ทั้งผลงานรัฐบาล 2 ปี ทั้ง แคมเปญประชาวิวัฒน์ หรือของขวัญ 9 ข้อ และปฏิบัติการ ปฏิรูปประเทศไทย คือแนวทางต่อยอดนโยบายประชานิยม
บางแคมเปญถูกคิดค้นขึ้นใหม่จากไอเดียพรรคประชาธิปัตย์ แต่มีบางข้อที่ถูกปัดฝุ่นจากรัฐบาลเก่า
แต่ทุกข้อ-ทุกคำในแคมเปญ ครอบคลุมคนรายได้น้อย-ด้อยโอกาสทั้งประเทศ
เป็นแนวทางตามที่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรี เคยประกาศเป็นวรรคทองไว้ว่า "ภายในปี 2560 ประเทศไทยจะเป็นสังคมที่มีสวัสดิการ คนไทยทุกคนมีหลักประกันครบถ้วน"
คำสั่งนายกรัฐมนตรีจึงถูกนำไปสู่การปฏิบัติการ ทำตัวเลข จัดตารางงบประมาณสำหรับสวัสดิการทุกด้าน ทั้งเรียนฟรี-เดินทางฟรี-ค่าไฟฟรี และมีหลักประกันค่ารักษาพยาบาลฟรี
แผนปฏิบัติการ-ปฏิรูปประเทศไทยจึงถูกมอบหมายให้ "ทีมงานนายกรัฐมนตรี" รับไม้ต่อไปดำเนินการ อาทิ ด้านการสร้างระบบเศรษฐกิจที่เท่าเทียมและเป็นธรรม อยู่ในมือของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ นายสาวิตต์ โพธิวิหค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
ด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและขยายระบบสวัสดิการสังคม ถูกมอบหมายให้ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
ด้านการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การเมือง และความไม่เท่าเทียมในสังคม ถูกสั่งการให้ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบร่วมกับ นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของนายกรัฐมนตรี
ด้านการสร้างอนาคตของชาติด้วยการพัฒนาคน เด็กและเยาวชน นายกรัฐมนตรีอาสาเป็นผู้รับผิดชอบหลักด้วยตัวเองร่วมกับที่ปรึกษาคู่ใจ นายกนก วงษ์ตระหง่าน
หากนับจำนวนเด็กนักเรียนชั้นประถม-มัธยมต้น-มัธยมปลาย/สายสามัญ ที่ได้เรียนฟรีทั้งประเทศ
หากนับจำนวนแรงงานนอกระบบไม่น้อยกว่า 24 ล้านคน
หากนับผู้ได้รับอานิสงส์จากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล ทั้งข้าราชการและผู้อยู่ในระบบประกันสังคม และโครงการ 30 บาทรักษาฟรี การสงเคราะห์คนว่างงานและชราภาพ
และนับจำนวนผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการและเด็กด้อยโอกาสแล้ว คาดว่ารัฐบาลอาจต้องใช้เงินอุดหนุนเฉลี่ยไม่น้อยกว่าปีละ 6 แสนล้าน (นับจากปีงบประมาณ 2555-2559) ที่มีอัตราเพิ่มตามจำนวนประชากร
ดังนั้น หากนับจำนวนอย่างหยาบ ๆ จะมีประชาชนที่ได้รับอานิสงส์จากแคมเปญ-ของขวัญ "9 ข้อประชาวิวัฒน์" ไม่ต่ำกว่า 31 ล้านครัวเรือน
แต่มีผู้ที่เสียประโยชน์ ขาดทุนกำไร เป็นเจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่วงการน้ำมันและสินค้าเกษตร ผู้ครอบครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งตลอดกาลไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท
เพียงแค่ฝ่ายรัฐบาลจัดงบประมาณหว่านลงไป เพื่อชิมลางเป็นหัวเชื้อในแผนปฏิบัติการ-ปฏิรูปประเทศไทยในเดือนมกราคม ก็ใช้วงเงิน 9,190.30 ล้านบาท
โดยหวังจะช่วยให้คนไทย เด็ก เยาวชน ผู้พิการ คนจนและคนด้อยโอกาสได้รับอานิสงส์ และมีหลักประกันทางสังคมที่มีคุณภาพ ได้รับความเป็นธรรมและเท่าเทียม จากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม
จำแนกประชาชนที่ได้รับผลจากนโยบาย "สวัสดิการ" เฉพาะการสร้างอนาคตของชาติด้วยการพัฒนาคนเด็กและเยาวชน มีผู้ได้รับประโยชน์ 11.1 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาและประชาชนที่ต้องการศึกษาและพัฒนาเด็กนอกระบบการศึกษาอายุ 3-17 ปีจำนวน 1.7 ล้านคน เด็กพิการ 0-17 ปี จำนวนประมาณ 100,000 คน
ส่วนเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา ประชากรที่ต้องการพัฒนาขีดความสามารถตนเอง 8.8 ล้านคน เด็กนักเรียนในชนบทห่างไกล 500,000 คน เด็กที่ถูกดำเนินคดี 50,000 คน ครูสอนดีทุกจังหวัดทั่วประเทศ 60,000 คน
