คลังเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีรอบใหม่เพิ่มความแข็งแกร่งรับเออีซี หลังพบข้อมูลบริษัทขนาดเล็ก 2.7 ล้านรายได้รับการสนับสนุนไม่ตรงจุด
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมศึกษามาตรการในการเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่จะพุ่งเป้าไปที่เอสเอ็มอีมีขนาดเล็กจริงๆ เช่น ธุรกิจห้องแถวและวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น ซึ่งฐานข้อมูลใหม่เกี่ยวกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น พบว่ามีถึง 2.7 ล้านรายจาก 3 ล้านรายทั่วประเทศที่เป็นเอสเอ็มอี
ขนาดเล็ก โดยการสนับสนุนเอสเอ็มอีขนาดเล็กดังกล่าวถือเป็นการเตรียมพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558
ทั้งนี้ นายอารีพงศ์ กล่าวว่า ในอดีตกระทรวงการคลังมักจะผลักดันให้ธนาคารเฉพาะกิจออกมาตรการต่างๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่ก็มักใช้ไม่ได้ผล ทำให้การพัฒนาและขับเคลื่อนเอสเอ็มอีไทยให้มีศักยภาพแข่งขันสูงขึ้น ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จึงสั่งให้รวบรวมข้อมูล และมาตรการต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้ให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการเหล่านั้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม 4 กลุ่มที่ได้ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ คือ สิ่งทอ ยางพารา รถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์
โดยอุตสาหกรรมสิ่งทอนั้น แม้จะมีสัดส่วนการส่งออกไม่มาก เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือยานยนต์ แต่อุตสาหกรรมสิ่งทอมีการว่าจ้างงานแรงงานจำนวนมากที่สุดในอุตสาหกรรมทั้ง 4 กลุ่ม ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องแรงงานที่จะตกงานมากขึ้น เพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤติยุโรป กระทรวงการคลังจึงหารือกับภาคเอกชนและสถาบันการเงินว่า กลุ่มเอสเอ็มอีควรต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะอัตราจ้างแรงงานมีมากที่สุด
นายอารีพงศ์ กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลที่กระทรวงการคลังรวบรวมเบื้องต้นพบว่า ผลผลิตที่สร้างจีดีพีให้แก่ประเทศไทยทุกวันนี้ มาจากบริษัทที่มีขนาดใหญ่ถึง 63% มีเพียง 37% เท่านั้นที่มาจากธุรกิจเอสเอ็มอี แต่เอสเอ็มอีมีการว่าจ้างแรงงานสูงถึง 80-90% ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ ลักษณะโครงสร้างผลผลิตเช่นนี้เอง ทำให้ช่วงที่ผ่านมากระทรวงการคลังไม่สามารถยกระดับเอสเอ็มอี
ให้มีขนาดใหญ่โตขึ้นได้ จึงจำเป็นต้องวางแผนโดยออกมาตรการใหม่ ที่จะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มผลผลิตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีสัดส่วน 50% เท่ากับผู้ประกอบการรายใหญ่
"เราวางเป้าหมายให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องแข็งแกร่งและสามารถขยายธุรกิจ เพื่อรองรับกับอนาคตที่กำลังเกิดขึ้นได้ ถ้านับจำนวนบริษัทใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีเพียง 500 บริษัท มีการจ้างงานแค่ส่วนเดียวเท่านั้น ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีอยู่ถึง 3 ล้านรายทั่วประเทศมีการจ้างงานจำนวนมาก ในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคลไม่ถึง 3 แสนราย ที่เหลือกว่า 2.7 ล้านราย เป็นผู้ประกอบการประเภทบุคคล เช่น ร้านขายก๋วยเตี๋ยว หาบเร่แผงลอย ธุรกิจห้องแถวและโรงกลึง เป็นต้น ส่วนเครื่องมือทางด้านเงินที่จะใส่เข้าไปใหม่รอบนี้ จะต้องมีความเข้าใจถึงตัวผู้ประกอบการด้วย"
ขณะเดียวกัน นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการคลังเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่ธนาคารออมสิน ระบุว่า มีลูกค้าที่เข้าข่ายพักหนี้ตามนโยบายของรัฐบาลเพียง 3.7 แสนราย จากข้อมูลที่แจ้งในครั้งแรกว่า มีลูกค้าของธนาคารออมสินเข้าข่ายพักหนี้ดีสูงถึง 8 แสนราย เพื่อให้ทราบว่า ลูกหนี้ส่วนที่หายไปดังกล่าว ไม่ได้รับสิทธิในการเข้าโครงการพักหนี้ดีเพราะอะไร
ทั้งนี้ แม้โครงการดังกล่าวจะปิดตัวไปแล้วเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่หากพบว่าจำนวนลูกหนี้ที่ถูกตัดไปนั้น เสียสิทธิเข้าโครงการเพราะการบริหารข้อมูลผิดพลาด ทางกระทรวงการคลังก็จะต้องดำเนินการต่อไปในการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว
"จากการติดตามข้อมูลพบว่า ผู้บริหารของธนาคารออมสินไม่สนใจเรื่องนี้ เพราะไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อเจรจากับลูกค้าของธนาคาร แตกต่างจาก ธ.ก.ส.ที่ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ เพื่อแนะนำให้ลูกค้าให้เข้าร่วมโครงการผลงานจึงออกมาดีกว่าธนาคารออมสินมากมาย" นายทนุศักดิ์ให้ข้อมูล
นายทนุศักดิ์ ระบุว่า โครงการพักหนี้ลูกหนี้ เป็นนโยบายของพรรคที่ใช้ในการหาเสียง ซึ่งถือเป็นโครงการที่ดี เพราะลูกหนี้ที่เข้าร่วมการโครงการจะมีเงินเหลืออยู่ในกระเป๋าเพิ่มขึ้น และสามารถนำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ลงทุนในกิจการใหม่หรือขยายกิจการเดิมให้กว้างขวางมากขึ้น โดยไม่มีการตัดสินการขอสินเชื่อใหม่จากธนาคารพาณิชย์
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น