--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

ตลกร้าย 6 ปี 19 กันยาฯ The Lost War รูดม่านการเมืองไทย !!?

โดยการทำรัฐประหาร “ล้มล้างรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ภายใต้การนำของ “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น แม้ในช่วงออกตัว “คณะปฏิวัติ” จะได้รับเสียงเชียร์อย่างล้นหลาม ทั้งจากกลุ่มชนชั้นกลาง ขั้วนักวิชาการ และกลุ่มที่ฝักใฝ่ “อำนาจนิยม” แต่กระนั้นพอ 6 ขวบปืล่วงผ่านไป ก็ปรากฏว่า สิ่งเหล่านี้เป็น “ตลกร้าย” ที่คนไทยขำกันไม่ออก เพราะได้ก่อกำเนิด “ความขัดแย้งรุนแรง” นำมาซึ่งการเผชิญหน้าทางการเมืองอย่างไร้ซึ่งทางออก ที่สุดย่อมนำไปสู่การต่อสู้ขั้นแตกหักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นับจากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหลังปี 2549 สังคมไทยได้ถูกเปลี่ยนโฉมหน้าอีกครั้ง โดยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยอำนาจทหาร และปิดฉาก “รัฐธรรมนูญปี 2540” ที่เรียกได้ว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ดีที่สุด ก่อนจะทำคลอดรัฐธรรมนูญปี 2550 ฉบับ “ธงเขียวขี้ม้า” ที่ตลอดมาได้ถูกต่อต้านอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะกับกลุ่มมวลชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้าน “อำนาจเผด็จการ” และการรัฐประหาร เพราะถือได้ว่าเป็น “มรดกบาป” ของฝ่ายที่โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ว่ากันว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าว “คณะผู้ก่อการ” ได้พยายามทำให้สังคมไทยเชื่อว่า จะเป็นการได้มาซึ่งกระบวนการ “ประชาธิปไตยใหม่” ที่หลุดพ้นจากพฤติกรรมอันเลวร้ายทางการเมือง!!!

และนั่นคือความเป็นไปหลังเหตุการณ์ 19 กันยาฯ 2549 จากนั้นประเทศไทยก็ได้ตัว “บิ๊กแอ้ด” พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง ก่อนที่กระบวนการประชาธิปไตยแบบครึ่งเสี้ยว จะตามมาหลอกหลอนคนไทยอีกครั้ง เพราะเป็นกระบวนการที่ยึดโยง “กลไกประชาธิปไตย” แบบครึ่งๆ กลางๆ ดำเนินไปโดย “รูปแบบ” ของการ “ต่อรองอำนาจทางการเมือง”

เช่นที่ว่านี้ แม้การโค่นล้มอำนาจรัฐเมื่อปี 2549 จะกระทำได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ทว่าหลังจากนั้นการเมืองไทยก็ประสบปัญหายุ่งยากนานัปการ ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ประการหนึ่งที่ว่า “การยึดอำนาจรัฐไม่ใช่เรื่องยาก การรักษาอำนาจรัฐไว้ยากยิ่งกว่า”

ยิ่งไปกว่านั้น ผลพวงจากการรัฐประหาร ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นว่า “การยึดอำนาจ” มิใช่ทางออกในการแก้ปัญหาการเมืองไทยเท่านั้น หากแต่ยังทำให้สถานการณ์ดูจะซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และกลายเป็นภาพสะท้อนที่ว่า “รัฐประหาร” มิใช่คำตอบ แต่เป็นเพียงสัญลักษณ์ของความ “ล้าหลังทางการเมือง” ของประเทศไทย รวมถึงปรากฎการณ์ “คอร์รัปชั่นสะท้านบ้าน...สะท้านเมือง” หลังมีการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองของเหล่าผู้นำทหาร ด้วยการเข้าไปยึดกุมบอร์ดรัฐวิสาหกิจ และขุมข่ายอำนาจรัฐต่างๆ

