เป็น “ชะตากรรม” ที่แขวนไว้บน เส้นด้ายของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ...ท่อร้อยสายพันคอนเน็กชั่นจากขั้วประชาธิปัตย์ ในพลันคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ ทำการไต่สวน “สุเทพ” ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่งตั้ง ส.ส.ประชาธิปัตย์ จำนวน 19 คน เข้าช่วยราชการในกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำและ ป.ป.ช.มีมติด้วย “เสียงข้างมาก” ชี้มูลความผิดว่า “จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย” ตามความในมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 วรรค 1 พร้อมเสนอ ผลต่อ “วุฒิสภา” เพื่อลงมติถอดถอน “สุเทพ” ให้พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ตาม “มาตรา 271” ซึ่งขั้ว ส.ว.ได้กำหนดวัน ชี้ชะตากันไปแล้วในวันที่ 18 กันยายนนี้
ขณะที่ “สุเทพ” ออกตัวแก้ลำ! แถสีข้างว่า “ความผิดยังไม่สำเร็จ” เพราะเป็นแค่ “ข้อปรึกษา” ที่ส่งไปยังกระทรวงวัฒนธรรมเท่านั้น อีกทั้งก่อนหน้านี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยกคำร้อง นี้ไปแล้ว กระนั้นทาง ป.ป.ช.ยังคงกินดีหมี ไล่เบี้ยเอาผิด “อดีตเลขาธิการ ปชป.” จนถึงที่สุด ว่ากันตามกติกา! การถอดถอนให้พ้น จากตำแหน่ง ส.ส.ของวุฒิสภา รัฐธรรมนูญ กำหนดว่า ต้องมีคะแนนเสียง “ไม่น้อยกว่า 3 ใน 5” ดังนั้นสัดส่วนในการถอดถอนวัดได้จากยอด 146 เสียง หรือต้องได้แต้ม โหวต 88 เสียงขึ้นไป
หากดูจากผลโหวตเลือกรองประธาน วุฒิสภาที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า “ขั้วสภาสูง” ที่สนับสนุนตัวแทนของ “ส.ว.สรรหา” มี ส.ส.ภาคใต้ กับ ส.ส.สายพันธมิตรฯ มีอยู่ 74 เสียง ขณะที่อีก 69 เสียงสนับสนุนตัวแทนจาก “ส.ว.เลือกตั้ง” ส่วนเสียงที่สนับสนุน “นิคม ไวยรัชพานิช” ขึ้นเป็นประธานวุฒิสภามีอยู่ 77 เสียง ถ้าประเมิน จากหน้าตัก การจะอัปเปหิ “สุเทพ” ให้หลุดพ้นวงโคจรทางการเมือง คงไม่ใช่เรื่อง ง่ายนัก
ทว่า...ถ้าวัดที่สัดส่วนตัวเลข 77 เสียง ที่ลงมติเลือก “นิคม” เป็นประธานวุฒิฯ ก็ทำให้การถอดถอน ย่อมลุ้นระทึกได้กับเสียงสมทบอีกแค่ 11 เสียงเท่านั้น พลันให้มีข้อสังเกตว่า “ดุลอำนาจ ในสภาสูง” วันนี้จะเปลี่ยนไปหรือไม่! แม้ผลการเลือกตั้งรองประธานวุฒิฯ ที่ฝั่ง “แต่งตั้ง” ชนะแบบฉิวเฉียด ขยับตัวเลือกการถอดถอน “สุเทพ” ให้มีช่องว่างเพิ่มขึ้นไปได้อีกเล็กน้อย นั่นเพราะ “ท่อร้อยสาย” ของ “สุเทพ” ได้เคย “ผูก” เอา ไว้อย่างเหนียวแน่นกับกลุ่ม “ส.ว.สรรหา”
