--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

บทเรียน จาก Wikileaks : จุดเปลี่ยนของโลก จริงหรือ !!!??

โดย ดร.พงษ์ศักดิ์ ฮุ่นตระกูล
สถาบันบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ สมยศ อรรคฮาดสี นักวิชาการอิสระ

ข้อสังเกตต่อวัตถุประสงค์ ของ Wikileaks ที่ต้องการเปิดเผยข้อมูลลับต่างๆ จะเป็นการป้องกันความรุนแรง และสงครามนั้น ดูเหมือนว่าจะตรงข้ามกับความเป็นจริง เพราะการมีความลับต่างหาก ที่เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ได้ ทว่าความลับต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญและทำให้การดำเนินการทางการทูตมีประสิทธิภาพ ฉะนั้น แทนที่ Wikileaks จะยุติความรุนแรง กลับเป็นการเร่งให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น ดังที่ได้กล่าวต่อไปนี้

จริงอยู่ที่ทุกประเทศต้องมีความลับด้วยเหตุผลหลายประการทั้งในด้านการทหาร ความมั่นคง รวมถึงเป็นข้อมูลที่ใช้ในการเจรจาเพื่อประโยชน์ของชาติ ความลับจึงมีประโยชน์กับทุกระดับในสังคม และความลับก็ทำให้การกระทำการใดๆ เนื่องจากความไม่รู้ เลือกที่จะใช้วิธีการเจรจา มากกว่าใช้ความรุนแรง

ทั้งนี้ แม้ว่าความลับจะเป็นสิ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็อยู่ที่การดำเนินการมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อวัตถุประสงค์ใด ลองนึกว่าหากไม่มีความลับในโลก ทุกประเทศสามารถรับรู้เรื่องเกี่ยวกับกำลังทหารของประเทศอื่นอย่างทะลุปรุโปร่ง จนทำให้ประเมินได้ว่าถ้าหากดำเนินการทางสงครามน่าเป็นผู้ชนะอย่างแน่นอน ก็เท่ากับว่าการไม่มีความลับก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้เกิดสงครามมากกว่าการดำเนินการทางการทูต

จึงกล่าวได้ว่า ความลับต่างๆ เป็นประเด็นสำคัญของการดำเนินการทางการทูตโดยเฉพาะระหว่างประเทศในทุกระดับ ความสำเร็จในการดำเนินการทางการทูตโดยทั่วไป จึงต้องประกอบด้วยมีการดำเนินการในทางลับและทางสาธารณชนควบคู่กัน

ถ้าพิจารณาการดำเนินการในทางสาธารณะ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ตามสื่อต่างๆ ที่เป็นมาตรการในทางลับนำมาใช้เพื่อให้ผลการเจรจาออกมาสำเร็จ

ข้อสังเกตคือ เบื้องหลังความสำเร็จของการเจรจาต่างๆ จำเป็นต้องอาศัยการดำเนินการในทางลับ (Private) โดยที่ต้องมีการปกปิดโดยปราศจากการรับรู้ของสาธารณะ เพราะเป็นการดำเนินมาตรการกดดันด้านต่างๆ ทั้งกดดัน ขู่ บลั๊ฟฟ์ หรือ การหาทางออกในรูปแบบต่างๆ และเป็นช่องทางที่สามารถสื่อสารได้อย่างตรงไปตรงมา

จะเห็นได้ว่า หากกลไกในการเจรจาในทางลับ ไม่ได้ผลอันเนื่องมาจากไม่มีความลับที่เป็นส่วนสำคัญในการเจรจา ความสำเร็จในการทูตคงแทบเป็นไปไม่ได้ และเมื่อการเจรจาไม่เกิดผล อาจเกิดความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ซึ่งตรงข้ามกับวัตถุประสงค์ของ Wikileaks อย่างสิ้นเชิง

สำหรับประเทศในเอเชีย การดำเนินการทูตในทางลับเป็นการดำเนินการที่แพร่หลาย ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย โดยมีตัวอย่างพบได้อยู่เสมอเมื่อเกิดปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าเป็นกรณีใดก็ตาม ประเทศไทยมักส่งตัวแทนในระดับต่างๆ ทั้งทางทหาร หน่วยงานความมั่นคง ไปจนถึงระดับรัฐมนตรี เพื่อเข้าเจรจาในทางลับกับประเทศนั้นๆ การเจรจาดังกล่าวคงไม่สามารถเปิดเผยในทางสาธารณะได้ ซึ่งผลที่ออกมาส่วนใหญ่มักจะประสบผลสำเร็จทุกครั้ง