ด้านยกระดับคุณภาพชีวิตและสวัสดิการสังคม จากการจัดระบบสวัสดิการสังคม ให้ครอบคลุมแม่และเด็ก 5.1 ล้านคน โดยเป็นกลุ่มแม่และเด็กอายุ 0-2 ปี จำนวน 2.4 ล้านคน เด็กอายุ 3-5 ปี จำนวน 2.7 ล้านคน
การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ครอบคลุมราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกินของตนเอง 546,942 ครัวเรือน การแก้ไขปัญหา ที่อยู่อาศัยในชนบท กลุ่มเป้าหมาย 50,000 ครัวเรือน ใน 500 ตำบล
ด้านการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การเมือง และความไม่เท่าเทียมในสังคม มีผู้ได้รับประโยชน์ในระดับตำบล 1,000 ชุมชนทั่วประเทศ มีอาสาสมัครยุติธรรมชุมชน 99,000 คน ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย ข้อพิพาท
ยุทธศาสตร์นี้สามารถลดข้อพิพาทในชุมชนได้มากกว่าร้อยละ 70 ซึ่งลดค่าใช้จ่ายในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมรายละประมาณ 144,946 บาท
ด้านการสร้างระบบเศรษฐกิจที่เท่าเทียมและเป็นธรรม จะทำให้เกษตรกรกว่า 300,000 คน มีต้นทุนสุกรลดลง 4-7 บาทต่อกิโลกรัม และต้นทุนไข่ไก่ลดลง 30-60 สตางค์ต่อฟอง
ผู้บริโภคกว่า 67 ล้านคน ได้ซื้อไข่ไก่ ถูกลงจากการซื้อเป็นกิโลกรัมประมาณ 5-10 สตางค์ต่อฟอง และสามารถหา แหล่งซื้อที่ถูกลงจากการเปรียบเทียบ ราคาผ่านทางเว็บไซต์และรายการทีวี
มีผู้ที่รายได้น้อยกว่า 9.1 ล้านครัวเรือน ได้ประโยชน์จากมาตรการไฟฟ้าฟรี ประหยัดเงินได้เฉลี่ย 135 บาทต่อเดือน หรือเฉลี่ย 1,620 บาทต่อปี
คนไทยทั้งประเทศได้ประโยชน์จากการลดภาระอุดหนุนแอลพีจี นำเงินที่ประหยัดได้ไปใช้ในการลดราคาน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และ/หรือใช้อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล
ผู้ที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบประกอบอาชีพได้อย่างถูกกฎหมายมีรายได้เพิ่มขึ้น เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ง่ายในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการประกอบอาชีพ และเข้าถึงสวัสดิการประกันสังคมได้มากขึ้น
ต้นทุนของ "สังคมสวัสดิการ" ถูกคำนวณเป็นประมาณการใช้จ่ายไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต่อเนื่องทั้งฉบับที่ 10 ต่อเนื่องถึงแผนฯ 11
ประมาณการค่าใช้จ่าย ซึ่งครอบคลุมเรื่องการศึกษาเรียนฟรี 15 ปี ระบบสาธารณสุข 30 บาทรักษาทุกโรค และการประกันสังคมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงาน นอกระบบ คนว่างงาน คนชราภาพ ผู้สูงอายุ ผู้พิการและเด็กด้อยโอกาส ในปี 2554 ใช้งบประมาณ 557,679.70 ล้านบาทต่อเนื่องในปี 2555 ซึ่งเป็นปีแรกของแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 จะใช้เพิ่มขึ้นเป็น 601,189.16 ล้านบาท
ในช่วงที่อาจเป็นช่วงเริ่มต้นสมัยของรัฐบาลหน้า ตามตารางปีงบประมาณรายจ่าย 2556 จะต้องใช้เงิน 611,999.21 ล้านบาท ปีถัดไป 2557 ใช้วงเงิน 653,164.14 ล้านบาท และในปี 2558 ใช้เงินอุดหนุน อีก 700,330.21 ล้านบาท ในช่วงปีสุดท้ายของแผนฯ 11 ใช้วงเงินเพื่อระบบสวัสดิการทั้งสิ้น 750,401.66 ล้านบาท
งบประมาณทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่เป็นภาระงบประมาณในตารางรายจ่ายประจำปี และส่วนหนึ่งมาจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น-กอนทุนระดับชาติ และรายจ่ายของภาคเอกชน
จากนี้ไปทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายธุรกิจ และผู้มีรายได้สูงทุกคนต้องมี "ต้นทุน" ที่ต้องจ่ายเพิ่ม
ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น