คอป. ขอเลื่อนส่งรายงานผลสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์สลายชุมนุมคนเสื้อแดงจากวันที่ 14 ม.ค. ไปเป็น 24 ม.ค. เนื่องจากกรรมการยังตกลงกันไม่ได้ในบางประเด็น “คณิต” เผยนอกจากรายงานจะมีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี 10 ข้อให้ไปปฏิบัติเพื่อสร้างความปรองดอง ระบุมีผู้เสียหาย 418 คนยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากหน่วยงานใดทั้งที่แจ้งไปแล้ว ด้านกรรมการสิทธิมนุษยชนฯยังไม่สรุปสอบเสนอรัฐบาล อ้างรายละเอียดของเรื่องเยอะทำให้เขียนรายงานยาก ตำรวจรับลูก “มาร์ค” เป็นตัวกลางนัดแกนนำเสื้อแดง ผู้ค้าย่านราชประสงค์หารือแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนจากการชุมนุม เบื้องต้นเสนอให้ย้ายไปจัดกิจกรรมที่สวนลุมพินีแทน
จากกรณีที่กลุ่มผู้ประกอบการค้าย่านราชประสงค์ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจัดระเบียบการชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่ให้กระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ตำรวจเป็นผู้ประสานงานเจรจากับผู้ชุมนุมและผู้ประกอบการนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ออกมาระบุว่า ได้ประสานงานไปยังกลุ่มผู้ประกอบการและแกนนำผู้ชุมนุมแล้วเพื่อขอข้อมูลในแต่ละส่วนมาพิจารณาดูว่าจะยืดหยุ่นกันได้อย่างไร เช่น อาจมีการกำหนดเวลาตายตัวสำหรับการชุมนุม และให้ชุมนุมได้เดือนละครั้งเท่านั้น
เสื้อแดง-ผู้ค้าต้องพบกันครึ่งทาง
“ทั้งสองฝ่ายคงต้องมาพูดจากันเพื่อร่วมกันหาทางออกเรียกว่าพบกันครึ่งทาง ผู้ชุมนุมต้องเข้าใจความเดือดร้อนของคนอื่น ขณะเดียวกันก็ต้องมองการชุมนุมว่าเป็นการสะท้อนถึงปัญหาที่คนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับผลกระทบด้วย ดังนั้น จึงต้องร่วมกันหาทางออกที่เหมาะสม” พล.ต.ต.วิชัยกล่าว
พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จะประชุมหารือกับตำรวจที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการไปเจรจากับผู้ชุมนุมและกลุ่มผู้ประกอบการค้าย่านราชประสงค์
เสนอย้ายไปชุมนุมในสวนลุมพินี
“เบื้องต้นเป็นที่น่าพอใจเพราะทั้ง 2 ฝ่ายตอบรับที่จะพูดคุยกัน คาดว่าภายในไม่กี่วันนี้จะได้ข้อสรุปที่เป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย เบื้องต้นจะเสนอให้คนเสื้อแดงย้ายสถานที่ไปชุมนุมที่อื่นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เช่น ที่สวนลุมพินี” พล.ต.ต.ปิยะกล่าว
ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล ประธานสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า รัฐบาลต้องบริหารจัดการการชุมนุมของคนเสื้อแดงให้ดี อย่าปล่อยให้ท้าทายอำนาจหลังยกเลิกใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น
อ้างเสื้อแดงเป็นภัยต่อสาธารณะ
“หากปล่อยให้คนเสื้อแดงชุมนุมที่ราชประสงค์เดือนละ 2 ครั้งอย่างที่ประกาศไว้ จะทำให้คนเสื้อแดงเหิมเกริมก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลต้องมีมาตรการออกมา เพราะการชุมนุมที่นำเครื่องขยายเสียงมาใช้หรือมีการปิดกั้นช่องทางการจราจรย่อมถือว่าเป็นภัยต่อสาธารณะ หากไม่ทำอะไรเท่ากับว่ารัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ” ผศ.ทวีกล่าวพร้อมเสนอว่า รัฐบาลควรใช้กฎหมายควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาไปแล้ว ในขณะที่ตำรวจต้องทำหน้าที่ของตัวเองอย่างจริงจัง ไม่อย่างนั้นผู้ชุมนุมจะไม่กลัวกฎหมาย
ผศ.ทวียังเรียกร้องให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงออกมาแสดงพลังเพื่อไม่ให้คนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวอีก เชื่อว่าจะไม่มีการปะทะกันระหว่างประชาชน เพราะต่างได้รับบทเรียนถึงความสูญเสียมาแล้ว
กรรมการสิทธิฯยังไม่สรุปรายงาน
นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาตรวจสอบกรณีเหตุความรุนแรงจากการขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 กล่าวถึงความคืบหน้าในการทำงานว่า คณะอนุกรรมการแบ่งประเด็นพิจารณาออกเป็น 10 ประเด็น บางประเด็นเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างการเขียนรายงาน ซึ่งจะพยายามทำให้เร็วที่สุด
รายละเอียดเยอะเขียนรายงานยาก
“ได้สั่งการไปแล้วว่าให้ทำให้เร็วที่สุด แต่คนที่รับผิดชอบเขียนรายงานอ้างว่าเขียนยากเพราะมีรายละเอียดเยอะ ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อความถูกต้อง หากเร่งทำเกรงว่าจะเกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้”