บทเรียนจากการรัฐประหาร 19 กันยาฯ จึงกลายเป็น “ความล้มละลายทางการเมือง” และส่งผลให้ขั้วอำนาจการเมือง และกลุ่มที่ให้การสนับสนุนรัฐประหารในช่วงแรก ต้องหันกลับมายอมรับ และให้การเมืองในระบบเลือกตั้งเป็นเครื่องมือตัดสินการเป็นผู้บริหารประเทศ แม้ระบบการเลือกตั้งจะมีปัญหาและข้อบกพร่องอยู่มาก แต่อย่างน้อยก็เป็นระบบที่สามารถตรวจสอบได้

ความแตกต่างประการสำคัญของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังวันที่ 23 ธันวาคม 2550 กับรัฐบาลเลือกตั้งหลังจากการรัฐประหารครั้งก่อนๆ ก็คือ กลุ่มสนับสนุนรัฐประหารไม่ได้ประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งครั้งนี้กลับผิดคาด แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยที่จะยุติปัญหาความขัดแย้งที่เกิดก่อนและหลังรัฐประหารได้ หากแต่ปัญหานี้ยังสืบทอดต่อเนื่องมาถึงการเมืองหลังเลือกตั้ง จนทำให้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่า การต่อสู้ในครั้งนี้มีลักษณะของความเป็น “สงครามการเมือง” ที่ต่างฝ่ายมุ่งเอาชนะคะคานกัน และมีลักษณะของการไม่ประนีประนอม โดยมีการแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน

โดยระหว่างที่มี “รัฐทหาร” ปกครองประเทศอยู่นั้น ได้มีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของ “ภาคประชาชน” ที่เริ่มมีความตื่นตัวมากขึ้น จนที่สุดได้มีการรวมตัวกันเป็น “ขบวนการเสื้อแดง” ที่ต่างมองบริบทของสังคมไทยจาก “มุมมองแห่งชนชั้น” ที่แยกกันอย่างชัดเจนคือ “ไพร่” กับ “อำมาตย์”

เช่นว่านี้ ตลอดเส้นทางจากวัน “รัฐประหารปล้นประชาธิปไตย” สู่ห้วงที่ “พลังประชาธิปไตย” ถูกลิดรอน! ได้สะท้อนความเป็นไปหลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะบริบทของภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบบ 2 มาตรฐาน และความไม่ชอบธรรมทั้งปวง ที่เป็นผลพวงจากการยึดอำนาจ 19 กันยาฯ

ยิ่งสภาพบ้านเมืองในตอนนั้น ยังสะท้อนถึงวิกฤติที่ฝังรากลึก โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองตราบเท่าทุกวันนี้ แถมยังแตกแขนง “ปมขัดแย้ง” ออกไปอีกหลายสาขา

เพราะมีข้อกังขาที่ว่า การร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น “คณะรัฐประหาร” เอาใครก็ไม่รู้เข้ามาผลิตรัฐธรรมนูญ ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งนักกฎหมายใหญ่ รัฐบาล หรือแม้แต่กลุ่มคนที่เข้าไปร่างรัฐธรรมนูญ ยังออกมาแก้เกี้ยวก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติว่า “ให้รับไปก่อน แล้วค่อยไปแก้ทีหลัง”

กลายเป็นเป้าหมายที่สะท้อนถึงวลีอมตะการเมืองที่ว่า “ชนชั้นใดร่างกฎหมาย ย่อมร่างกฎหมายเพื่อชนชั้นนั้น”

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 จึงถูกกล่าวขานว่าเป็น “รัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตย” ที่กำเนิดจาก “องคาพยพ” ภายใต้ท็อปบูต “รัฐทหาร” แม้แต่กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ยังระบุว่า การทำรัฐประหาร 19 กันยาฯ คือการสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองให้กับกองทัพ ซึ่งตรงข้ามกับกระบวนการประชาธิปไตย

