--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555

ปิ่น จักกะพาก ราชานักเทคโอเวอร์ รีเทิร์น .. !!?


ปิ่น จักกะพาก พ่อมดการเงิน-ราชานักเทคโอเวอร์ รีเทิร์นไทย หลังคดีหมดอายุความ แบงก์ชาติรับเอาผิดไม่ได้

ปิ่น จักกะพาก ราชานักเทคโอเวอร์ ซุ่มเงียบกลับไทย หลังต้องลี้ภัยอยู่อังกฤษนานกว่า 15 ปี ผลพวงอาณาจักรฟินวันมูลค่ากว่าแสนล้านบาทต้องล่มสลายจากฟองสบู่ "ตลาดหุ้น-อสังหาฯ" แตก ด้านแบงก์ชาติยอมรับคดีหมดอายุความ ไม่สามารถเอาผิดได้ ขณะที่ผู้บริหารคนอื่นๆ ใน บง.เอกธนกิจ คดีสิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์ เหตุอัยการตัดสินใจไม่ส่งฟ้อง แต่ยังมีสำนวนคดีค้างอีกมาก แต่หลายคดีต้องจำหน่ายออกไปเพราะนำผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีไม่ได้


ปิ่น จักกะพาก อดีตกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทเงินทุน (บง.) เอกธนกิจ ฉายา "พ่อมดการเงิน" ในยุคฟองสบู่ ได้เดินทางกลับมาประเทศไทยได้ราว 1 สัปดาห์ หลังจากต้องลี้ภัยจากคดีความไปอยู่อังกฤษเป็นเวลาเกือบ 20 ปี เนื่องจากคดีหมดอายุความ

สาทร โตโพธิ์ไทย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกฎหมายและคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าคดีที่ ธปท. กล่าวโทษต่อ นายปิ่น ได้หมดอายุความไประยะหนึ่งแล้ว ดังนั้นแม้ว่า นายปิ่น จะกลับมาประเทศไทย ธปท.ก็ไม่สามารถดำเนินการเอาผิดกับนายปิ่นได้

ส่วนผู้บริหารคนอื่นๆ ของ บง.เอกธนกิจ ที่ ธปท. กล่าวโทษไปนั้น ในอดีตศาลชั้นต้นตัดสินให้ ธปท. เป็นผู้ชนะคดี แต่ต่อมาผู้บริหารเหล่านี้ขอยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ตัดสินให้คดีตกไป ในขณะที่อัยการเองก็ตัดสินใจไม่ส่งฟ้องต่อศาลฎีกา ทำให้คดีความสิ้นสุดลงไปตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

สำหรับคดีความอื่นๆ ที่ ธปท. อยู่ระหว่างฟ้องร้องนั้น ปัจจุบันมีหลายคดี โดยส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 ซึ่งปัจจุบันมีทั้งที่อยู่ในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ขณะเดียวกันก็มีหลายคดีที่ยังไม่เริ่มดำเนินการฟ้องร้อง เนื่องจากไม่สามารถนำตัวผู้บริหารที่กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้ จึงต้องมีการจำหน่ายคดีออกไปก่อน
ทั้งนี้คดีนายปิ่น หมดอายุความเมื่อต้นปี 2555

@ย้อนอาณาจักรแสนล้าน "ราชาเทคโอเวอร์"

ปิ่น ถือเป็นตำนานที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ เพราะได้รับฉายา "ราชานักเทคโอเวอร์" โดยได้สร้างสีสันให้กับวงการตลาดทุนในยุคเฟื่องฟูเมื่อก่อนปี 2540 ซึ่งช่วงนั้นตลาดหลักทรัพย์บูมสุดขีด ดัชนีทะยานขึ้นไปถึง 1,700 จุด
ปิ่น จักกะพาก ถือว่าเป็นนักการเงินที่รุ่งสุดๆ ในยุคก่อนฟองสบู่แตก หลังจากที่เขาเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย จากประเทศสหรัฐอเมริกา ก็เดินทางกลับประเทศไทยในปี 2516 ทำงานที่ธนาคารเชสแมนฮัตตัน กรุงเทพฯ ตำแหน่งรองประธาน ตั้งแต่ปี 2516-2522 นาน 7 ปี

หลังจากนั้นก็เข้ามาทำงานที่บริษัทเงินทุนยิบอินซอย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือญาติทางมารดา ที่กำลังเกิดปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง ปิ่นจึงถูกทาบทามให้เป็นกรรมการผู้จัดการ ในเวลาต่อมา หลังจากนั้นก็ชื่อจาก บริษัทเงินทุนยิบอินซอย เป็น บริษัทเงินทุน เอกธนกิจ หรือที่เรียกติดปากกันในยุคนั้นว่า "ฟินวัน " ซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนยักษ์ใหญ่ที่แวดวงการเงิน-การลงทุนในช่วงนั้นต้องจับตามอง เพราะยุทธศาสตร์การสยายปีกของกลุ่ม ฟินวัน ภายใต้การนำของ ปิ่น จักกะพาก นั้นจะใช้วิธีการครอบงำกิจการหรือเทคโอเวอร์ กิจการที่มีปัญหา จนทำให้ขนาดสินทรัพย์ของฟินวันในช่วงนั้นสูงสุดในระบบบริษัทเงิน จนปิ่นได้ฉายาว่าเป็น "พ่อมดการเงิน" ในเวลาต่อมา

