สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ร้อนของยูโรโซน มีหลายเหตุการณ์สำคัญที่จะชี้ชะตาการคลายปมวิกฤติหนี้ 17 ชาติยุโรป
สัปดาห์นี้ เป็นสัปดาห์อันตรายสำหรับยูโรโซน เนื่องจากเต็มไปด้วยเหตุการณ์สำคัญๆ ที่อาจส่งผลต่อการแก้ไขวิกฤติหนี้สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการพิพากษาของเยอรมนี การลงคะแนนของเนเธอร์แลนด์ การตรวจสอบของไอเอ็มเอฟ และผู้คุมกฎระเบียบของเบลเยียม
วันพุธที่ 12 กันยายน เป็นวันที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นกำหนดที่ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีจะตัดสินว่า กองทุนถาวรช่วยเหลือยูโรโซน หรือที่รู้จักกันในนาม กลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (อีเอสเอ็ม) เป็นกองทุนที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ก็จะเปิดเผยรายละเอียดแผนการสำหรับสหภาพธนาคารยูโรโซน และเนเธอร์แลนด์จัดการเลือกตั้งทั่วไป
จากนั้น ในวันศุกร์ที่ 14 กันยายน คณะรัฐมนตรีคลังยุโรปจะประชุมร่วมกันที่ไซปรัส เพื่อหาทางขจัดความเห็นแตกต่างเกี่ยวกับการกำกับดูแลธนาคาร และความเป็นไปได้ที่จะให้ความช่วยเหลือพิเศษแก่ สเปน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของยูโรโซน และกรีซ ประเทศต้นตอการเกิดวิกฤติ
การตัดสินใจเกี่ยวกับสเปน และกรีซ มีแนวโน้มว่าจะยังไม่เกิดขึ้นก่อนเดือนตุลาคม แต่การเจรจาของเหล่ารัฐมนตรีคลังอาจมุ่งประเด็นว่า สเปนจะขอความช่วยเหลือจากยุโรปหรือไม่ แลกกับเงื่อนไขที่ไม่พึงประสงค์และการกำกับดูแล และอีกประเด็น คือ คณะผู้ตรวจสอบของสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มีแนวโน้มช่วยให้กรีซอยู่รอดต่อไปหรือไม่
ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ยุโรป ต้องกลั้นใจรอคำตัดสินของศาลเยอรมนี ซึ่งมีอำนาจมากพอที่จะชี้ชะตาอีเอสเอ็ม และข้อตกลงรักษาวินัยงบประมาณ แม้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายส่วนใหญ่คาดว่า ศาลเยอรมนีจะอนุญาตให้เดินหน้าจัดตั้งกองทุนอีเอสเอ็ม แต่ก็เชื่อว่าจะต้องมีเงื่อนไขอย่างเข้มงวดสำหรับการให้ความช่วยเหลือในอนาคต
ผลการตัดสิน อาจทำให้นายกรัฐมนตรี "แองเกลา แมร์เคิล" แห่งเยอรมนี ทำอะไรไม่ถนัดนัก หรืออย่างน้อยก็ทำให้การสนับสนุนแผนการช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบากขึ้น ดูจากการต่อต้านของสาธารณชนต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในการซื้อพันธบัตรของประเทศที่มีความสุ่มเสี่ยง
หากศาลรัฐธรรมนูญคัดค้านอีเอสเอ็ม ก็จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดพันธบัตรและเงินตรา ทำให้ยูโรโซนประสบความยุ่งยากมากขึ้น จากความเคลือบแคลงถึงการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกทางตอนใต้ที่แบกภาระหนี้สินก้อนโต
แต่หากศาลรัฐธรรมนูญ เปิดไฟเขียวแบบมีเงื่อนไข ก็อาจสร้างทำให้การบริหารจัดการวิกฤติซับซ้อนขึ้น โดยเงื่อนไขอาจเป็นการให้สิทธิวีโต้แก่รัฐสภา ในการให้ความช่วยเหลือแต่ละครั้ง หรือกำหนดเพดานความรับผิดชอบของเยอรมนี ต่อภาระหนี้สินของประเทศอื่นๆ ในยูโรโซน
ผลสำรวจความเห็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ ประมาณ 1 ใน 4 คาดว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะระบุว่า การรวมตัวของยุโรปมาถึงจุดที่กฎหมายพื้นฐานของเยอรมนีกำหนดไว้แล้ว การผนึกกำลังใดๆ ที่ลึกซึ้งขึ้นจะต้องผ่านการลงประชามติสำหรับรัฐธรรมนูญใหม่
ด้านเนเธอร์แลนด์ ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้จะลงเอยด้วยอัมพาตทางการเมือง หรือรัฐบาลต้องตกเป็นทาสของกลุ่มระแวงยูโรซ้ายจัดหรือขวาจัด ซึ่งจะทำให้การสนับสนุนจากรัฐสภาในการช่วยเหลือยูโรโซนในอนาคตเป็นเรื่องแทบเป็นไปไม่ได้
แต่การสำรวจความเห็นล่าสุด พบว่า พรรคลิเบอรัลสายกลางขวา ของนายกรัฐมนตรีรักษาการ "มาร์ก รัทเทอ" และพรรคแรงงานสายกลางซ้าย มีคะแนนสูสีกัน ขณะที่เสียงสนับสนุนพรรคประชานิยมซ้ายจัดและต่อต้านผู้อพยพ มีกระแสแผ่วลง บ่งชี้ว่าเนเธอร์แลนด์อาจได้รัฐบาลผสมที่สนับสนุนยุโรป
ถึงอย่างนั้น อาจต้องใช้เวลานานหลายเดือนในการเจรจา ก่อนที่เนเธอร์แลนด์จะมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม ก่อให้เกิดข้อสงสัยถึงความสามารถของประเทศแห่งนี้ ในการที่จะตกลงใดๆ ต่อขั้นตอนการรวมยูโรโซนใกล้ชิดยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน ข้อเสนอจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลธนาคารร่วมโดยอิงจากอีซีบี และระบบแก้ปัญหาธนาคารในอนาคต ที่ "โฮเซ มานูเอล บาร์รอสโซ" ประธานอีซี จะเปิดเผยรายละเอียดในวันพุธนี้ (12 ก.ย.) มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว
เยอรมนี ซึ่งต้องการสงวนสิทธิควบคุมธนาคารของรัฐ และธนาคารออมทรัพย์ ยืนยันว่า อีซีบี ควรกำกับดูแลเฉพาะธนาคารข้ามชาติชั้นนำ 25 ราย และปล่อยที่เหลือให้เป็นหน้าที่ของผู้ควบคุมกฎระเบียบในประเทศ โดย "วูล์ฟกัง ชอยเบิล" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเยอรมนี กล่าวว่า อีซีบี ไม่สามารถดูแลธนาคารทั้งหมด 6,000 แห่งทั่วยูโรโซน
แต่อีซี และอีซีบี ต้องการคณะกรรมการกำกับดูแลชุดใหม่ที่มีอำนาจสอดส่องผู้ปล่อยกู้ทั้งหมด และมีแนวโน้มว่านายธนาคารส่วนใหญ่จะเห็นพ้องด้วย
สถานการณ์ของยูโรโซนจะไปในทิศทางใด อีกไม่กี่วันนี้ก็จะได้รู้กัน
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น