โดย สุรศักดิ์ ธรรมโม
ในสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เกริ่นถึงบทวิเคราะห์ของสถาบันการเงินชั้นนำของโลก Goldman Sachs ที่เชื่อมั่นค่อนข้างมาก โดยคาดว่าในปีนี้ เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐ ความมั่นใจของ Goldman Sachs ยังสะท้อนออกมาที่อดีตนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังที่สุดคนหนึ่งของโลก นายจิม โอนีลส์ ซึ่งปัจจุบันเป็นประธาน Goldman Sachs Asset Management ได้ออกจดหมายถึงลูกค้าในวันที่ 8 ม.ค. 2554 (A Reasonably Kind Start to 2011, Jan 8 2011) และเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ Financial Times ในวันที่ 10 ม.ค. 2554 (This will be the year of US comeback, Jan 10, 2011) ซึ่งผมเห็นว่าเนื้อหาและสาระที่นายโอนีลส์ได้เขียนนั้น มีความน่าสนใจมากเลยทีเดียว จึงได้สรุปมาให้ผู้อ่านได้ทราบกัน
นายโอนีลส์ ประเมินว่า ในอดีตก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551 นั้น เศรษฐกิจสหรัฐมีอาการน่ากังวลในเรื่องของความยั่งยืนของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากปัญหาอัตรากรออมที่ต่ำและการที่ระดับการบริโภคของคนสหรัฐซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของจีดีพีนั้นโดยมากมาจากการกู้ และประการสำคัญแหล่งเงินที่ให้กู้นั้นมาจากต่างประเทศ แต่ ณ ขณะนี้ นายโอนีลส์มองสถานะเศรษฐกิจสหรัฐนั้นแตกต่างจากอดีตสองประการ
ประการแรก มาจากอำนาจทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มประเทศ BRIC ซึ่งประกอบไปด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ผนวกของกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัว เช่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และตุรกี ด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้ ผลคือ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ง่ายกว่าที่นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายได้คาดไว้ ซึ่งนี่คือเรื่องน่าประหลาดใจของนายโอนีลส์ในปีที่ผ่านมา
ประการที่สอง ด้วยลักษณะของผู้บริโภคสหรัฐ ทำให้นายโอนีลส์เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เผชิญชะตากรรมที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นได้เผชิญกับภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ต่ำมากใน 2 ทศวรรษก่อน ซึ่งนายโอนีลส์ประเมินว่า นี่จะเป็นเรื่องประหลาดใจของตลาดในปีนี้
โดยนายโอนีลส์ได้ขยายความว่า ในอดีตก่อนวิกฤตอัตราการออมส่วนบุคคลของสหรัฐอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก คือ เกือบ 0% ซึ่งนำไปสู่การที่คนสหรัฐกู้เงินมาบริโภคและสถาบันการเงินออกตราสารทางการเงินที่ซับซ้อนรวมทั้งการที่เศรษฐกิจสหรัฐต้องพึ่งพาเงินจากต่างประเทศทั้งหมดล้วนมีรากเหล้ามาจากการที่คนสหรัฐมีอัตราการออมส่วนบุคคลที่ต่ำทั้งสิ้น ทั้งนี้เศรษฐกิจใดเศรษฐกิจหนึ่งนั้นไม่สามารถจะพึ่งการยืมนั้นมาจากต่างประเทศ
ปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐมีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าในอดีตมาก โดยอัตราการออมส่วนบุคคลได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5-6% แต่อัตราการออมที่นายโอนีลส์คิดว่าเหมาะสมนั้นอยู่ที่ 8-10% แต่ในอัตราการออมปัจจุบันนี้ นายโอนีลส์เห็นว่าก็ใกล้เคียงกับอัตราที่เหมาะสมแล้ว
ประการสำคัญคือ หลังวิกฤตเศรษฐกิจพบว่าองค์กรธุรกิจของสหรัฐที่มีบทบาทอย่างสูงในเศรษฐกิจ ไม่ได้เสียหายอย่างรุนแรง ซึ่งสะท้อนถึงประสิทธิภาพการผลิตที่สูงของเศรษฐกิจสหรัฐ ผนวกกับโครงสร้างของปนระชากรสหรัฐที่มีลักษณะพลวัต คือ สหรัฐเปิดกว้างให้มีการเคลื่อนย้ายประชากรจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในสหรัฐ ผลคือ เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับ 3% ต่อปี ด้วยจุดแข็งของลักษณะพลวัตในการจ้างงานนี้เอง ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐแตกต่างจากเศรษฐกิจญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ปัจจัยอีกประการ คือ การที่รัฐบาลมีการตัดสินใจที่เด็ดขาดในการแก้ไขปัญหาทางเศรษบกิจ แม้ว่าจะมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันในรัฐสภาสหรัฐให้ได้ทราบกันก็ตาม นี่คือจุดเด่นที่แตกต่างจากญี่ปุ่นและยุโรป ยิ่งไปกว่านั้น พฤติกรรมของธนาคารกลางสหรัฐและผลการเลือกตั้งสหรัฐในปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งพรรคเดโมแครตแพ้การเลือกตั้งในสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากนั้น กลับมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐได้ขยายตัวตามศักยภาพ
กล่าวคือ ในปีที่แล้วธนาคารกลางสหรัฐ ได้สิ่งที่ควรต้องทำด้วยการสู้กับปัญหาเงินเฟ้อด้วยการพิมพ์เงินขึ้นมา และการที่นักการเมืองได้ข้อตกลงร่วมกันในการขยายการขาดดุลการคลังเป็นการชั่วคราว แต่ให้คำมั่นในการควบคุมขนาดของการขาดดุลการคลังให้ลดลงในอนาคตนั้น ทำให้ภาคธุรกิจมีความมั่นใจมากขึ้น กล่าวคือ ทั้งธนาคารกลางและนักการเมืองได้แก้ปัญหาเงินฝืดในระยะสั้นและมุ่งมั่นในการลดปัญหาการขาดดุลการคลัง ซึ่งจะลดความเสี่ยงที่อนาคตเศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ
สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐได้เห็นชัดตั้งแต่เดือน พ.ย. ในปลายปีที่ผ่านมา ทั้งการขยายตัวของภาตคการผลิตและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในเดือน ธ.ค.
ในแง่ส่วนของผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ นั้น นายโอนีลส์เห็นว่าปัจจุบันความรู้สึกในการหาผู้ที่มีส่วนก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจนั้นลดลง ผลคือ ความสัมพันธ์ระหว่างภาคธุรกิจกับรัฐบาลเริ่มดีขึ้น ซึ่งไม่เกิดแค่ในสหรัฐเท่านั้น
***********************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น