การขยายกิจการของกลุ่มเอก ในยุคนั้น เริ่มต้นจากการเข้าซื้อ บล.โกลด์ฮิลล์ ที่กำลังประสบปัญหาการเงิน ด้วยราคาหุ้นละ 25 บาท ใช้เงินทั้งสิ้น 10 ล้านบาท ซึ่งถูกวิจารณ์กันมากว่าสูงเกินความจำเป็น แต่หลังจากนั้นเพียง 3 ปี เมื่อนำหุ้น บล.โกลด์ฮิลล์ ที่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น บล.เอกธำรง เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ราคาหุ้นได้พุ่งสูงสุดถึงหุ้นละ 500 บาท ในปี 2529

หลังจากนั้นก็เข้าเทคโอเวอร์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ และเปลี่ยนชื่อให้เข้ามาอยู่ในกลุ่มเอกด้วยกัน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ ศรีไทย ถูกเปลี่ยนเป็น บริษัทหลักทรัพย์เอกเอเชีย, บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงทอง เปลี่ยนเป็น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอกสิน และ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนานันต์ ถูกเปลี่ยนเป็น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอกธนา รวมถึงสถาบันการเงินอื่น ๆ ฯลฯ โดยส่วนใหญ่สถาบันการเงินที่ถูกเทกโอเวอร์เหล่านี้เป็นสถาบันการเงินที่กำลังมีปัญหาฐานะการเงิน

@สยายปีกยกระดับอาณาจักรฟินวัน

การสยายปีกของฟินวัน ในยุคนั้นไม่ได้หยุดเพียงแค่กลุ่มไฟแนนซ์ เท่านั้น แต่ปิ่น ยังมองไกลไปกว่านั้น ด้วยการยกระดับ บริษัทเงินทุนเอกธนกิจ เป็นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งช่วงนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดช่องให้บริษัทเงินทุนที่มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ยกระดับขึ้นเป็นธนาคารได้ ช่วงนั้นแม้ "ปิ่น" จะบริหารกิจการฟินวันจนประสบความสำเร็จ มีการขยายสร้างอาณาจักรอย่างรวดเร็ว มีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง แต่ ปิ่น รู้ดีว่า หากยังไม่สามารถเข้าซื้อกิจการธนาคารให้ได้สักแห่ง กิจการก็ยังถือว่าอยู่แนวหลังของธุรกิจธนาคารไทย

ดังนั้น เขาจึงพุ่งเป้าไปที่ธนาคารไทยทนุ ซึ่งเป็นธนาคารอันดับ 12 ของประเทศ โดยอาศัยสายสัมพันธ์กับ พรสนอง ตู้จินดา กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารไทยทนุ ซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนและเป็นอดีตผู้บริหารของซิตี้แบงก์ ในช่วงนั้นผู้บริหารหนุ่มไฟแรง ทั้งปิ่นและพรสนอง ต่างก็มีความเชื่อเหมือนกันว่า "ฟินวัน" จะทำให้ ธนาคารไทยทนุ ที่บริหารแบบอนุรักษนิยมกลับมีพลังขึ้นมาได้

โดยในเดือนม.ค. 2539 ทั้ง 2 สถาบันการเงินก็มีความตกลงร่วมกัน จนสร้างความฮือฮาให้กับแวดวงการเงิน โดยฟินวันจะเข้าซื้อหุ้น 20% ของธนาคารไทยทนุเป็นมูลค่า 3.4 พันล้านบาท นับเป็นข้อตกลง ที่ได้รับการสนับสนุนไปทั่ว แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังผ่อนปรนข้อกำหนด ที่จำกัดสัดส่วนการถือครองหุ้นของธนาคารให้กับเอกชนเพียง 5% โดยถือว่าสถาบันการเงินของไทยจะต้องเติบโตมากขึ้นก่อน ที่เปิดเสรีการเงิน ซึ่งการเข้าไปถือหุ้นดังกล่าว ดูเหมือนว่า พ่อมดทางการเงิน กำลังจะผงาดขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจการเงินของเมืองไทย แต่สุดท้ายก็ต้องล่มสลายในที่สุด

