--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554

ย้ายเมืองหลวง "หนีน้ำท่วม" ปักหลักที่มั่นใหม่จาก "นครนายก" สู่ "อีสานใต้"

"มหานครกรุงเทพ" เมืองหลวงประเทศไทย อายุปาเข้าไปกว่า 200 ปี มี 4 องค์กรข้ามชาติจัดทำผลศึกษาบ่งชี้ภูมิศาสตร์ ที่เป็น "ปัจจัยลบ" ของที่ตั้งเมือง ประกอบด้วย องค์การ เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) และธนาคารโลก

ครอบคลุมประเด็นที่ "กรุงเทพฯ" ติดโผ 20 เมืองใหญ่เสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมและการพังทลายของชายฝั่ง อันเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง มีพลเมือง 10 ล้านคนและอยู่ติดชายฝั่งทะเล มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน หากไม่มีแผนป้องกันแก้ไขที่ดีพอ คำนวณมูลค่าความเสียหายอาจมากถึง 2-6% ของจีดีพี ในปี 2593 หรือ 39 ปีข้างหน้า

ขณะที่นักวิชาการไทยหัวใจอินเตอร์ "ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา" นักวิทยาศาสตร์ แนะนำเป็นคนแรก ๆ ว่า กรุงเทพฯเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติจากระดับน้ำทะเลหนุนสูง ในอนาคตจะอยู่ใต้น้ำ จากนี้ไม่เกิน 10 ปีจะเห็นชัดควรเตรียมพร้อมเรื่องการย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่อื่นที่เหมาะสม

นักวิชาการไทยแนะ "ย้ายเมืองหลวง"

ก่อนหน้านี้ประเด็น "การย้ายเมืองหลวง" พูดกันมาหลายรัฐบาล ย้อนตำนานไปเจอจุดเริ่มต้นสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2486 "จอมพล ป. พิบูลสงคราม" มีแนวคิดย้าย เมืองหลวงไปตั้งที่ "เพชรบูรณ์" ต่อมารัฐบาล "บิ๊กจิ๋ว" พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็เคยมีแนวคิดให้ย้ายไปที่ "เขาตะเกียบ" จ.ฉะเชิงเทรา ยุคที่ "สมัคร สุนทรเวช" ยังเป็นเพียงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อยากให้ย้ายไปที่ จ.นครปฐม หรือแม้แต่ช่วง "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" เป็นนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดจะสร้างเมืองหลวงใหม่ที่ จ.นครนายก

แม้กาลเวลาจะผ่านเลยกี่สิบกี่ร้อยปี แต่ "การย้ายเมืองหลวง" ยังเป็นประเด็นที่คงอยู่ เพื่อเตรียมรับมือกับอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นอีก 10 ปี 20 ปี 40 ปี และ 100 ปีข้างหน้า เสียงสะท้อนที่ดังจากวงนักวิชาการเมืองไทย จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ควรฟัง โดย "ดร.อาจอง" แนะจุดเหมาะสมสั้น ๆ ว่าเป็น "โซนอีสานใต้"

ขณะที่ "ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา" ผู้อำนวยการ ศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กล่าวสอดคล้องกันว่า ทุกปีน้ำจะท่วมกรุงเทพฯบางส่วนอยู่แล้ว แต่หากปล่อยไว้โดยไม่ทำอะไรเลย อีก 20 ปีกรุงเทพฯจะเจอกับน้ำท่วมเหมือนอยู่ใต้ทะเลเพราะเป็นที่ลุ่มต่ำ ทุกปีมีหลายพื้นที่ที่ดินจะทรุดตัว 2-4 เซนติเมตร เช่น ดอนเมือง

"แนวคิดย้ายเมืองหลวงเป็นสิ่งดีถ้าทำให้ชีวิตดีขึ้น ในเชิงคอนเซ็ปต์เมืองหลวงต้องอยู่ที่กรุงเทพฯ เพียงแต่ย้ายบางกิจกรรมที่เป็นศูนย์กลาง เช่น ศูนย์ราชการ ภาคบริการ การศึกษา การกีฬา อุตสาหกรรม ไปจังหวัดอื่น เช่น สระบุรี จังหวัดทางฝั่งตะวันออก เพราะกรุงเทพฯตอนนี้หนาแน่น มีคนอยู่ 10 ล้านคน และมีการก่อสร้างมากทุกพื้นที่"

ฟาก "พิจิตต รัตตกุล" ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย และอดีตผู้ว่าฯ กทม.เห็นด้วยว่า ต้องนำความเจริญของกรุงเทพฯด้านเศรษฐกิจ การศึกษา กระจายไป หัวเมืองอื่นในแถบปริมณฑล เช่น โคราช สุพรรณบุรี สระบุรี

"เชื่อว่าเหตุการณ์น้ำท่วม กทม.จะแก้ยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะแผ่นดินทรุด และระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและกัดเซาะชายฝั่งทุกปี ทั้ง 2 สาเหตุนี้ทำให้การระบายน้ำฝนที่ตกใน กทม.ออกสู่ทะเลยากขึ้น"

จัดระเบียบผังเมืองใหม่รับ

การแก้ปัญหาน้ำท่วม นอกจากมาตรการของสำนักการระบายน้ำที่ทำไว้ 4 ปีแล้ว มาตรการผังเมืองมีส่วนสำคัญมาก

น.ส.อัญชลี ปัทมาสวรรค์ ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กทม. กล่าวว่า หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่หลายจังหวัด กรุงเทพฯเริ่มกลับมาทบทวนให้รอบคอบมากขึ้นในการจัดทำผังเมืองรวมฉบับใหม่ทดแทนฉบับเก่าที่จะหมดอายุวันที่ 16 พฤษภาคมนี้

"กำลังรวบรวมข้อมูลที่ปรับปรุงผังเมืองรวมฉบับใหม่ มีแนวคิดจะมีผังสาธารณูปโภคเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการป้องกัน น้ำท่วมใส่เข้าไปในผังเมืองรวมฉบับใหม่ด้วย เพื่อคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ให้ขวางทางน้ำ และจะพิจารณาเพิ่มพื้นที่ รับน้ำบริเวณโซนตะวันออก จากเดิมมีอยู่ 11 แห่ง จะร่วมกับจังหวัดปริมณฑล มีนนทบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม"

นอกจากนี้ ยังมีการวางผังนโยบายการจัดการระดับลุ่มน้ำ การควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยการปรับรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินฝั่งตะวันออกและตะวันตกของลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง และให้สอดคล้องกับภาวะโลกร้อนด้วย

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น