--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

เตี้ยอุ้มค่อม !!!???

คนเดินตรอก โดย...วีรพงษ์ รามางกูร

เวลาไปไหนมาไหนมักจะมีหัวข้อที่ผู้คนไต่ถามอยู่เสมอก็คือ เศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจ อเมริกาและยุโรปจะเป็นอย่างไร ดอกเบี้ยในตลาดโลกจะขึ้นหรือไม่ ราคาน้ำมันจะเป็นอย่างไร เป็นประเด็นสนทนาที่ผู้คนในวงการธุรกิจถามไถ่กันเป็นนักหนา

เวลากลับไปบ้านเวลาว่างก็พยายามนั่งคิดอยู่เสมอ เพราะเวลานี้มีเวลาว่างมาก เพราะเลิกอ่านข่าว เลิกดูข่าว เลิกฟังข่าวมานานแล้ว กลับไปซื้อภาพยนตร์ที่เป็นละครของไทย ญี่ปุ่น และเกาหลี เรื่องยาว ๆ มาดูเป็นที่เบิกบานสำราญใจ แต่สำหรับเรื่องเศรษฐกิจแล้วจะทำอย่างไร ก็ยังผ่านเข้ามาในมโนวิญญาณ ตั้งใจจะไม่สนใจอย่างไรก็ยังเข้ามาในสมอง ต้องเอาไปคิดไตร่ตรองอยู่อย่างตัดไม่ได้ขายไม่ขาด

ถ้าจำกันได้ปัญหาเศรษฐกิจระยะปานกลางคือ 5 ปี และระยะยาวคือ 10 ปีนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญกว่าปัญหาระยะสั้น เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกานั้นเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ การจะเปลี่ยนทิศทางเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เคยเปรียบเทียบว่าเหมือนเรือเอี้ยมจุ๊นที่บรรทุกทรายเต็มลำเรือ จะจมก็ค่อย ๆ จม และดึงขึ้นได้ยาก จะฉุดขึ้นต้องใช้แรงจากภายนอกมหาศาล เช่นมีการค้นพบวิทยาการผลิตหรือเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้สามารถผูกขาดได้เป็นเวลา 10 ปี รวมทั้งกิจการต่อเนื่อง เหมือนคราวก่อนที่พบเทคโนโลยีสารสนเทศแล้วนำมาประยุกต์กับกิจการธนาคาร สถาบันการเงินต่าง ๆ สามารถสร้างกลไกที่ผูกขาดการบริหารเงินออมของทั้งโลกได้ เพราะประดิษฐ์สินค้าทางการเงินออกมาได้ ทำให้สามารถสร้างมาตรฐานต่าง ๆ ที่ทำให้สำนักงานบัญชีและกฎหมาย ที่ปรึกษาทางการเงินในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต้องจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมในการใช้บริการทางบัญชี กฎหมายและการเงินให้กับบริษัท ของอเมริกาทั้งสิ้น เท่ากับสหรัฐอเมริกา เข้าผูกขาดตลาดทุนของทั้งโลกไว้ได้

หลังจากเกิดวิกฤตการณ์สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ตลาดทุนของอเมริกาก็พังทลายลง กองทุนอีแร้งหรือกองทุนตรึงมูลค่าที่เขาเรียกว่า Hedge Funds ทั้งหลาย ก็เลยหมดอาชีพ บริษัทผลิตละมุนภัณฑ์ทั้งหลายก็ย้ายไปอยู่อินเดีย กองทุนต่าง ๆ ในอเมริกาก็ไม่กล้าบุ่มบ่ามย่ามใจอย่างแต่ก่อน เพราะธนาคารกลางกับธนาคารพาณิชย์ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของจีนทำตัวเป็นก้างขวางคอ บางครั้งก็ทำตัวเป็น กองทุนตรึงมูลค่า หรือกองทุนอีแร้งที่คอยตอบโต้กับกองทุนต่าง ๆ ของสหรัฐที่เก็งกำไรค่าเงินดอลลาร์ เงินยูโร เงินเยน รวมทั้งทองคำ นักเก็งกำไรทั้งหลายไม่กล้าทำมาก เพราะถ้าจีนตอบโต้ก็จะขาดทุนมหาศาล และจีนก็จะได้กำไรกลับไปอย่างมาก

ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน ถ่านหิน แร่ธาตุ และสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นวัตถุดิบ จีนก็เข้าคุมตลาดทั้งในด้านปริมาณและราคา กองทุนเก็งกำไรจะ ปั่นราคาขึ้นลงก็ลำบากมากขึ้น สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เคยสร้างกำไรให้อเมริกาก็หมดโอกาส มีแต่ขาดทุนให้จีนและประเทศอื่นมากขึ้น รายได้จากส่วนนี้ที่เคยเป็นของอเมริกาก็หายไป และยังไม่มีทีท่าว่าจะ กลับคืนมาง่าย ๆ

