--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

ยุทธศาสตร์ ดับไฟใต้ขยายวง สันติภาพ ลบภาพแดนมิคสัญญี !!?

เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่รวดเร็ว เกินคาด หลังจากกองทัพและฝ่าย ความมั่นคงออกตัวเร็ว...ไขยุทธศาสตร์ “ดับไฟใต้” ตามนโยบายเร่งด่วนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่พยายามจะเปิด “เวทีสันติภาพ” ร่วมกับกลุ่มก่อความไม่สงบ เพื่อลดการ สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่

จนเมื่อเวทีเจรจาเปิดกว้าง ก็ดูเหมือน ว่าดีกรีความรุนแรงจะลดลงไปในชั่วอึดใจ และส่อเค้าไปในทางดี เพราะจากที่เคยหันคมดาบปลายปืน เข้าห้ำหั่นกันอย่างโหดเหี้ยม ก็มีการปูหนทางใหม่ที่ใช้ทั้ง “ปาก” และ “ใจ” เพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกันยิ่งไปกว่านั้น “นายกฯ ปู” ยังคงเปิดประตูทำเนียบรัฐบาล ต้อนรับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนำทีม ส.ส. ภาคใต้ เข้าไปร่วมเวทีกับรัฐบาลเป็นครั้งแรก

ปรากฏการณ์ดังกล่าว ยังเป็นตัวช่วย “จุดประกายความหวัง” ว่าอย่างน้อยก็ถือเป็น “จุดเริ่มต้นที่ดี” ในการร่วมแก้ไขปัญหาอย่างมี “เอกภาพ” เพราะแต่เดิม บทบาทของทั้ง “รัฐบาล” และ “พรรคฝ่ายค้าน” แยกกันคิด แยกกันเดินมาตลอด นับตั้งแต่มีการโหมความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดน ภาคใต้ เมื่อราวปี 2547 เป็นต้นมา

ยิ่งท่ามกลางสถานการณ์ที่ข้นคลั่ก และเกิดเหตุรุนแรงตลอดช่วงหนึ่งถึงสองเดือนมานี้ กระทั่งล่วงเข้าสู่ 2 เหตุการณ์สำคัญ ที่น่าจะถือเป็น “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” สำหรับการจัดการ “สถานการณ์ชายแดนใต้” ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับการจับตามากเป็นพิเศษ

ประเด็นแรกคือการที่ “แวอาลี คอปเตอร์ วาจิ” คีย์แมนสำคัญของแนวร่วม ปฏิบัติการ “อาร์เคเค” นำเครือข่าย 93 คน เข้าเจรจากับฝ่ายความมั่นคง ซึ่งถือเป็นครั้ง แรกที่เครือข่ายกลุ่มก่อความไม่สงบแสดงตัว พร้อมกับเสนอ “เงื่อนไข 3 ข้อ” เรียกร้องผ่านการเจรจาครั้งสำคัญกับฝ่ายความมั่นคง ของรัฐบาลไทย

การเข้ามอบตัวครั้งนี้ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า เรียกให้ดูดีว่า “ประสานใจ เพื่อสันติจังหวัดชายแดนภาคใต้” มุ่งให้กลุ่มก่อความไม่สงบเข้าแสดงตน ประกาศวางอาวุธ ยุติการต่อสู้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการ ยุติธรรมถึงแม้ว่า “พล.ท.อุดมชัย” จะยืนกราน ว่าการเข้ามอบตัวครั้งนี้ไม่มีเงื่อนไขเจรจาต่อรอง เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความคิด เห็นต่างจากรัฐ มีอุดมการณ์ทางการต่อสู้ ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และร่วมกันหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เพื่อ นำสันติสุขกลับคืนสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ทว่ายังคงมีบางส่วนตั้งคำถาม เพราะ ไม่เคยได้ยินข่าวเรื่องการเจรจามาก่อน พอมี กลุ่มก่อความไม่สงบเข้ามอบตัวจำนวนมาก ก็พาให้สงสัยกันว่า มีอะไรอยู่เบื้องหลัง หรือ มีเงื่อนไขใดเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่?!!

