ศาลจึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายชื่อนายพัน คำกอง ตายที่หน้าสำนักงานขายคอนโดมิเนียมชื่อไอดีโอ คอนโดฯ ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง
เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเกิดจากการถูกลูกกระสุนปืนขนาด.223 (5.56 mm.) จากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงคราม ที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ตู้ หมายเลขทะเบียน ฮค 8516 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหมทอง เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตายในขณะเจ้าพนักงานกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ ปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
...หลังเหตุการณ์สงบลง มีเจ้าพนักงานทหารหลายนายถืออาวุธปืนเอ็ม 16 เดินไปดูที่รถยนต์ตู้ ไม่มีลักษณะของความเกรงกลัวหรือระวังตัวว่าจะถูกคนร้ายลอบยิงหรือทำร้าย ทั้งๆที่ฝ่ายเจ้าพนักงานทหารอ้างว่ามีการถูกระดมยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่ก่อนเกิดเหตุ
...ขณะเกิดเหตุบริเวณดังกล่าวไม่มีประชาชนผู้ชุมนุม ไม่มีผู้ใดเห็นชายชุดดำที่มีอาวุธปืน มีเพียงผู้สื่อข่าวจากสำนักพิมพ์ต่างๆและเจ้าพนักงานทหารเท่านั้น นอกจากนี้ ร้อยเอกเกริกเกียรติ...เบิกความว่า บริเวณที่เกิดเหตุไม่มีชายชุดดำ และช่วงเกิดเหตุไม่มีใครกล้าเข้ามา...
นี่คือข้อความบางช่วงบางตอนที่ถือเป็นไฮไลท์ในการตัดสินชี้สาเหตุการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง อาชีพขับแท็กซี่ แนวร่วมของคนเสื้อแดงที่มาร่วมชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาคืนอำนาจให้แก่ประชาชน
คำสั่งของศาลชัดเจนว่า
1.นายพัน คำกอง ตายจากการยิงของทหาร
2.ไม่มีชายชุดดำ
3.ไม่มีการยิงเอ็ม 79 ใส่เจ้าหน้าที่ขณะกระชับพื้นที่ในบริเวณที่เกิดเหตุ
4.ไม่มีผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ
5.อาวุธที่ทหารใช้เป็นปืนที่ใช้ในราชการสงคราม และปืนที่ส่งมาให้ตรวจพิสูจน์ได้ถูกเปลี่ยนแปลงสภาพไปแล้ว
หลังจากกรณีของนายพัน คำกอง แล้วศาลจะทยอยชี้สาเหตุการตายของผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงออกมาอีกหลายกรณีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งบางกรณีใกล้เสร็จสิ้นแล้ว
ทั้งหมดที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งให้ตำรวจทำสำนวนชันสูตรพลิกศพใหม่เพื่อเข้าสู่กระบวนการไต่สวนของศาลมีทั้งสิ้น 36 ศพ ที่ดีเอสไอชี้ว่าน่าจะเกิดจากฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ
ทุกคดีน่าจะรู้ผลภายในสิ้นปี 2555 นี้
และเมื่อก้าวขึ้นสู่ศักราชใหม่ในปี 2556 ประวัติหน้าใหม่ของการเสียชีวิต 98 ศพ บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ในการชุมนุมของประชาชนเมื่อปี 2553 และประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองไทยจะถูกเปิดขึ้นและเขียนบันทึกลงไปใหม่
เป็นบันทึกที่เป็นข้อสรุปทางคดี ผ่านการพิจารณาของศาล ไม่ใช่บันทึกที่เขียนจากผู้ถืออำนาจรัฐ ที่ปั่นเรื่องขึ้นมาใส่ร้ายประชาชนเหมือนอย่างที่ผ่านมา
นายพัน คำกอง มีภรรยาชื่อนางหนูชิต คำกอง มีลูก 4 คน หลังการเสียชีวิตของสามีซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัว นางหนูชิตตัดสินใจพาลูกๆกลับไปใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรทำนาที่บ้านเกิดจังหวัดยโสธร
“ดีใจที่ผลการไต่สวนออกมาเช่นนี้ และหวังว่าคดีนี้ซึ่งเป็นคดีไต่สวนการตายคดีแรกจะเป็นมาตรฐานให้กับคดีอื่นๆด้วย”
เป็นถ้อยคำจากนางหนูชิต ที่ไม่ลืมทวงถามความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตรายอื่นหลังทราบผลการตัดสินของศาล
เมื่อศาลชี้ออกมาอย่างนี้ ขั้นตอนต่อไปพนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งข้อกล่าวหา “ฆ่าคนตาย” กับผู้ก่อเหตุ ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่รัฐ
แต่เรื่องนี้มีข้อกฎหมายอาญา มาตรา 70 เกี่ยวข้อง ดังนั้น ทหารที่ปฏิบัติภารกิจในวันเกิดเหตุถือเป็นการทำตามคำสั่ง จึงอาจไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 70
เข้าตำรารู้สาเหตุการตาย รู้คนทำให้ตาย แต่เอาผิดไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ในระดับสั่งการอาจต้องหนาวๆร้อนๆกับคำสั่งศาลในคดีนี้ และอีกหลายคดีที่จะตามมา เพราะมีญาติผู้เสียชีวิตไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้ออกคำสั่งใน ศอฉ. ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บ
คดีนี้ต้องตั้งสำนวนสอบสวนแยกออกไปต่างหาก แนวทางการสอบสวนจะดูที่เจตนาในการออกคำสั่งว่ามีเจตนาหรือเป้าประสงค์ที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตตามบทบัญญัติกฎหมายอาญา มาตรา 59 หรือไม่
หากเล็งเห็นเจตนาก็จะถูกตั้งข้อกล่าวหาฆ่าคนตายโดยเจตนา ส่งสำนวนให้อัยการฟ้องศาลต่อไป
แน่นอนว่าผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือผู้มีอำนาจสั่งการสูงสุดใน ศอฉ.ซึ่งก็คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ.
และไม่ใช่เพียงกรณีของนายคำพัน คำกอง เท่านั้น แต่ยังมีสำนวนคดีพยายามฆ่า และฆ่าคนตายโดยเจตนาอีกกว่า 2,000 คดี ตามจำนวนผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต ที่รอให้นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และผู้เกี่ยวข้องต้องพิสูจน์ตัวเองในชั้นศาล
ความจริงกำลังไล่ล่า ใครทำอะไรไว้ต้องรับผิดชอบ
ที่มา.หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น