ส่วนที่เป็นสินค้าและบริการอื่น เช่น รถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน คอมพิวเตอร์ ดาวเทียม จรวดส่งดาวเทียม เครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ก็แข่งขันกับใครไม่ได้เลย และสินค้าของจีนที่ราคาถูกก็พัฒนาคุณภาพขึ้นเรื่อย ๆ กำลังไล่ญี่ปุ่นและเยอรมนีขึ้นมา ตลาดของอเมริกาไม่ว่าจะเป็นละตินอเมริกา แคนาดา ก็ถูกญี่ปุ่น เยอรมนี และจีนแย่งไปหมด จะเหลือก็แต่ยุโรปที่กองทุนของอเมริกายังทำมาหากินได้ เพราะความเชื่อมโยงระหว่างตลาดทุน ตลาดเงินของอเมริกากับยุโรปนั้นเชื่อมโยงกันอย่างหนาแน่น สินค้าทางการเงินที่นักการเงินของกองทุนและสถาบันการเงินของอเมริกาคิดขึ้น ก็จะขายในอเมริกาและยุโรปเป็นสำคัญ ความที่ตลาดทุนของอเมริกาและยุโรปเป็นตลาดทุนที่สำคัญผู้ออมในยุโรปและอเมริกาจึงได้ผลตอบแทนจากธุรกิจการเงินเหล่านี้เป็นจำนวนมาก

เมื่ออเมริกาทรุดลง อเมริกาก็หวังว่าเมื่อค่าเงินของตนทรุดลงเมื่อเทียบกับเงินยูโรและเงินเยนแล้วจะทำให้อเมริกามีความสามารถในการแข่งขัน แต่การณ์กลับเป็นว่ายิ่งทำให้ยุโรปทรุดหนักลงไปมากกว่า สาเหตุส่วนหนึ่งและเป็นส่วนใหญ่ เพราะค่าเงินยูโรแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์และเงินหยวนของจีน

ค่าเงินยูโรที่แข็งขึ้นเกินธรรมชาติ ทำให้เศรษฐกิจทั้งยุโรปอ่อนแอลง สถาบันการเงินในยุโรปโดยเฉพาะประเทศที่อ่อนแอ เช่น กรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส และสเปน มีปัญหาและหนักขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดกรีซและไอร์แลนด์ก็ต้องเข้าโครงการของกองทุนยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ นโยบายการเงินที่สำคัญคือ อัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ยก็ใช้ไม่ได้ เพราะประเทศต่าง ๆ ไม่มีเงินของตนเอง

ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบที่ตั้งราคาเป็นดอลลาร์ แทนที่จะอยู่คงเดิม ก็แข่งขันกันขึ้นราคา ต้นทุน การผลิตซึ่งแข่งขันไม่ได้อยู่แล้วก็แพงขึ้น

ค่าเงินยูโรที่เคยแข็งขึ้นก็อ่อนตัวลดค่าลงอย่างรวดเร็ว ค่าเงินดอลลาร์จึงกลับมาแข็งค่าก็ยิ่งซ้ำเติมอเมริกาและยุโรปจึง กลายเป็นเตี้ยอุ้มค่อมไป ดูแล้วคงลำบาก

เมื่อประธานาธิบดีอเมริกาประกาศใช้เงิน 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ และยุโรปใช้เงิน 8 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวความคิดของสำนักชิคาโก หรือสำนักนโยบายการเงิน กล่าวคือ เอาไปอุ้มสถาบันการเงิน และบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่ให้ล้มเท่านั้น ไม่ได้เอาไปลงทุนเพื่อสร้างงาน

ไม่เกิดผลอะไรในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง เพียงแต่ทำให้ดอกเบี้ยระยะสั้นลดลง แต่ดอกเบี้ยระยะยาวไม่ยอมลด เพราะราคาพันธบัตรของอเมริกาและยุโรปที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดอยู่แล้วมีราคาลดลง เป็นเหตุ มาจากการที่รัฐบาลนำพันธบัตรใหม่ออกมาขายเพื่อเอาเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจของอเมริกาและยุโรปมีรวมกันถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ การเพิ่มปริมาณพันธบัตรให้มีมากขึ้น ราคาพันธบัตรเก่าก็ตกผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวก็ขึ้นดอกเบี้ยระยะยาวแทนที่จะลดลงตามปริมาณเงินที่มากขึ้นกลับไม่ลดลง

กองทุนภาคเอกชนไม่เกิด การสร้างงานไม่มี การว่างงานสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่สถาบันการเงินและบริษัทใหญ่ที่อุ้มไว้ไม่ล้ม
เมื่อสถานการณ์ไม่ดีขึ้น อเมริกาก็ประกาศมาตรการเพิ่มปริมาณเงินอีก8 แสนล้านบาท คราวนี้ไม่ทำเหมือนเดิมแต่ทำตรงกันข้าม กล่าวคือ เพื่อให้ดอกเบี้ยระยะยาวลดลง ธนาคารกลางจึงปล่อยเงินให้กระทรวงการคลังกู้เอาไปซื้อพันธบัตรคืนเป็นระลอก ๆ เมื่อกระทรวงการคลังอเมริกาซื้อพันธบัตรคืน ราคาพันธบัตรก็ขึ้นผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวก็ตก ดอกเบี้ยระยะยาวก็คงจะต้องตกเหมือนกัน แต่ปริมาณเงินดอลลาร์ในอเมริกา ในยุโรป และในตลาดโลกก็จะมากขึ้น ทำให้สภาพคล่องมีเพิ่มขึ้น แต่ค่าเงินดอลลาร์เทียบกับยุโรปกลับแข็งขึ้น สถานการณ์จึงเป็นสถานการณ์ที่แปลก นโยบายครั้งแรกกับครั้งที่สองซึ่งกลับกันก็เลยเหมือนลิงแก้แห