แต่หมากสำคัญกระดานนี้ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ก็ย่อมประมาทไม่ได้เช่นกัน เพราะไม่ได้หมายความว่า “ส.ว. สรรหา” จะเทแต้มช่วยอุ้มเสียทั้งหมด แม้จะมีบางส่วนที่เคยออกไปตรวจสอบขั้วรัฐบาลนอกรัฐสภาอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็น “พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม” และ “สมชาย แสวงการ” หรือ “คำนูณ สิทธิสมาน” ที่เปิดตัวชัดว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเพื่อไทย และ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” จนมีการตั้งกลุ่ม “สยามสามัคคี” ที่ทำกิจกรรมการเมืองแลกหมัดกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตลอดมา
แต่ก็คงการันตีไม่ได้ทั้งหมดว่า... คะแนนเสียงในกลุ่มนี้จะเทไปช่วย “สุเทพ” ส่วนกลุ่มที่น่าจับตามากที่สุด คือ “40 ส.ว.” ที่มีความเป็นปึกแผ่นมากที่สุดใน “สภาสูง” จึงมีคำถามว่า...การโหวตถอดถอน “สุเทพ” จะยังดำรงความเป็นเอกภาพ เช่นเดียวกับเมื่อครั้งเลือกประธาน และรองประธาน ส.ว. อยู่หรือไม่
แม้ใน “กลุ่ม 40 ส.ว.” จะไม่เอา และเป็นปฏิปักษ์กับ “ระบอบทักษิณ” แต่ ก็มี “บางส่วน” ที่ไม่เอา “ประชาธิปัตย์” เหมือนกันว่ากันไปตามรัฐธรรมนูญ การลงมติถอดถอนจะมีผลก็ต่อเมื่อ “วุฒิสภา” มีมติ ด้วยคะแนนเสียง 3 ใน 5 ของจำนวนเสียง ที่มีอยู่ แม้จะเป็นคะแนนเสียงที่ถือว่า “ค่อนข้างมาก” แต่เมื่อสภาสูงเวลานี้ดูเหมือน “ฝ่ายเลือกตั้ง” เริ่มจะรุกคืบ เข้าไปมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้ผู้สันทัดกรณีทางการเมืองเห็นพ้องกันว่า คะแนนเสียง 3 ใน 5 หรือก็คือ “88 เสียง” ย่อมเป็น “ทางสองแพร่ง” ที่มีโอกาสเป็นไปได้แทบทั้งสิ้น
ด้วยเหตุนี้ การเมืองในวุฒิสภาโดยเฉพาะดุลอำนาจของสภาสูงที่เริ่มไม่เหมือน ก่อนหน้านี้ จึงถูกจับตาไม่น้อยว่าจะดำเนิน ต่อไปอย่างไร ท่ามกลางภาวะที่ ส.ว.ด้วยกันเอง มีความแตกต่างทางความคิด ตลอด จน “ที่มา” และเฉดสีทางการเมืองที่แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มอย่างเห็นได้ชัดยิ่งก่อนหน้าการลงมติของวุฒิสภาว่าจะถอดถอนนายสุเทพหรือไม่ กระแสข่าวการล็อบบี้คนสภาสูง ย่อมจะเกิดขึ้นอย่างหนัก แต่จะเป็นการ “ล็อบบี้” เพื่อให้ “สุเทพ” โดนถอดถอนหรือรอดจากคมเขี้ยว ส.ว. เมื่อถึงช่วงเวลานั้น...คงได้เห็นกัน!
