--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

ทางแก้'น้ำมันปาล์ม'

ดูเหมือนมาตรการที่รัฐบาลพยายามช่วยเหลือเรื่องค่าครองชีพให้กับชาวบ้าน จะไล่ตามหลังกับราคาสินค้าที่ทยอยปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์เพิ่งอนุมัติ ให้ปรับขึ้นราคาน้ำปาล์มอีกขวดละ 9 บาท ทำให้ราคาขายปลีกตกเกือบ ๆ ขวดละ 50 บาท ไม่รู้ว่านี่เป็นแผนดึงคะแนนเสียงประเภทไหน เพราะได้ยินแต่เสียงร้องระงมของผู้ได้รับผลกระทบ

ดังนั้นถ้ามติของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ที่อนุมัติให้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบปริมาณ 30,000 ตัน จะส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มได้รับผลกระทบจนต้องออกมาต่อต้าน ก็ เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการนำเข้าครั้งนี้ เป็น เพียงเพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำมันปาล์มในประเทศเท่านั้น

เพราะในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา น้ำมันปาล์มขวด สำหรับบริโภคมีราคาสูงลิ่วเกือบ 50 บาทต่อขวด แถมเมื่อมาโดนมาตรการควบคุมราคาของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งกำหนดให้จำหน่าย ไม่เกินขวดละ 38 บาท ก็ทำให้น้ำมันปาล์มขวดหายไปจากชั้นวางของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ทันที การอนุมัติครั้งนี้ จึงเป็นการมุ่งช่วยเหลือผู้บริโภค และพยายามลดผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้ปลูกปาล์มไปพร้อม ๆ กัน

จริง ๆ แล้ว ปัญหาของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ผมลองสอบถามผู้รู้ ได้รับข้อมูลมาว่า ไม่ได้อยู่ที่ว่าจะมีการอนุมัติให้นำเข้าหรือไม่เพียงอย่างเดียว แต่เพราะการขาดการปรับปรุงคุณภาพ ในการปลูก และสกัดน้ำมันปาล์มจนทำให้ปริมาณเปอร์เซ็นต์ของน้ำมันที่สกัดได้ของไทยน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ที่เป็นคู่แข่งในเรื่องของน้ำมันปาล์ม อย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย และนั่นคือปัญหาสำคัญที่ผู้ปลูกปาล์มจะต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข โดยมีภาครัฐ เข้าไปช่วยเหลือ มากกว่าที่จะหวังพึ่งมาตรการสกัดกั้นการนำเข้าแต่เพียงอย่างเดียว

ขณะที่ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย สามารถควบคุมคุณภาพได้จึงสกัดน้ำมันปาล์มได้มากกว่าร้อยละ 20 ของน้ำหนัก ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าของบ้านเรา และทำให้ประเทศไทย ไม่สามารถแข่งขันในด้านราคาจากประเทศเพื่อนบ้านได้ หากไม่มีกำแพงภาษีมาช่วย

แต่จากกรอบข้อตกลงของ องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) และ เขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) ทำให้ไทยต้องเปิดเสรีการนำเข้าน้ำมันปาล์ม โดยไม่มีกำแพงภาษีมาช่วยสกัดกั้นเหมือนในอดีต ทำให้เป็นโจทก์ใหญ่ว่า เราจะป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มได้อย่างไร เพราะในขณะที่ผู้บริโภคกำลังจะได้เปรียบ เนื่องจากมีโอกาสซื้อนำมันปาล์มในราคาที่ถูกลง แต่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มกำลังจะได้รับผลกระทบจากราคาผลปาล์มที่จะลดลงด้วย ซึ่งคาดว่า ทันทีที่เปิดเขตการค้าเสรี ราคาปาล์มจะลดลงเหลือเพียง กก. ละ 2 บาทเศษเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ที่มี “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เตรียมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มจาก กรอบองค์กรระหว่างประเทศ

โดยการวางนโยบายไว้หลายประการ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายปาล์มระดับชาติ เพื่อกำหนดนโยบายและกำกับ ดูแลอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม การควบ คุมจำนวนโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มให้มีจำนวนและกำลังการผลิตสอดคล้องกับวัตถุดิบ, บังคับใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 5 ทั่วประเทศ

และจะมีการออก พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมัน เช่นเดียวกับ พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งจะมีการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูก ปาล์มน้ำมันผ่านสถาบันการเกษตร โดยขึ้นทะเบียนผู้ปลูกปาล์มน้ำมันเอาไว้เพื่อให้การช่วยเหลือ, จัดตั้งกองทุนปาล์มน้ำมัน เช่นเดียวกับกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ฯลฯ

มาตรการเหล่านี้ น่าจะทำให้เกษตรกรปลูกน้ำมันปาล์ม มั่นใจว่า จะสามารถเผชิญหน้ากับการเปิดเสรีนำเข้าน้ำมันปาล์มได้อย่างมั่นคง และสู้กับคู่แข่งอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียได้อย่างยั่งยืน

เพราะว่ากันตามจริงแล้ว การนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบเพียง 30,000 ตัน ในครั้งนี้ยัง เทียบไม่ได้กับการเปิดนำเข้าเสรีภายใต้กรอบ ดับบลิวทีโอและอาฟต้า.

โดย.เขื่อนขันธ์
ทีมา.Thairecent

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น