--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

ครูผู้มีอุดมการณ์ปี 54 ขอผู้ปกครองใส่ใจให้บุตรหลานได้เล่าเรียน

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. จัดโครงการ “ตามรอยเกียรติยศครูผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณครู” ครั้งแรกเมื่อปี 2550 เพื่อยกย่องให้ครูมีความเป็นครูด้วยจิตวิญญาณ ปฏิบัติตนและปฏิบัติงานเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม ผู้ที่ได้รับรางวัลคนแรกคือ ครูจูหลิง ปงกันมูล และ สพฐ. ได้จัดมอบรางวัลดังกล่าวจากนั้นเป็นต้นมา สำหรับการมอบรางวัลในครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 5 ประจำปี 2554 มีผู้ได้รับรางวัล “ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” 4 คน จาก 4 ภาค ได้แก่ น.ส.สุพิทยา เตมียกะลิน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสล่าเจียงตอง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน นายศรัทธา ห้องทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองน้ำใส อ.กาบัง จ.ยะลา นางสิริยุพา ศกุนตะเสถียร ผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษานารี กทม. และนางศิริพร หมั่นงาน ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านวังอ้ายคง อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ โดยวันนี้ เลขาธิการ กพฐ. มอบเงินรางวัลให้กับครูทั้ง 4 ราย รายละ 300,000 บาท พร้อมเข็มทองคำเชิดชูเกียรติ และเกียรติบัตร

น.ส.สุพิทยา 1 ใน 4 ยอดครูผู้มีอุดมการณ์ประจำปี 2554 กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัล ทำงานครูมา 15 ปี ท่ามกลางความยากลำบาก เนื่องจากโรงเรียนอยู่ห่างไกลเมือง 96 กิโลเมตร มีการเดินทางที่ยากลำบาก ตลอด 15 ปี พักอยู่ในโรงเรียน และจะกลับเข้าเมืองเดือนละ 1-2 ครั้งเท่านั้น ในวัยเด็กครูมีความฝันอยากเป็นนักสังคมสงเคราะห์ แต่เมื่อได้มาเป็นครู ก็เหมือนกับเป็นนักสงเคราะห์เช่นกัน แต่เป็นการสงเคราะห์ด้านความรู้

ครูสุพิทยา กล่าวต่อไปว่า ใช้หลักแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในการสอนนักเรียนมาตลอดเวลา 15 ปี เท่าที่พูดคุยกับนักเรียน พบว่าแต่ละคนมีความฝัน อยากเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ครู ทหาร เป็นต้น เนื่องจากเห็นตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อมข้าง ๆ ตัว ครูสุพิทยา จึงฝากมายังนักเรียนในเมืองให้มีความตั้งใจเรียน จากความพร้อมที่มีมากกว่าเด็กในชนบท และยังฝากพ่อแม่ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานให้ได้รับการศึกษา ให้มีความรับผิดชอบ และมุ่งมั่น ครูสุพิทยา จะสนับสนุนให้นักเรียนที่เรียนจบชั้น ป.6 เข้ามาเรียนในเมือง เพื่อจะได้เรียนรู้ชีวิตให้เท่าทันกับสังคมในเมือง ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่ครูใช้เป็นหลักในการสอนนักเรียนตลอดมา

ที่มา.เนชั่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น