นางอมรายังกล่าวถึงการช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำว่า คณะกรรมการสิทธิฯไม่มีหน้าที่เรื่องนี้โดยตรง แต่ได้ประสานงานกับกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และสภาทนายความ เพื่อให้ความช่วยเหลือแล้ว
เผย 10 ประเด็นสอบข้อเท็จจริง
สำหรับ 10 ประเด็นที่คณะอนุกรรมการแยกสอบประกอบด้วย 1.การชุมนุมและเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมระหว่างวันที่ 12 มี.ค.-20 พ.ค. 2553 ทั่วกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด รวมทั้งการปิดล้อมสถานที่ราชการต่างๆ 2.กรณีนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความรุนแรง เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2553 รวมทั้งการที่รัฐบาลสั่งให้มีการตัดสัญญาณผ่านดาวเทียมสถานีพีเพิล ชาแนล และระงับการเผยแพร่ข่าวสารของสถานีวิทยุชุมนุม สื่อสิ่งพิมพ์ และอินเทอร์เน็ต 3.การสั่งการของรัฐบาล รวมถึงการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมในวันที่ 10 เม.ย. 2553
ครอบคลุมทุกเหตุการณ์ความรุนแรง
4.เหตุการณ์ยิงระเบิดเอ็ม 79 บริเวณแยกศาลาแดง ในวันที่ 22 เม.ย. 2553 กรณีมีผู้ใช้อาวุธปืนยิงเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ศาลาแดงและถนนพระราม 4 ในวันที่ 7 พ.ค. 2553 5.เหตุการณ์ปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ วันที่ 28 เม.ย. 2553 6.การชุมนุมบริเวณโรงพยาบาลตำรวจ รวมถึงการเข้าไปตรวจค้นภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และสภากาชาด 7.การสั่งการของรัฐบาล การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม ระหว่างวันที่ 13-19 พ.ค. 2553 รวมทั้งเหตุการณ์จลาจล การวางเพลิง และการทำลายทรัพย์สิน อาคาร สถานที่ ในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด
8.กรณีมีผู้เสียชีวิต 6 รายที่บริเวณวัดปทุมวนารามฯ ระหว่างวันที่ 19-20 พ.ค. 2553 9.กรณีการเสียชีวิตและบาดเจ็บ ตลอดจนความรุนแรงต่อสื่อมวลชนในรูปแบบต่างๆ และ 10.กรณีการเสียชีวิต บาดเจ็บ สูญหาย และถูกควบคุมตัว ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.-20 พ.ค. 2553
คอป. ยังส่งรายงานนายกฯไม่ได้
ด้านความคืบหน้าในการทำงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน วันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือกันนานกว่า 4 ชั่วโมง เพื่อจัดทำข้อสรุปตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์กระชับพื้น แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดว่าจะสรุปรายงานเสนอต่อนายกรัฐมนตรีภายในวันที่ 24 ม.ค. นี้
นายคณิตแถลงว่า ตามกำหนด คอป. ต้องทำรายงานเสนอต่อนายกรัฐมนตรีภายใน 6 เดือน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 14 ม.ค. นี้ แต่ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปในบางประเด็นจึงขอเลื่อนไปในวันที่ 24 ม.ค.
เบื้องต้นมีเนื้อหาแค่ 25 หน้า
“เบื้องต้นรายงานนี้จะมีเนื้อหาเพียง 25 หน้า ซึ่งจะเกี่ยวกับการทำงานของ คอป. ที่ผ่านมา พร้อมมีข้อเสนอ 10 ข้อถึงนายกรัฐมนตรี หลังเสนอรายงานต่อนายกฯแล้วจะจัดพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษเพื่อให้เป็นกรณีศึกษาของต่างประเทศด้วย” นายคณิตกล่าวพร้อมย้ำว่า คอป. ยังต้องการเห็นความจริงใจของรัฐบาลในเรื่องการประกันตัวคนเสื้อแดง โดยเฉพาะพวกแนวร่วมที่ไม่มีทนายความ ไม่มีหลักทรัพย์ ส่วนระดับแกนนำ คอป. ไม่ได้เน้น เพราะมีขีดความสามารถหาทนายความและเงินที่จะใช้ค้ำประกันและต่อสู้คดี
418 เสื้อแดงยังไม่ได้รับเยียวยา
นายคณิตระบุอีกว่า คอป. สำรวจพบมีผู้เสียหายจากเหตุการณ์ชุมนุมที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากหน่วยงานใดเลย 418 ราย ทั้งที่ยื่นเรื่องต่อรัฐบาลแล้ว ซึ่ง คอป. จะเข้าไปดูแลในส่วนนี้
“สำหรับการทำงานหลังจากนี้จะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริงด้านต่างๆ เพราะตอนนี้ คอป. ได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาแล้วแต่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน จึงต้องเชิญมาให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหา” นายคณิตกล่าว
ที่มา.หนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
**********************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น