กระดานหกการเมืองไทยทั้ง หกสูง-หกต่ำสลับไม่เป็นจังหวะ
คนการเมืองนั่งอยู่บนกระดานหก ด้วยความระทึก ก่อนลงสนามเลือกตั้งใหญ่
ภายใต้สิ่งแวดล้อม-ลีลาการเคลื่อนไหวของมวลชนหลากสี
ไชยันต์ ไชยพร" สิงห์ดำจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีแบรนด์ติดตัว "นักวิชาการฉีกบัตรเลือกตั้ง" เขาวิเคราะห์กระดานการเมือง-กองทัพ ลงลึกไปถึงท่วงท่าของพรรคประชาธิปัตย์-พรรคเพื่อไทย และตัวแปรพรรคภูมิใจไทย
- แนวโน้มการเมืองปี 2554 จะเป็นอย่างไรหลังความวุ่นวายหลายปีที่ผ่านมา
ผมขอฟังธงว่าภายใน 6 เดือนแรกจะต้องมีการยุบสภา ผมไม่คิดว่าจะมีอุบัติเหตุทางการเมืองเกี่ยวกับเรื่องรัฐประหารอะไรด้วย ผมไม่เชื่อและผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องดีสำหรับรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่จะยื้อไปครึ่งปีหลังด้วยซ้ำไป แต่ถ้าจะเล็งผลเลิศถึงขนาดอยู่จนกว่าจะพ้นปีงบประมาณอีกปี ผมคิดว่าจะกลายเป็นความประมาทของประชาธิปัตย์นะ เพราะวันนี้จนถึงครึ่งปีแรกการโยกย้ายทหารยังมีอีกรอบสองรอบ คุณก็ทำไปเถอะ
ผมคิดว่าครึ่งปีแรกคงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะประเด็นสำคัญคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดว่าจะมีการยุบสภา ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 มาตราผ่าน 3 วาระ เมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส.ส.ในสภาก็จะมีสถานะที่มาไม่สอดคล้องตรงกับรัฐธรรมนูญที่แก้ เพราะเขตเล็กแล้ว ส.ส.จะไม่ตรง ก็จะต้องมีการยุบสภา
การยุบสภาต้องเกิดขึ้นภายในครึ่งปีแรก แต่ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน นายกฯก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองเสนอ แล้วสภาไม่ไว้วางใจตรงนี้ นายกฯมีเงื่อนไขคือลาออกหรือยุบสภา เชื่อว่านายกฯเลือกยุบสภามากกว่า
คาดว่าจะยุบสภาราว ๆ เดือนเมษายน ซึ่งปกติพี่น้องเสื้อแดงจะชุมนุมใหญ่ในเดือนเมษายนมาตลอด รวมทั้งปีนี้เขาอาจจะชุมนุมครั้งใหญ่เช่นกัน แต่ถ้ายุบสภาเขาก็ไม่มีเหตุผลในการชุมนุมใหญ่เพราะต้องรอเลือกตั้งหลังยุบสภา
ส่วนเดือนมกราคมซึ่งจะมีการชุมนุม ทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง จะเป็นการชุมนุมครั้งแรกโดยที่ไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็อาจจะมีความพยายามที่จะชุมนุมยืดเยื้อ ซึ่งบทเรียนทุกฝ่ายมีมาแล้ว และหาก เสื้อแดงเพลี่ยงพล้ำก็จะส่งผลกระทบถึงพรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคมีปัญหา ฉะนั้นถ้าเขาทำอะไรนอกกรอบการชุมนุมอาจทำให้พี่น้องเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยแยกทางกันเดินละมั้ง
- สถานะพรรคเพื่อไทยดูเหมือนไม่มีเอกภาพในการเคลื่อนไหว
มันเป็นผลพวงที่คุณทักษิณทำกับพรรคการเมืองนี้ด้วยตัวของเขาเอง เขาทำลายพรรคไทยรักไทยมาแล้ว ทำลายพรรคพลังประชาชน แล้วก็ยังจะทำลายพรรคเพื่อไทยอีก เขาให้คนแต่ละคนติดต่อกับเขาเอง แล้วเขาก็ไม่ไว้วางใจให้ใครเป็นหัวหน้าพรรคได้อย่างจริง ๆ จัง ๆ ที่จะให้เขาอิสระในการดูแลพรรค ไม่แฟร์พอที่จะให้การตัดสินใจเป็นของคนอื่น ถ้ามีอุดมการณ์เพื่อพี่น้องรากหญ้าจริง ๆ คุณทักษิณก็ต้องคิดว่านโยบายสำคัญกว่าตัวบุคคล
- เป็นปัญหาภายในพรรคมากกว่าปัญหาภายนอกที่บอกว่าถูกปฏิบัติอย่าง 2 มาตรฐาน