ส.ว.สรรหาอย่าง “วันชัย สอนศิริ” มือประสานสิบทิศในวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ได้ วิเคราะห์ดุลอำนาจในสภาสูงไว้อย่างน่าสนใจว่า... ยังไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง เหตุเพราะด้วยโครงสร้างของวุฒิสภาในรัฐธรรมนูญที่ออกมาให้มีวุฒิสภา 2 ระบบ คือเลือกตั้งและสรรหา ส.ว.ทั้ง 2 ส่วนก็จะถ่วงดุลกันเองไปในตัว ทำให้การจะครอบงำหรือเข้ามากุมเสียงกำหนดทิศทางอะไรในวุฒิสภา ทั้งจากพวก ส.ว. ด้วยกันเองหรือการเมืองจากภาคนอก เหมือนก่อนหน้านี้ที่เป็น ส.ว.ระบบเดียว เช่น ส.ว.แต่งตั้งทั้งหมด หรือ ส.ว.เลือกตั้ง ทั้งหมด... ทำไม่ได้
ส่วนกรณีที่อาจมีบางฝ่ายหวังใช้ “วุฒิสภา” เป็นตัวแปรสำคัญในการถอดถอน “สุเทพ เทือกสุบรรณ” หรือใช้เป็นกันชนเพื่อให้รอดพ้นคมเขี้ยวสภาสูง! “วันชัย” ย้ำหัวตะปูว่า เวลานี้กระบวนการถอดถอน “สุเทพ” ถือว่าเพิ่งเริ่มต้นขึ้น ยัง มีเวลาอีกชั่วระยะกว่าวุฒิสภาจะนัดลงมติ ซึ่งต้องให้ทุกอย่างผ่านไปตามกลไก เช่น มีการแถลงเปิดคดีจากฝ่ายป.ป.ช. การแถลงคัดค้านข้อกล่าวหาของสุเทพ การนัด แถลงปิดคดีด้วยวาจาของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนการตั้งคำถามในสำนวนคดีนี้จาก ส.ว.ผ่านกรรมาธิการที่วุฒิสภาตั้งขึ้น เพื่อ ให้ไปถาม ป.ป.ช.และตัวของ “สุเทพ” เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาลงมติลับว่าจะถอดถอนนายสุเทพหรือไม่
“คงต้องรอให้ถึงช่วงวันใกล้ลงมติก่อน ว่าจะมีการล็อบบี้อะไรเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เวลานี้ยังไม่มีข่าวความเคลื่อนไหวลักษณะดังกล่าวออกมา”
สำหรับข้อมูลที่ได้รับจากฝ่ายกฎหมาย ของวุฒิสภา ที่ได้ระบุถึงกรอบแนวทาง ขั้นตอนการดำเนินการของ “สภาสูง” ในกรณีถอดถอน “สุเทพ” หลังผ่านการประชุมวุฒิสภาในวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่าน มา ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรกของคำร้องนี้ โดยทาง ป.ป.ช.ได้ส่งมาให้วุฒิสภาแล้ว และวุฒิสภาก็จะกำหนดวันแถลงเปิดสำนวนของ ป.ป.ช.และตัวของ “สุเทพ” ซึ่งก็คือวันที่ 7 กันยายน ซึ่งวันดังกล่าวจะเป็นการแถลงเปิดสำนวนของ ป.ป.ช. และคำแถลงคัดค้านของ “สุเทพ” โดยไม่มีการซักถาม
จากนั้นที่ประชุมวุฒิสภาจะพิจารณา ว่า ควรมีการซักถามประเด็นใดเพิ่มเติมหรือไม่ หากที่ประชุมมีมติให้ซักถามในประเด็นปัญหาใด ให้ตั้งคณะกรรมาธิการซักถามขึ้นมาคณะหนึ่ง แล้วต้องแจ้งมติให้คู่กรณีทราบโดยพลัน และต้องกำหนดให้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อซักถามภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ที่ประชุมวุฒิสภามีมติ
เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนดังกล่าวแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนการนัดประชุมวุฒิสภาเพื่อรังฟังแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาของ ทั้งสองฝ่ายที่เบื้องต้นกำหนดไว้วันที่ 17 กันยายนนี้ ส่วนวันลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่ถอดถอนนายสุเทพ เคาะไว้แล้วว่าจะให้เป็นวันที่ 18 กันยายน 2555 โดยมติที่ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง ให้ถือเอาคะแนน เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวน ส.