นั่นเพราะปัญหาความไม่สงบในแดนมิคสัญญีแห่งนี้ ได้รับรู้กันมาตลอดว่า มาจาก หลายเหตุ หลายปัจจัย และมีความสลับซับซ้อน มองมุมปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งรัฐบาล ที่เข้ามาบริหารประเทศแต่ละชุด ยังล้วนแก้ กันไม่ตก ไม่ว่าจะใช้ “ไม้อ่อน” หรือ “ไม้แข็ง” หรือมีการจรจาทั้งทางลับและเปิดเผย แต่ก็ ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ลงได้

อีกหนึ่งประเด็นที่เป็น “มิติใหม่” ทาง การเมืองไทย นั่นคือ การเปิดเวทีประชุมร่วม กันของ “รัฐบาล” และ “ฝ่ายค้าน” เพื่อแลกเปลี่ยน “แนวคิด” และ “วิธีการ” เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้ไป “กลั่นกรอง” และนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งในด้านการกำหนดทิศทาง ยุทธศาสตร์ในการจัดการปัญหา “ไฟใต้”

ด้านหนึ่ง “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ดูจะให้น้ำหนักความสำคัญกับการประชุมร่วมมากเป็นพิเศษ หลังจากที่ก่อนหน้านั้น รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” ส่งสัญญาณออกไปเป็นระยะ ทว่าไม่มีสัญญาณตอบรับจาก “ผู้นำฝ่ายค้าน” ตราบจน “ยิ่งลักษณ์” ตัดสินใจ “เคาะ” ร่วมวงประชุมด้วยตัวเอง ซึ่งภาพที่ปรากฏ แม้จะถูกมองว่าเป็น เพียงการจับมือกัน..อย่างหลวมๆ เช่นที่เคย ปรากฏคราวน้ำท่วมใหญ่เมื่อปีกลาย แต่ก็นับเป็น “ก้าวแรก” แห่งการปรองดอง

ในส่วนของ “ประชาธิปัตย์” ก็ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ไม่น้อยเช่นกัน โดย “อภิสิทธิ์” ได้เรียกประชุม ส.ส.ภาคใต้ โดยเฉพาะที่เป็น “นักการเมืองขาใหญ่” ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก่อนจะมีการสรุปข้อเสนอแนะ “9 เงื่อนไขสำคัญ” คือ

1.ยึดมั่นในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า...“เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา”

2.ใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ใช้นโยบายแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้ต่อเนื่อง จากรัฐบาลประชาธิปัตย์

3.ให้ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษทั้ง 2 ฉบับ และใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงแทน โดยเฉพาะการดำเนินการตามมาตรา 21 เพื่อความสงบสุขในพื้นที่

4.ยกเลิกการใช้กำลังทหารจากต่างถิ่นให้เร็วที่สุด และให้ใช้กองกำลังจากกองทัพ ภาค 4 กองพลทหารราบที่ 15 ให้เต็มอัตรา กำลัง รวมทั้งกำลังตำรวจและชุดรักษาความ ปลอดภัยหมู่บ้าน

5.สนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนใน พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา รับราชการและทำหน้าที่ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐมากขึ้น

6.ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือ ศอ.บต. เป็นหน่วยงาน หลักในการพัฒนา การให้ความยุติธรรม เป็น ธรรม การฟื้นฟู เยียวยา โดยให้ กอ.รมน. เป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคง

7.ให้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาให้พลเรือน ตำรวจ ทหาร และประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่ากับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 2548-2553

8.คัดค้านการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ หรือร่างพ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร หรือเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้

9.ให้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ในฐานะ ผอ.รมน. และ ผอ.ศอ.บต. เพื่อรับผิดชอบต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะเกิด เอกภาพทั้งการบังคับบัญชาการกำหนดนโยบาย และนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

นอกจาก “ฝ่ายการเมือง” ที่เข้ามา สร้างฉาก “ร่วมคิด ร่วมทำ” แล้วยังคงมีนักวิชาการและแนวร่วมใน “ภาคประชาชน” ได้ให้ “ข้อเสนอ” ในการจัดการปัญหาไฟใต้ ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง...!!! “ดร.ตายูดิน อุสมาน” อาจารย์ประจำ ภาควิชาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏ ยะลา ในฐานะที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนมายาวนาน ให้ทรรศนะเชิงวิเคราะห์ถึงการพบ กันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัด ชายแดนภาคใต้ ว่า...เป็นสิ่งที่ดี ที่ทั้ง 2 ได้มีโอกาสมาพูดคุยกัน เพื่อให้สถานการณ์ใต้สงบลง

“แต่ว่าการพูดในครั้งนี้จะมีนัยยะอะไร หรือไม่ หากทั้งสองมีความตั้งใจจริงตนเห็น ว่าเป็นสิ่งที่ดี ถ้าหวังผลอะไรบางอย่างทาง การเมือง หรือเป็นการแสวงหาเพื่อเป็นผลงานของการเมืองก็น่าเป็นห่วง คนที่จะให้ข้อมูลให้กับทั้งสองคนก็คงเป็น ส.ส.ในพื้นที่ ซึ่งเป็น ส.ส.ฝ่ายค้านเป็นส่วนใหญ่ แต่หลาย ฝ่ายเห็นด้วยกับการพูดคุยของทั้งคู่ เพื่อหา แนวทางในการแก้ไขปัญหา”