ถ้าอดีต ส.ส.ที่ถูกตัดสิทธิ 111 กลับมาพวก ส.ส.นกแลก็ตาย หรือดาวฤกษ์ที่ เลื่อนขั้นขึ้นมาก็ตายหมด มันเป็นปัญหาของเขากันเองที่จะจัดลำดับยังไง ซึ่งปัญหานี้แม้ไม่มีการยุบพรรคก็เกิดขึ้นอยู่ดี เพราะคนอยากจะขึ้นมาทั้งนั้น คุณทักษิณใช้วิธีการปกครองแบบ divide and rule (แบ่งแยกแล้วปกครอง)
แต่ผมเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะปรับตัวได้ เขายังมีภาษีอยู่เยอะที่จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง แล้วในปี"55 บรรดา 111 ออกมาก็จะได้ขุนพลระดับมีความรู้ความสามารถที่จะขับเคลื่อนอย่างมีคุณภาพได้อีกครั้งหนึ่ง ผมเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยมีความเป็นสถาบันได้หากละทิ้งเรื่องตัวบุคคลและคิดถึงประโยชน์ประชาชนจริง ๆ น่าจะเป็นอย่างนั้น
- ประชาธิปัตย์จะพบแรงเสียดทานอะไรอีกหลังผ่านคดียุบพรรคประชาธิปัตย์มาแล้ว
แรงเสียดทานภายในรัฐบาลเอง ปัญหาพรรคร่วม พรรคภูมิใจไทย อีกอย่างหนึ่งก็คือ แรงเสียดทานที่จะเกิดจากประชาชนส่วนหนึ่งมองว่าประเด็นที่พี่น้องเสื้อแดงเรียกร้องก็เป็นปัญหา เช่น เรื่องความชัดเจน 91 ศพรวมกรณีในวัดปทุมฯ ซึ่งเมื่อกราฟความพอใจพรรคประชาธิปัตย์เลยจุดพีกไป กราฟก็จะตกเป็นเรื่องปกติ มีขาลงแล้วปัจจัย 6 เดือนหลังอาจจะเพิ่มขึ้นยิ่งอยู่นานสถานการณ์ยิ่งเปลี่ยน
ความเสียหายของภาพลักษณ์พรรคประชาธิปัตย์มันถึงที่สุดแล้ว มันจะไม่มีแย่ไปกว่านี้อีกแล้วในสายตาพี่น้องเสื้อแดง อย่างไรก็ตามที่เขายังไม่ออกมาก็แสดงว่า ยังมีเหตุผลพอที่เขาจะไม่ก่อจลาจล ก็แสดงว่าเขายังฟังกันอยู่
- เหตุจลาจลรอเงื่อนไขอื่นหรือเปล่า
ภายใน 6 เดือนข้างหน้ามันยังเซฟอยู่ คงไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ แต่หลังจากนั้นเราไม่รู้เงื่อนไขในอนาคตว่าจะมีใครในรัฐบาลทำอะไรออกมาหรือเปล่า เท่าที่เห็นตอนนี้คงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้ เช่น เป็นรัฐบาลมือเปื้อนเลือดในภาวะปกติอยู่ไม่ได้แล้ว รวมถึงเรื่องยุบพรรค แต่เขาอยู่มาได้แสดงว่ามีเสียงประชาชนสนับสนุนเขาอยู่และมากพอ
- บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็พยายามเล่นบทตรงกลาง บอกว่าเข้าไปคุยกับเสื้อแดงและกล้าหักกับเสื้อเหลือง ในที่สุดแล้วประชาธิปัตย์ได้เปรียบในการเป็นพรรค ตรงกลาง ซึ่งจะเป็นไพ่ที่ฝ่ายความมั่นคง จะเลือกเล่น...เล่นนักการเมืองที่เป็นกลางได้จริงระหว่าง 2 ขั้วการเมืองแดง-เหลือง ถ้ามีการเล่นชักเย่อแล้วสามารถเข้าไปเล่นได้หมดทุกฝ่าย เป็นเรื่องปกติ 2 ขั้วเขาทะเลาะกันแล้วพรรคประชาธิปัตย์สามารถอยู่ตรงกลางได้ จะทำให้ 2 ขั้วเกรงใจหรือโดนเกลียดจากทั้ง 2 ขั้ว
- บทบาทกองทัพกับการเมือง
ถ้าไม่มีความขัดแย้งในกองทัพ ก็คงจะเล่นบทบาทควบคุมความมั่นคงภายใน แต่ถ้ามีความขัดแย้งภายในกองทัพก็จะมีปัญหา ผมคิดว่าความขัดแย้งภายใน กองทัพสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิดสถาบัน และโยงใยกับนักการเมืองด้วย ซึ่งตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย ก็แข่งกันเล่นบทบาทเดินสายกลาง อย่างภูมิใจไทย ก็พยายามตอบโจทย์ เกี่ยวกับเรื่องสถาบัน แล้วบอกว่าฉันคือ ทางเลือกระหว่างสีแดง กับสีเหลืองแล้วพยายามจะให้พรรคประชาธิปัตย์กับ เหลืองอยู่ด้วยกัน
- บทบาทพันธมิตรกับพรรคการเมืองใหม่
