วีรพงษ์.มองการแก้ปัญหา"อีซีบี" แค่อัดฉีดสภาพคล่อง ยังไม่โดนภาคเศรษฐกิจจริง ด้านแบงก์ชาติประเมินสถานการณ์ส่อเลวร้ายลง อีซีบีต้องงัดแผนนี้
นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า การประกาศแผนเข้าซื้อพันธบัตรประเทศต่างๆ ที่มีปัญหาในกลุ่มยูโรโซนของอีซีบีนั้น เป็นเพียงการแก้ปัญหาในเรื่องสภาพคล่องทางการเงินให้กับกลุ่มประเทศเหล่านี้เท่านั้น ยังไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ภาคเศรษฐกิจแท้จริง ดังนั้นจึงเป็นเพียงการแก้ปัญหาแค่ระยะสั้น
"วิธีนี้ไม่ได้ช่วยเหลือให้ประเทศที่มีปัญหาสามารถแข่งขันได้ ไม่ได้ช่วยเหลือให้เขาหายขาดจากการขาดดุล จะช่วยก็เพียงเรื่องสภาพคล่องแบงก์เท่านั้น แล้วจะช่วยได้ซักกี่น้ำ เพราะมันไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่เรียลเซ็กเตอร์ เป็นแค่การแก้ปัญหาการเงิน"นายวีรพงษ์ กล่าว
เขากล่าวด้วยว่า วิธีแก้ปัญหาที่เด็ดขาด คือ ต้องให้ประเทศที่มีปัญหาออกจากกลุ่มยูโรโซนไป เพื่อที่ประเทศเหล่านั้นสามารถใช้อัตราแลกเปลี่ยนของตัวเอง และใช้กลไกเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เขาสามารถขายของได้ เหมือนกับที่ประเทศไทยเคยทำ
ด้านนางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า การที่อีซีบีประกาศแผนเข้าซื้อพันธบัตรของประเทศต่างๆ ในกลุ่มยูโรโซนแบบไม่จำกัดจำนวนนั้น โดยส่วนตัวมองว่าเป็นเพราะอีซีบีเห็นว่าสถานการณ์เลวร้ายลง ทางออกที่ทำได้ คือ การเข้าซื้อพันธบัตรเหล่านี้เพื่อให้ต้นทุนอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง อย่างไรก็ตามวิธีนี้เชื่อว่าเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ธปท. กล่าวว่า การตัดสินใจของอีซีบีในครั้งนี้คงทำให้ภาพรวมตลาดการเงินดีขึ้น เพราะอย่างน้อยก็เห็นทางออกของปัญหา แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อเนื่อง เพราะการช่วยเหลือของอีซีบีเองก็มีเงื่อนไขว่า ประเทศที่จะให้อีซีบีเข้าซื้อพันธบัตร จะต้องลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินของยุโรป(ESFS) ด้วย
สำหรับประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือ จะมีการกำหนดเงื่อนไขในการปฎิบัติว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว ดังนั้นแล้วจึงต้องติดตามดูว่า ประเทศที่จะขอให้อีซีบีเข้าซื้อพันธบัตรนั้น จะยอมรับเงื่อนไขเหล่านี้ได้หรือไม่ และถ้ายอมรับได้ ก็ต้องตามดูด้วยว่าจะสามารถปฎิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดได้มากน้อยเพียงใด
"ปัญหายุโรปเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งระยะเวลาในการแก้ปัญหาคงยาวแน่นอน ส่วนการที่อีซีบีประกาศแผนนี้ออกมา อย่างน้อยก็ทำให้ตลาดเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น เพียงแต่ยังต้องติดตามดูการแก้ปัญหาในระยะต่อไปว่า จะเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งแบงก์ชาติเองก็มองไว้อยู่แล้วว่า ปัญหานี้คงไม่จบลงโดยเร็ว"นางจันทวรรณ กล่าว
นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนของอีซีบีที่ประกาศออกมาถือว่าเป็นเรื่องดี อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เพราะถ้าอีซีบีไม่ดำเนินมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งอาจทำให้กลุ่มยูโรโซนเกิดปัญหาร้ายแรงขึ้นได้ในอนาคต
"ผมว่าที่อีซีบีประกาศแผนนี้ออกมาเพื่อป้องกัน สเปน และ อิตาลี ไม่ให้เกิดปัญหา เพราะทั้ง 2 ประเทศมีขนาดเศรษฐกิจค่อนข้างใหญ่ถ้าเกิดอะไรขึ้นอาจทำให้ยูโรโซนทั้งกลุ่มแย่ไปด้วย ซึ่งแผนนี้อย่างน้อยถ้ากรีซไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณาของกลุ่มทรอยก้า จนเกิดการ Default(ผิดนัดชำระหนี้) ขึ้น ก็จะมีแค่กรีซรายเดียวที่เป็นปัญหา" นายบันลือศักดิ์ กล่าว
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น