ประเมินผลการรัฐประหารเมื่อปี 49 คงจะสรุปได้ว่า...“ล้มเหลว” โดยสิ้นเชิง เพราะแก้ปัญหาสำคัญของประเทศไม่ได้เลย และในทางกลับกันได้สร้างปัญหาสำคัญขึ้นมาให้กับประเทศอีก นั่นก็คือความแตกแยกในสังคมอย่างรุนแรง ที่ดูๆ แล้วน่าจะยากที่จะเยียวยาได้ในระยะเวลาอันสั้น ส่วนการจัดการกับการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ก็เห็นได้ชัดว่า “ล้มเหลว” เพราะวันนี้ก็ยังมีอยู่และดูท่าทางจะ “แยบยล” กว่าเดิมอีกด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยาฯ 2549 เป็นการกระทำที่ “สูญเปล่า” ทำให้ระบบเศรษฐกิจพังพินาศไปมาก สังคมมีความแตกแยกสูง การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมถอยลง การเมืองอ่อนแอ คงไม่ต้องบอกว่า...ประเทศชาติได้รับความเสียหายจากการรัฐประหารไปมากน้อยเพียงใด

“รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระบุถึงการปฏิวัติรัฐประหารที่ผ่านมา บทเรียนที่สังคมไทยได้รับ แม้รัฐประหารครั้งล่าสุด จะผ่านมาเพียงไม่กี่ปี แต่ความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างที่ไปถึงรากเหง้าของสังคมไทยมันนานกว่านั้น อย่างน้อยๆ ก็ตั้งแต่ที่กลุ่มพันธมิตรฯ เริ่มก่อตัว หรือจะย้อนไปอีกก็คือช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณคืนอำนาจ จะว่าไปแล้วบ้านเรามีการทำรัฐประหารเยอะ เฉลี่ยสี่ปีกว่าก็รัฐประหารครั้งหนึ่ง จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็แล้วแต่

“เพราะฉะนั้นเราถึงล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด จึงคิดว่าสังคมไทยผู้มีอำนาจทั้งหลายเขาคิดประชาธิปไตยควรเป็นอีกแบบหนึ่ง ต้องมีความซื่อสัตย์ มีการจัดการแบบนี้ๆ แล้วต้องสอดคล้องกับโครงสร้างรากเหง้าของสังคม ซึ่งสังคมเรามีการแบ่งลำดับชั้นเป็นพีระมิด แบบว่าข้างบนมีน้อยมาก ส่วนตรงกลางพอมี แต่ว่าส่วนใหญ่จะอยู่ข้างล่างกัน สังคมแบบนี้ไม่ค่อยได้พัฒนาระบบประชาธิปไตย เราถึงได้ล้มลุกคลุกคลาน การรัฐประหารตลอดทำให้เราต้องมีการสร้างกฎกติกากันใหม่โดยตลอด คือ มีรัฐธรรมนูญบ่อยครั้ง แต่ละครั้งมันไม่มีความต่อเนื่อง แล้วรัฐธรรมนูญที่มีความชอบธรรม มีความครบวงจร มีระบบโครงสร้างที่สอดคล้อง คานอำนาจ สร้างเสถียรภาพให้แก่รัฐบาล สร้างการตรวจสอบให้แก่ฝ่ายการเมือง ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่ดีเท่ารัฐธรรมนูญ 2540”

อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ใช้เวลา 5 ปี และมีโจทย์ที่ชัดเจน ซึ่งโจทย์ก็คือ “พฤษภาทมิฬ” คือว่าข้อสรุปวงจรอุบาทว์การเมืองไทย ทำให้มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีคณะรัฐมนตรี นักการเมืองเข้ามาทุจริตคอร์รัปชั่น เสียความชอบธรรม ทำให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ ในที่สุดแล้วมีการลุอำนาจ เป็นวงจรอย่างนี้ไปเรื่อยๆ คือ มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีคอร์รัปชั่น ยึดอำนาจมีรัฐธรรมนูญ เป็นวงจรอุบาทว์

“รัฐธรรมนูญไม่ใช่ตัวกุญแจที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องใช้เวลาที่มาจากการเรียนรู้ ทำไปเรียนรู้ไป แล้วเรื่องรัฐธรรมนูญ กฎกติกาต้องมีความต่อเนื่องและมีการพิสูจน์ตัวมันเอง การที่มีรัฐประหารบ่อยๆ ทำให้มันลัดวงจรตลอด กระบวนการเรียนรู้ กระบวนการสร้างสถาบันการเมือง กระบวนการสร้างที่เป็นระบอบประชาธิปไตยจะไม่ต่อเนื่อง ไม่เติบโต ไม่พัฒนา เพราะว่าต้องเริ่มใหม่อยู่ทุกครั้งอยู่ตลอด นี่เป็นปัญหาเหมือนกัน คือรัฐประหารในตัวเอง เป็นการบ่อนทำลายการสร้างสถาบันประชาธิปไตยในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นสภา พรรคการเมือง หรือองค์กรอิสระต่างๆ”

