ไม่มีภาษี ทำให้เงินไหลไปลงทุนในประเทศที่ไม่มีภาษี เช่น ในฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย แม้ว่าขณะนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยจะได้ปรับลดเหลือ 23% ในปี 2555 และเหลือ 20% ในปี 2556 และจะมีการพิจารณาเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งปัจจุบันมีอัตราภาษีสูงถึง 37% ก็ต้องเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนเพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่างกันมากด้วย
“ข้อแตกต่างด้านกฎระเบียบของแบงก์ไทยและแบงก์ในอาเซียนจำเป็นจะต้องทำให้สอดคล้องกัน เพื่อลดความได้เปรียบเสียเปรียบทางด้านการแข่งขัน แต่เชื่อว่าที่ประชุมธนาคารกลางอาเซียนคงมีการหารือในเรื่องนี้กันมามากแล้ว” นายวีรพงษ์ระบุ
พร้อมกันนี้ นายวีรพงษ์ยังเปิดเผยภายหลังการประชุม กกธ.เพื่อประเมินผลการทำงานของนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ว่า เรื่องนี้ถือเป็นความลับ คงไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แต่โดยภาพรวมส่วนตัวอยากเห็น ธปท.เป็นองค์กรขุมทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคและนโยบายการเงิน ที่สามารถอธิบายต่อสาธารณชนได้ชัดเจน โดยเฉพาะในการดำเนินนโยบายการเงิน เพราะเป็นเกียรติภูมิที่สำคัญของ ธปท.
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมไทยที่ได้โอกาสจากการเปิด AEC คือกลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากตลาดที่ใหญ่ขึ้น ทำให้สามารถส่งออกได้มากขึ้น แต่กลุ่มที่เสียโอกาส คือเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่เสียเปรียบอยู่แล้วและจะเสียเปรียบมากขึ้น คือกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เนื่องจากต้องแข่งขันกับประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่มีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว
นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันบริษัทไทย เปิดเผยว่า ในโอกาสที่จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 นี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไทยจะได้หาตลาดใหม่ๆ ในการลงทุน ซึ่งผู้ประกอบการขนาดใหญ่นั้นไม่ค่อยน่าเป็นห่วงนักในเรื่องของความพร้อมสำหรับการหาประโยชน์จากเออีซี แต่ผู้ประกอบการขนาดเล็กนั้นค่อนข้างน่าเป็นห่วง
“ส่วนตัวคิดว่าเออีซีจะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์ แต่ก็มีความกังวลในเรื่องของผู้ประกอบการขนาดเล็กที่อาจจะไม่สามารถแสวงหาโอกาสจากการเปิดเออีซีได้ เนื่องจากความไม่พร้อม ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กจะต้องหันมาให้ความสนใจกับการยกระดับผลิตภัณฑ์ และพัฒนาองค์กรให้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถแข่งขันได้”
นายพิชัย ชุณหวชิร นายกสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนถ้าจะให้ดี ไทยกับประเทศในกลุ่มอาเซียนจะต้องร่วมมือกันทำการค้า และเปิดตลาดร่วมกัน ดีกว่าที่จะแสวงหาประโยชน์จากการค้ากันเองภายในกลุ่ม โดยตลาดที่ใหญ่และใกล้อาเซียนอย่างจีน กำลังอยู่ในช่วงดำเนินการพัฒนาและยกระดับพื้นที่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้อย่างในมณฑลกานซู กวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้.
ที่มา.ไทยโพสต์
____________________________________________________________________________
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น