สำหรับญี่ปุ่นเงินเยนแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลเอาไว้ไม่อยู่ แต่ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมญี่ปุ่นจะไม่เหมือนเมื่อครั้งทศวรรษที่ 1980 และ 1990 เพราะหลังวิกฤตการณ์ค่าเงินเยนเที่ยวนั้น ญี่ปุ่นได้ย้ายฐานการผลิตออกจากญี่ปุ่นไปอเมริกา ยุโรป บราซิล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลกระทบครั้งนี้จึงน้อยลง แต่ก็คงจะเกิดการย้ายฐานผลิตออกจากญี่ปุ่นอีก แต่ คราวนี้คงไม่ไปอเมริกาและยุโรป คงไปจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และละตินอเมริกาอีกระลอกหนึ่ง เราควรจะตั้งรับการย้ายฐานการผลิตที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงขึ้น ผลของการที่ค่าเงินเยนแข็งขึ้นครั้งนี้ ผลกระทบต่อญี่ปุ่นจึงวิเคราะห์ได้ยาก เพราะฐานการผลิตของญี่ปุ่นมีกระจายอยู่ทั่วโลก แต่สำนักงานใหญ่ของทุกที่ยังอยู่ที่ญี่ปุ่น

การที่สภาพคล่องของดอลลาร์สหรัฐมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะ 3-4 ปีมานี้ จะทำให้ราคาสินค้า โดยเฉพาะ อย่างยิ่งของที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่น น้ำมัน ถ่านหิน พลังงานอื่น ๆ ทองคำ ทองแดง เหล็ก อะลูมิเนียม รวมทั้งสินค้าทางด้านเกษตร เช่น ยางพารา อ้อยและน้ำตาล และธัญพืชอื่นที่ใช้เป็นพลังงานทดแทน เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง และธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารมีราคาสูงขึ้น เป็นการปรับราคาครั้งใหญ่ เหมือนกับครั้งที่อเมริกาประกาศ ออกจากมาตรฐานทองคำ เหมือนกับเมื่อเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่หนึ่ง ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าของทรัพยากรเหล่านั้นจะยังไม่เดือดร้อน ประเทศที่มีฐานะการแข่งขันสูงกว่าอเมริกาและยุโรปก็จะได้ประโยชน์

การปรับราคาครั้งใหญ่เกิดจากปริมาณเงินหรือปริมาณสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ส่วนการปรับราคาเมื่อตอนเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่หนึ่งก็เกิดจากสภาพคล่องมีจำนวนมากขึ้น อันเนื่องมาจากดอลลาร์สหรัฐออกจากมาตรฐานทองคำแล้ว การเพิ่มปริมาณดอลลาร์สหรัฐทำให้กลุ่มโอเปกขึ้นราคาน้ำมันเพื่อชดเชยการลดลงของค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับทองคำ ซึ่ง เมื่อก่อนสหรัฐกำหนดไว้ที่ 36 ดอลลาร์ต่อ 1 ทรอยออนซ์ กลายเป็น 350-400 ดอลลาร์ต่อ 1 ทรอยออนซ์
ต่อจากนั้นก็เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ภาวะเศรษฐกิจของโลกก็เริ่มทรุดลง เพราะการพุ่งขึ้นของดอกเบี้ย การยอมให้ดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อจึงเป็นเรื่องที่ผิด เพราะสาเหตุของเงินเฟ้ออยู่ที่ ค่าเงินดอลลาร์ตก

ถ้าราคาน้ำมันและพลังงานยังสูงขึ้นต่อไปเพื่อชดเชยกับค่าเงินดอลลาร์ที่ตกลงไปอีก ภาวะเศรษฐกิจซบเซาแต่มีเงินเฟ้อก็จะเกิดขึ้น จนเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่สองที่ซ้ำเติมโดยธนาคารกลางสหรัฐ โดยประธานธนาคารกลางสหรัฐ ชื่อพอล วอล์กเกอร์ ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งไม่ได้ผล แต่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐและโลกซบเซาอย่างหนักในทศวรรษ ที่ 1980 จนกระทั่งเกิดเทคโนโลยีใหม่ คือ เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ IT

ก็ได้แต่หวังว่าเมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อเพราะการเพิ่มปริมาณเงินอย่างมโหฬารครั้งนี้ อเมริกาคงไม่เบาปัญญาอย่างคราวที่แล้ว ที่ประกาศขึ้นดอกเบี้ยอย่างบ้าเลือดในสมัยประธานาธิบดีรีแกน ปล่อยให้ ธปท.ขึ้นไปประเทศเดียวเถิด
อนาคตของอเมริกาและยุโรปยังคงมืดมนหนักต่อไป

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น