ด้าน “จรัล ดิษฐาอภิชัย” อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ย้ำหัวตะปูว่า วิกฤติการเมืองไทยที่ดำรงมา 6 ปี เริ่มมาจากการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ขับไล่รัฐบาลทักษิณ ตั้งแต่ปลายปี 2548 ตามด้วยการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การสถาปนาระบอบเผด็จการของ คมช. การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 และการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 จบลงด้วยการแบ่งแยกสังคมและการเมืองเป็นคนเสื้อแดงและคนเสื้อเหลือง ระหว่างฝ่ายอำมาตยาธิปไตยและฝ่ายประชาธิปไตยอย่างถาวร อย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์

ทั้งนี้ เพื่อให้เข้าใจวิกฤติการเมือง จะต้องเริ่มจากการรับรู้ลักษณะพิเศษของรัฐบาลทักษิณที่มีลักษณะเด่นๆ 2 ประการ คือ ประการแรก เป็นรัฐบาลเข้มแข็ง นายกรัฐมนตรีเข้มแข็ง ประการที่ 2 มีนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุด ซึ่งเป็นสภาพทางการเมืองที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ยิ่งเมื่อประชาชนไทยได้รับผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมจากการบริหารของรัฐบาลทักษิณ คนไทยเริ่มมีประสบการณ์การทำงานของรัฐบาลที่มีประสิทธิผลและรวดเร็ว ประชาชนค่อยๆ หายจากความยากจน และช่วยให้พวกเขาได้มีปากมีเสียง มีศักดิ์ศรีตามสิทธิที่พึงมีในระบอบประชาธิปไตย เห็นข้าราชการมีหน้าที่รับใช้ประชาชน ไม่ใช่ทำหน้าที่อย่างอื่น สถาบันข้าราชการซึ่งเคยเป็น “ชนชั้นสูง” ของประเทศจึงเริ่มอ่อนแอลง

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ชี้ว่า...รัฐประหารครั้งนี้ไม่เพียงแต่ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หากยังหยุดกระบวนสร้างสรรค์ประชาธิปไตย และฉุดประเทศไทยให้ย้อนหลังกลับไปอีกหลายสิบปี รัฐประหารครั้งนี้จึงส่งผลร้ายแรงมากกว่าการนองเลือดเสียอีก

ในแง่การปกครอง 2 สัปดาห์หลังจากรัฐประหาร คณะรัฐประหารประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว สถาปนาระบอบเผด็จการทหาร โดยตั้งรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน หากเป็นตัวแทนคณะทหาร ชนชั้นนำ และกลุ่มแนวร่วมต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่สมาชิกมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้าคณะรัฐประหาร เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น รัฐบาลทหารจัดให้มีการลงประชามติรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ภายใต้กฎอัยการศึกเกือบครึ่งประเทศที่ควบคุมโดยรัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศใช้เมื่อ 24 สิงหาคม 2550 แต่ 2 เดือนก่อนหน้านี้ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 111 คน เป็นเวลา 5 ปี

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีเป้าหมายทางการเมืองหลักๆ คือ ทำให้อำนาจของนักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งโดยประชาชนอ่อนแอลง เสริมสร้างอำนาจรัฐและข้าราชการ ประเทศไทยจึงกลับไปสู่การปกครองโดยอำมาตย์และไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง สมาชิกวุฒิสภาครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหา คือการแต่งตั้ง มีบทบัญญัติที่จำกัดและห้ามนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งบริหารประเทศนานัปการ ทั้งให้อำนาจองค์กรอิสระโดยเฉพาะ กกต., ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจมากกว่าคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา คือศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจยุบพรรคการเมือง ถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาได้ นำไปสู่ “รัฐประหารโดยตุลาการ” ในเวลาต่อมา

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น