ขณะที่การให้ความยุติธรรมกับคนใน พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความยุติธรรม ยังไม่เต็มที่ ยังมีความอยุติธรรมอยู่ ซึ่งหาก ย้อนไปดูตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ดีขึ้น กว่าเดิมมากเพราะประชาชนกล้าพูดมากขึ้น กล้าที่จะแสดงออกมากขึ้น กล้าที่จะถามถึง ความยุติธรรม ทำให้ความอยุติธรรมน้อยลง แต่ความยุติธรรมก็ยังไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังมีผู้สูญเสีย และมีผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในพื้นที่อีกมากมาย

“ดร.ตายูดิน” ยังกล่าวทิ้งท้ายให้กับผู้ที่ทำหน้าที่ในการดูแลและแก้ไขปัญหา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกว่าอยากให้ใช้เหตุผล ใช้คนให้ถูกที่ การแก้ปัญหาในพื้นที่เป็นสิ่งที่มีความสลับสับซ้อน ต้องเชิญ ผู้มีความรู้ผู้มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหา และต้องเจรจากับผู้ที่มีแนวคิดในการแบ่งแยกดินแดน ถ้าไม่ทำอย่างนั้นเหตุการณ์ก็จะเกิดขึ้นไม่จบสิ้น ตนเองอยากจะให้กำลังใจ กับทุกส่วนที่ทำหน้าที่แก้ไขปัญหา อยากให้ในพื้นที่เกิดความสงบสุขโดยเร็ว

นายยะโก๊บ หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ไม่เคยปรากฏที่ทางรัฐบาลและผู้นำฝ่ายค้านมาพูดคุยหารือในเรื่องการแก้ปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัญหาทุกปัญหา เป็นไปได้ ก็อยากให้แก้ปัญหาประเทศชาติควบคู่ไปด้วย หนึ่งในปัญหาก็อยากให้นำความจริงมาพูดคุยกันว่าปัญหาใน 3 จังหวัด มันเกิดอะไรขึ้น ที่สำคัญอย่าไปฟังการรายงาน อย่างเดียว อยากให้ลงมาฟังข้อมูลของคน ในพื้นที่ด้วยว่าเค้าต้องการอะไร อย่างน้อยๆ ที่สุดก็อยากให้คนในพื้นที่ร่วมประชุมหารือกันด้วย อย่างน้อยจะได้รับรู้ข้อมูลที่แท้จริง ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นสาเหตุมันเกิดจากอะไร

เนื่องจากในพื้นที่ 80 เปอร์เซ็นต์นับถือ ศาสนาอิสลาม ฉะนั้นก็จะยึดหลักปฏิบัติการดำรงชีวิตแบบอิสลามโดยยึดคำสั่งสอน ของท่านศาสดาที่ว่า “มนุษย์ที่ประเสริฐ มนุษย์ที่ดีที่สุดก็คือมนุษย์ที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน” และยิ่งในฐานะที่เป็นผู้นำศาสนา ก็อยากให้เหตุการณ์ชายแดนภาคใต้สงบลงสักที หากทุกฝ่ายมีความจริงใจในการแก้ปัญหา อนาคตข้างหน้าบ้านเมืองก็จะสงบสุข สิ่งหนึ่งที่ควร จะแก้ปัญหาเร่งด่วนคือการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนในพื้นที่หลากหลายชุดความคิดในสังคมที่ร่วมกันกลั่นออกมาเป็น “ข้อเสนอ” แม้จะดูแตกต่างกันไปสำหรับการแก้ปัญหา “ไฟใต้” แต่กระนั้นยังคงมี “จุดมุ่งหมายเดียวกัน” คือ “ยุติและขจัดความไม่สงบ” ในแดนแห่งมิคสัญญีให้ได้ ยิ่งในการเจรจา สันติภาพ ตลอดจนเวทีประชุมร่วมของรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างก็มุ่งหวังในการ จัดการปัญหาเรื้อรังในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน ซึ่งไม่ว่า “ผลเจรจา” จะออกมาหน้าใด สุดท้ายแล้วยังเชื่อว่า “สถานการณ์” จะเป็นเครื่องพิสูจน์?!!

ที่มา.สยามธุรกิจออนไลน์
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น