ข้อพิจารณาที่สำคัญคือ การที่ Julian Assange อ้างว่า การเกิดขึ้นของ Wikileaks ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในภูมิศาสตร์การเมือง (Geopolitic) ระหว่างประเทศ เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาให้ชัดถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าผลที่ตามมา รวมถึงแนวทางการดำเนินการในเรื่องความลับและการทูตได้เปลี่ยนไปอย่างที่ Assange กล่าวอ้างหรือไม่

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่ระบุว่าเป็นข้อมูลลับที่รั่วไหลออกมาทาง Wikileaks นั้นเป็นข้อมูลที่เป็นความลับและมีความสำคัญที่สามารถเปลี่ยนแปลงแนวทางนโยบายสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น กรณีทหารอเมริกาในอิรัก และอัฟกานิสถาน ที่มีการทำร้ายประชาชนบริสุทธิ์ วิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาความรุนแรงคือ ความพยายามยับยั้งไม่ให้เกิดสงครามนั่นเอง

ในแง่ของข้อมูลของ Wikileaks เชื่อว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องรวมถึงสื่อมวลชนย่อมเข้าใจและทราบถึงข้อจำกัดดังกล่าวว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ได้มีอะไรใหม่ และเป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวาง แต่ข้อมูลดังกล่าวอาจมีผลต่อความรู้สึกของประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารข้อมูลอย่างต่อเนื่องเท่านั้น

นอกจากนี้ ความลับในเรื่องที่เกี่ยวทางการทูตและการต่างประเทศ ที่ทาง Wikileaks เผยแพร่ออกมาและอ้างว่าเป็นข้อมูลลับ อาทิ การที่นาโต้พยายามเข้าไปมีบทบาทในคาบสมุทรบอลข่าน ที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับรัสเซียเป็นอย่างมาก หรือ การที่นายกรัฐมนตรีอิตาลี เบอร์ลุสโคนีมีความใกล้ชิดกับทางรัสเซียเป็นอย่างมาก ประเด็นเหล่านี้ต่างเป็นที่ทราบได้ในวงการทูตและผู้เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี เพราะมีเหตุผลในเรื่องของภูมิศาสตร์การเมือง

ข้อมูลที่รั่วไหลออกมานั้นจึงไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างด้านภูมิศาสตร์การเมืองของประเทศเหล่านั้นได้

ดังนั้น เมื่อพิจารณาข้อมูลที่อ้างว่าเป็นความลับที่รั่วออกมาทั้งหมดที่ปรากฏใน Wikileaks จึงไม่ได้เป็นข้อมูลลับที่มีอ่อนไหวอย่างมากต่อความมั่นคงและการทูตระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับผู้ที่เกี่ยวข้องหรือต้องติดตามข่าวสารทางการทูตต่างๆ แม้ว่าเอกสารอาจถูกจัดว่าเป็นเอกสารลับก็ตาม แต่อาจสร้างความตื่นตระหนกให้ผู้ที่ไม่ทราบเรื่องและไม่มีความเข้าใจในเรื่องภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศที่ดีพอ จึงไม่มีเรื่องใดเป็นเรื่องคอขาดบาดตายอย่างที่ Assange กล่าวอ้าง

ชี้ให้เห็นว่าผลกระทบจากการที่เกิดขึ้นของ Wikileaks คงไม่ทำให้เกิดความตึงเครียดในระดับระหว่างประเทศหรือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญระดับประเทศ แต่ผลกลับย้อนกลับไปกระทบถึงบุคคลที่ให้ข่าว ที่มีชื่อปรากฏในรายงานที่เผยแพร่โดย Wikileaks มากกว่า บางคนอาจกระทบถึงอาชีพในด้านการทูต ขณะเดียวกันข้อมูลที่ปรากฏใน Wikileaks อาจทำให้เกิดความอับอายกับประเทศที่ข้อมูลรั่ว แต่คงไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับนโยบายใดๆ ของประเทศ เพราะนโยบายของแต่ละประเทศตั้งอยู่บนผลประโยชน์ร่วมกันของแต่ละประเทศอยู่แล้ว

ทว่าขณะนี้ Julian Assange อาจได้เรียนรู้การดำเนินการทางการทูตในทางลับ โดยใช้ข้อมูลที่เป็นความลับที่อ้างว่ายังอยู่ในมือเป็นจำนวนมหาศาล มาใช้ในการต่อรองกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อสู้ทางคดีที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองก็เป็นได้

ที่มา.มติชนออนไลน์
----------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น