--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2555

AEC : ASEAN ECONOMIC COMMUNITY.

ทั้งนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังไงๆ เราต้องเดินหน้าสู่วงจรของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่ต้องคิดว่าสามารถถอยหลังได้ เนื่องด้วย วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เราต้องเดินเข้าสู่วงจรนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่”ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” จะดำเนินการเต็มรูปแบบ!กล่าวคือ สมาชิกทั้ง 6 ประเทศ โดย มีไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ได้ดำเนินการด้านเศรษฐกิจกันไปแล้ว เพียงแต่ว่าการจัดเก็บอัตราภาษีนั้น ยังไม่เป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ มีแต่การจัดเก็บภาษีด้านการค้าขายระหว่างกันนั้น เริ่มที่ระดับร้อยละ 5-10 เท่านั้น ส่วนระบบโลจิสติกส์และระบบขนส่ง บวกกับภาคบริการ ศิลปวัฒนธรรม และความมั่นคงนั้น ว่ากันตามความเป็นจริงยังไม่ได้เริ่มกันซักเท่าไหร่เลย

แต่เริ่มจะเป็นจริงเป็นจังกันในปี 2558 ที่สมาชิก”น้องใหม่”อีก 4 ประเทศ กล่าวคือ”กลุ่ม CLMV” ที่ประกอบไปด้วย C = กัมพูชา(CAMBODIA) L = สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (LAOS) M =สหภาพพม่า (MYANMAR UNION) และ V = สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามจะเข้าร่วมเป็น”สมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”อย่างเต็มรูปแบบของ”สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ”

เมื่อนั้น”สภาพการแข่งขัน” จะเกิดขึ้นอย่างจริงจังในกรณีของวัตถุดิบทรัพยากรมนุษย์ ภาคการบริการ ทักษะกับแรงงานต่างด้าวที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ค่าแรงขั้นต่ำ” ที่กลุ่มประเทศสมาชิกน้องใหม่ที่มีอัตราต่ำกว่าบ้านเราน่าจะประมาณ 85-90 บาทเท่านั้น ในกรณีนี้จะเกิดการแข่งที่สูงมากด้วย”ภาคการส่งออก”เป็นกรณีที่”น่าเสียดาย-เสียใจ” อย่างมากที่คนไทยจำนวนมากยังไม่ค่อยตระหนักถึง”ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือแม้กระทั่ง “ข้าราชการ” บวกกับ “คนรุ่นใหม่” ที่ยังไม่มีโอกาสมีความรู้และความเข้าใจความสำคัญของAECว่าในที่สุดแล้ว อีกเพียง “2 ปี 5 เดือน”เท่านั้นที่ทุกประเทศในสมาชิกประชาคมอาเซียนเริ่มเตรียมพร้อม แล้วโดยเฉพาะสิงคโปร์ เวียดนาม ที่สิงคโปร์น่าจะพร้อมที่สุด ทั้งนี้ บริษัทต่างชาติชาวอเมริกันและอังกฤษได้เข้าจดทะเบียนบริษัท โดยใช้ “ตัวแทน (Nominee)” ชาวสิงคโปร์เข้าเป็นหุ้นส่วนในภาคบริการประกันภัยเรียบร้อยแล้ว

“ภาษาอังกฤษ (ENGLISH)” เป็นภาษาหลักที่ทุกประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะยึดเป็นภาษาหลัก นอกนั้นยังมีความจำเป็นที่ต้องเรียนรู้”ภาษาจีน-ภาษาญี่ปุ่น”ไปด้วยเพื่อความคล่องตัวในการติดต่อสื่อสารนอกจากนั้น ภาษาท้องถิ่นของภาษาพม่า และภาษากัมพูชา บวกกับภาษาเวียดนามที่มีความสำคัญไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย ที่ชาวเอเซียต้องเรียนรู้ ประเทศไทยเรานั้น มีความได้เปรียบทั้งในเชิง “ภูมิรัฐศาสตร์-ภูมิเศรษฐศาสตร์” อย่างมาก กล่าวคือ การที่ประเทศไทยอยู่ใจกลางการเชื่อมโยงของกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน ที่ประสานได้หมดทั้งภาคเหนือสู่ลาวและจีน ส่วนภาคใต้นั้นลงสู่มาเลเซียและสิงคโปร์ ด้านตะวันออกกับตะวันตก เชื่อมระหว่างสหภาพพม่าและลาวกับเวียดนามที่ “ระบบโลจิสติกส์กับการขนส่ง” ต้องผ่านกรุงเทพมหานครหมด เรียกว่าเป็น”ศูนย์กลาง (Hub)” ทั้งหมดการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยนั้น ภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่นมีความจำเป็นอย่างมาก ที่คนไทยต้องตื่นตัว เรียนรู้ให้ได้มากที่สุด นั่นประการที่หนึ่ง ประการที่สอง การเร่งดำเนินการระบบโลจิสติกส์และการขนส่งที่ประเทศจีน พร้อมสนับสนุนตลอดเวลาในการสร้าง “รถไฟความเร็วสูง” เพื่อขนส่งมวลชนและระบบรถไฟรางคู่เพื่อขนส่งสินค้า โดยเริ่มจากภาคเหนือลงสู่ภาคใต้และภาคตะวันออกสู่ภาคตะวันตก ซึ่งเป็นวาระสำคัญมากที่สหภาพพม่าเร่งสร้าง”เขตปกครองพิเศษทวาย” อย่างแน่นอนเพื่อลดต้นทุนด้านการขนส่งจากเมืองเว้นผ่านอีสานตอนใต้มุ่งสู่กรุงเทพฯ และทะลุสู่จังหวัดราชบุรีกับกาญจนบุรีเข้าสู่ทวายเพื่อเดินทางต่อทางทะเลไปมหาสมุทรอินเดีย

ประการที่สามคือ การพัฒนาด้านการเกษตรที่ประเทศไทยนั้น มีความเหมาะสมที่สุดในการผลิตข้าวและสินค้าการเกษตรอื่นๆ ที่ต้องต่อยอดสู่การพัฒนากึ่งอุตสาหกรรมการเกษตร และในที่สุดสู่ “อุตสาหกรรมภาคการเกษตร” ที่ว่าไปแล้ว บริษัทใน “เครือเจริญโภคภัณฑ์” น่าจะชำนาญที่สุดกับ “การผลิตสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม”

เพียงสามประการที่เราต้องเตรียมความพร้อมในการเดินหน้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่น่าจะสร้างความพร้อมได้ภายใน 1 ปีครึ่งถึงสองปี ที่เราต้องเตรียมตัวกันได้แล้ว อย่างไรก็ตาม นับว่าเรายังโชคดีที่เริ่มมี “การปลุก”และ “การกระตุ้น” ให้สังคมไทยได้เริ่มขยับกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะกรณี “การแข่งขัน” ที่ต้องกำหนดให้เป็น “ยุทธศาสตร์” กันไว้ล่วงหน้าได้แล้ว

ที่มา : สยามรัฐ โดย รศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น