หลังจากเกิดเหตุการณ์เงินบาทถูกโจมตีเป็นระลอกใหญ่จากภายนอกประเทศ ในช่วงเดือนก.พ. 2540 จนส่งผลกระทบภาพรวมระบบสถาบันการเงินไทย จนในที่สุดธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งปิดแค่ 16 สถาบันการเงิน ในเดือนมี.ค. 2540 โดยมีรัฐค้ำประกันเงินฝาก แต่เมื่อไม่ปรากฏชื่อของบริษัทเงินทุนยักษ์ใหญ่อย่าง บง.เอกธนกิจ ของนายปิ่น จักกะพาก อย่างไรก็ตาม ในช่วงนั้นฐานะการเงินสำรองของประเทศอ่อนแอลงเรื่อยๆ จากการถูกโจมตีค่าเงิน จนสุดท้ายก็ต้องประกาศลดค่าเงินบาทในวันที่ 2 ก.ค. 2540

@ล่มสลายพร้อมวิกฤติเศรษฐกิจ


ข่าวลือการสั่งปิดกิจการสถาบันการเงินเกิดขึ้นเป็นระลอกหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ตามด้วยการถอนเงินจากสถาบันการเงินใหญ่ๆ จนขาดสภาพคล่อง และลุกลามสู่การแห่ถอนเงินครั้งใหญ่ ในระบบสถาบันการเงิน จนกระทั่งคลอนแคลน และนำไปสู่การต้องปิดสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นอีก 42 แห่ง รวมเป็น 58 แห่ง ในเดือนส.ค. 2540 ตามข้อเสนอของไอเอ็มเอฟ เพื่อตัดทิ้งเนื้อร้ายและเพื่อหยุดการแห่ถอนเงิน DEPOSIT RUN ในระบบสถาบันการเงินไทย

เวลานั้นอาณาจักรของ "เอกธนกิจ" ขยายตัวใหญ่จนเกือบจะก้าวกระโดดขึ้นเป็น "MEGA FINANCE COMPANY" กลับต้องล่มสลายลงไป กับสินทรัพย์ที่เสียหายกว่าแสนล้านบาท รวมทั้งความล้มเหลวของแผนการควบกิจการ กับธนาคารไทยทนุ ต่อมาได้ส่งผลเป็นโดมิโน ให้การหาผู้ร่วมทุนจากธนาคารต่างชาติของธนาคารไทยอีก 4 แห่ง ถึงกับล้มเหลวตามไปด้วย

ผลพวงที่ตามมาธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เป็นโจทก์กล่าวโทษอดีตผู้บริหารบง.เอกธนกิจเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2541 ต่อมาพนักงานอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องนายปิ่น เป็นผู้ต้องหาที่ 1 นายเติมชัย ภิญญาวัฒน์ ผู้ต้องหาที่ 2 นายสำราญ กนกวัฒนาวรรณ ผู้ต้องหาที่ 3 ซึ่งนายปิ่นได้เดินทางออกนอกประเทศก่อนที่จะมีการกล่าวโทษ ขณะที่ ผู้ต้องหาอีก 2 รายได้เข้ามอบตัวและประกันตัวออกมา สุดท้ายศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา 2 คนหลัง สู้คดีในต่างแดน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวัน ที่ 12 ธ.ค. 2542 ตำรวจอังกฤษจับกุมตัว "ปิ่น" ผู้ต้องหาคดีความผิดฐานร่วมกับพวกยักยอกทรัพย์และความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 วงเงินค่าเสียหาย 2,127 ล้านบาท โดย "ปิ่น" หลบหนีออกจากประเทศไทยตั้งแต่ปลายปี 2541

ต่อมา วันที่ 27 ก.ค. 2544 ศาลอุทธรณ์ประเทศอังกฤษพิพากษาให้ “ปิ่น” พ้นจากการควบคุมตัวในคดีที่ทางการไทยขอให้ส่งตัวกลับประเทศ ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน เพื่อดำเนินคดีข้อหายักยอกทุจริตและฉ้อโกงทรัพย์ในประเทศไทย
วันที่ 14 ส.ค. 2544 อัยการอังกฤษแจ้งว่าในคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน "ปิ่น" ไม่สามารถจะอุทธรณ์ไปยังศาลสูงอังกฤษได้ เนื่องจากในชั้นศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาพิจารณาแต่ประเด็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งตามกฎหมายอังกฤษการจะอุทธรณ์ไปยังศาลสูงสุดได้ต้องเป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่สำคัญต่อคดีเท่านั้น คดีนี้จึงถือว่ายุติลง

ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นที่ปรึกษาให้แก่นักลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์ต่างๆ ในอังกฤษและยุโรป เขาได้รับการยอมรับพอควรหลังจากการหลุดพ้นข้อกล่าวหา และล่าสุดมีข่าวว่านายปิ่นเดินทางกลับประเทศไทยได้ราว 1 สัปดาห์ หลังคดีหมดอายุความ

ที่มา.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น