ผมไม่เห็นด้วยเรื่องตั้งพรรค ควรเป็นภาคประชาชนแบบนี้ และให้เหตุผลต่าง ๆ ข้อแรกคุณสนธิ ลิ้มทองกุล มีธุรกิจอยู่แล้ว ข้อ 2 คุณอย่าเมากับประชาชน มวลชน มันเยอะจริงแต่กระจัดกระจาย คุณเห็น เขามาร่วมแต่คุณไม่รู้หรอกว่าจริง ๆ เขาเป็นยังไง ถ้าจะมาชูนโยบายชาติศาสนาพระมหากษัตริย์อย่างนั้น พรรคการเมืองมันทำอะไรไม่ได้แล้ว ทำอะไรไม่เป็นก่อนจะเป็นพรรคต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าตกลงจะขับเคลื่อนด้วยนโยบายอะไรเป็นเสรีนิยมใหม่หรือเป็นอนุรักษนิยม หรือเป็นอะไร
- พรรคการเมืองใหม่ตอบสนองในเชิงอุดมคติได้ไหมว่าเป็นพรรคของมวลชน
มันเป็น...แต่ไม่มีหลักการของพรรคการเมืองว่าจะขับเคลื่อนแบบไหน แตกต่างจากพรรคอื่นอย่างไร อย่างถ้า สมมติบอกว่าจะขึ้นภาษีมรดก ภาษีที่ดินแล้วเคยคุยกับพี่น้องพันธมิตรฯหรือเปล่า หรือเรื่องเกย์ เรื่องทำแท้ง จะให้ทำแท้งโดยเสรีดีไหมจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องนี้... มหาจำลองท่านก็คงไม่ยอมอยู่แล้วพอแตกประเด็นที่เป็นรายละเอียดแบบนี้ก็อยู่กันไม่ได้ ฉะนั้นพรรคการเมืองใหม่จึง โตลำบาก
- แนวโน้มผลการเลือกตั้งครั้งหน้า
ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งในครั้งหน้าจะไม่มีพรรคไหนได้คะแนนเสียงเกินครึ่ง เพราะจะขับเคี่ยวกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย ใครได้เยอะกว่ากันและจะแข่งกันจัดตั้งรัฐบาล
- การเคลื่อนไหวที่เข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูงจะมีประเด็นเข้มข้นขึ้นหรือไม่
เข้มข้นขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ขยายผล 100 เปอร์เซ็นต์ ซึมลึกขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีทางแก้ไขได้ง่าย ๆ ถ้าไม่เปิดเสรีภาพให้มีการพูดคุยกันแบบเป็นเหตุเป็นผลกัน ต้องมีการตกลงกันในระยะยาว เราต้องมาคุยกันเรื่องรูปแบบการปกครอง หลักการปกครองว่าจะเอาอย่างไร
เพราะสถาบันภายใต้รัฐธรรมนูญกำหนดเรื่องทรงลงพระปรมาภิไธย ถ้าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วสถาบันก็ไม่ต้องทำงานเยอะหรอก แต่ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในช่วงพัฒนา มีปัญหาความยากจนเยอะแยะ ฉะนั้นสถาบันก็ลงไปทำงาน ซึ่งความจริงไม่ต้องทำงานหนักอย่างที่บางคนกล่าวหาว่าสถาบันไม่ได้ทำงานหนัก ซึ่งนั่นไม่ใช่ประเด็นหลัก
ในอังกฤษเป็นต้นแบบของประชาธิปไตย ก็มีสถาบันกษัตริย์ ซึ่งระยะเวลาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของอังกฤษมีมานานกว่าไทย จึงมีระยะเวลาการปรับตัวและความก้าวหน้าของการเมืองต้องค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งของเราก็ไม่ได้ช้านะ
- ประเด็นเรื่องความไม่จงรักภักดีจะ ถูกนำมาใช้ทางการเมืองในปีหน้ามากขึ้น อีกหรือไม่
คิดว่าน้อยลง เพราะต่างคนต่างมีบทเรียนกันมาแล้ว ตอนนี้ทหารก็พูดอะไรระมัดระวัง เขาพูดว่าใครทำผิดกฎหมายก็ว่ากันไป ผบ.ทบ.เห็นว่าทุกคนต้องรักษาสถาบัน แต่ก็ไม่ได้ไปกล่าวหาใครว่าไม่จงรักภักดี หลังจากเขาขึ้นมาตำแหน่งนี้แล้ว เขาก็จะบอกว่าใครทำผิดกฎหมายก็ว่ากันไป ทุกคนต้องเรียนรู้บทเรียนอันนี้ ไม่ว่า ผบ.ทบ.หรือดารานักร้อง ถึงแม้จะมี ความหวังดี แต่การพูดตรงนั้นจะทำให้สถาบันเสียหายด้วย
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น