ว. ที่มีอยู่ของวุฒิสภา คือไม่น้อยกว่า 88 คน คงต้องดูกันว่า การสู้คดีกันครั้งนี้ของ “สุเทพ” กับ “ป.ป.ช.” ผลจะออกมาอย่างไร ข้อมูลและการสู้คดีของฝั่งไหน จะ ดีกว่ากัน เพราะหากว่า “สุเทพ” แจงไม่ขึ้น ชี้ไม่ชัด...ในข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. “วุฒิสภา” ยังลงมติไม่ถอดถอนออกจากตำแหน่ง เพราะคะแนนเสียงไม่ถึง ก็อาจเกิดข้อกังขากับการทำหน้าที่ และบรรทัดฐาน ของ “สภาสูง” ว่าเป็นอย่างไรกันแน่
แม้หลายคนจะมองว่าโอกาสที่ “สุเทพ” จะโดนถอดถอนค่อนข้างเป็นไปได้ยาก หากไปดูก่อนหน้านี้ “วุฒิสภา” ก็เคยพิจารณาคำร้องถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง การเมืองมาแล้ว 3 ครั้ง คือกรณีของ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งปรากฏ ว่า วุฒิสภามีมติด้วยคะแนนเสียง 76 ต่อ 49 เสียง ไม่ถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือ กรณี “นพดล ปัทมะ” อดีต รมว.กระทรวง การต่างประเทศ ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด กรณีเห็นชอบให้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม ไทย-กัมพูชา สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียน ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ก็ยังปรากฏว่า “วุฒิสภา” ได้ลงมติถอดถอน 57 เสียง ไม่ถอดถอน 55 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ซึ่งเวลานั้นต้องใช้เสียง 90 เสียงขึ้นไปการถอดถอนถึงจะมีผล ทำให้ “นพดล ปัทมะ” ไม่โดนถอดถอน ทั้งที่เรื่องเขาพระวิหารเวลานั้น กระแสสังคมไม่เห็นด้วยอย่างมาก
และล่าสุด ก่อนหน้าคำร้องของ “สุเทพ” วุฒิสภาก็พิจารณาเรื่องการถอดถอน “ภักดี โพธิศิริ” กรรมการ ป.ป.ช. ที่ตอนนี้ก็ยังดำรงตำแหน่งอยู่ แต่กรณีของ “ภักดี” นั้นแตกต่างจาก “สมชาย-นพดล” และ “สุเทพ” เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า การถอดถอน ป.ป.ช. ต้องใช้เสียง ส.ว. 3 ใน 4...ไม่ใช่ 3 ใน 5 ซึ่งผลการลงคะแนน ออกมาว่ามีมติ 84 เสียงไม่ให้ถอดถอน ขณะที่เสียงให้ถอดถอนมีแค่ 56 เสียง
ทั้ง 3 กรณีของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง ที่ ส.ว.จะไม่สามารถถอดถอนได้ นั้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นข้อกล่าวหา ที่พัวพันกับเรื่องการเมือง แต่ในกรณีของ “สุเทพ” คงต้องว่าไปตามหลักฐานและข้อเท็จจริง ประกอบกับดุลพินิจการพิจารณา ของสมาชิกวุฒิสภาแต่ละคนว่าจะมีมติไปในทิศทางใด
แต่หากมองในทางการเมืองแล้ว จะ เห็นได้จากการเลือกประธานวุฒิสภา และ รองประธานคนที่ 1 ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ ซึ่งการชิงดำหนนี้ได้สะท้อน “เกมล็อบบี้” ในสภาสูงที่ข้นคลั่ก แม้ “ฝ่ายการเมือง” จะยังไม่สามารถครอบงำได้เบ็ดเสร็จ ด้วยเงื่อนปมเหล่านี้ การถอดถอน “สุเทพ” หวยจะออกมาในทางใดยังต้องลุ้นอีกหลายยก เพราะเดิมพันทางการเมืองหนนี้ ฝ่ายหนึ่งย่อมหาทางเอาตัวรอด ให้ได้...กลับกันอีกฝ่ายย่อมใช้เกม “เพาเวอร์เพลย์” มุ่งตัดอนาคตศัตรูตัวฉกาจให้พ้นจากสนามการเมือง เพราะในวัย 64 ปีหากโดนตัดสิทธิ์ไปอีก 5 ปี คงจะทนรอไม่ไหวที่จะหวนสู่สนามการเมืองอีกรอบ?!!
ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น