โดย เมธี ครองแก้ว
คงมีผู้อ่านไม่มากนักที่จะทราบว่าเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่เพิ่งผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ประกาศระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสินบน พ.ศ.2553 ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 127 ตอนที่ 65 ก ซึ่งน่าจะมองได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญเหตุการณ์หนึ่งที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของไทย ทั้งนี้ก็เพราะว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 30 ว่า
“ในการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีที่มีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ หรือการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินหรือหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากมีผู้ใดชี้ช่อง แจ้งเบาะแส หรือให้ข้อมูล หรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกตรวจสอบ รวมทั้งตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และการชี้ช่อง แจ้งเบาะแส หรือให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นผลให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ หรือทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกตินั้นตกเป็นของแผ่นดินโดยคำสั่งถึงที่สุดของศาลแล้ว ให้ผู้นั้นได้เงินสินบนตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด”
พูดง่ายๆ ก็คือว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ใช้เวลาเกือบ 11 ปีจึงสามารถออกระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนตามกล่าวข้างต้นออกมาได้
ผู้เขียนคงไม่สามารถตอบแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ว่าทำไมถึงใช้เวลานานนักในการออกระเบียบนี้ออกมา แต่ที่พูดได้เต็มปากเต็มคำก็คือว่าไม่มีการรวมหัวกันที่จะจงใจดึงเรื่องให้ช้าเพื่อวัตถุประสงค์หรือวาระซ่อนเร้นอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน
ในทัศนะของผู้เขียนเอง (ซึ่งเป็นทัศนะหรือความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับความเห็นหรือฐานะอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่อย่างใด) คงเป็นความไม่แน่ใจของกรรมการ ป.ป.ช. แต่ละท่านมากกว่า ว่าระบบการให้เงินสินบนรางวัลที่เหมาะสมคืออย่างไร? และจะเกิดผลกระทบต่อสังคมหรือการปฏิบัติงานของ ป.ป.ช. อย่างไร?
ในการพิจารณาเรื่องนี้ในคณะกรรมการฯ ผู้เขียนได้แสดงจุดยืนด้วยซ้ำไปว่าไม่เห็นด้วยกับการให้เงินสินบนดังกล่าว เพราะเงินสินบนนี้จะไปทำลายลักษณะคุณความดี(moral character) ของผู้ได้รับสินบนดังกล่าวในทำนองว่า จะทำความดีให้สังคมก็ต่อเมื่อมีผลตอบแทนจากสังคมเท่านั้น ในเมื่อเราให้นิยามการทุจริตคอรัปชั่นว่า คือ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจในตำแหน่งเบียดบังเอาประโยชน์ที่เป็น (หรือควรเป็น) ของรัฐหรือสังคมไปเป็นประโยชน์ของตนเอง การจ่ายเงินสินบนโดยรัฐก็มีผลอย่างเดียวกัน คือ การเอาประโยชน์ที่เป็นของรัฐหรือสังคมไปให้แก่บุคคลเป็นการส่วนตัวนั้นเอง
อย่างไรก็ตามจุดผ่อนปรนที่ผู้เขียนยอมรับได้ก็คือ เงินสินบนที่รัฐจ่ายให้นั้นเหมาะสมกับต้นทุนแห่งความพยายาม (efforts) ของผู้ให้ข้อมูลหรือเบาะแส มิใช่ลาภลอย (windfall) ที่กินเข้าไปในส่วนที่เป็นประโยชน์หรือผลได้ของสังคมที่เกินเลยไป
แต่ในเมื่อกฎหมายสูงสุดของประเทศบังคับให้ต้องมีระเบียบการจ่ายเงินสินบนแก่ผู้ชี้ช่อง แจ้งเบาะแส ให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้กระทำผิดที่ทำให้รัฐได้ทรัพย์สินของรัฐคืนมา เราก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามโดยที่อย่างน้อยในระเบียบที่เราออกมานั้นมีหลักเกณฑ์หรือกลไกที่จะทำให้การตอบแทนในความพยายามของผู้ให้เบาะแสหรือชี้ช่องนั้นมีความเหมาะสม ไม่เกินเลยไป
ดังนั้น ในประการแรก ข้อ 13 ของระเบียบที่คณะกรรมการป.ป.ช. ได้ออกมาจึงได้ระบุว่า ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่แจ้งให้รับทราบนั้น ต้องเป็นสาระสำคัญของการตรวจสอบ ซึ่งหากไม่มีการแจ้งข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเช่นว่านั้น จะไม่สามารถรู้หรือตรวจสอบการร่ำรวยผิดปกติหรือทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติได้ และจะต้องไม่เป็นปกติวิสัยที่จะตรวจพบได้อยู่แล้ว
ในประการที่สอง ข้อ 17 ของระเบียบนี้ได้กำหนดเพดานของเงินสินบนที่ ป.ป.ช.จ่ายได้ว่าให้จ่ายในอัตราร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินที่นำส่งกระทรวงการคลังแต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท
ในประการที่สาม ผู้มีอำนาจในการพิจารณาจ่ายเงินสินบนนี้มิใช่คนใดคนหนึ่ง แต่จะเป็นคณะกรรมการพิจารณาเงินสินบน ซึ่งประกอบด้วย เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ป.ป.ช. ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานกลาง ป.ป.ช. ผู้แทนกระทรวงการคลัง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งขึ้นอีก 5 คน (ระเบียบ ข้อ 8)
และในประการสุดท้าย คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นคนสุดท้ายซึ่งอาจจะเห็นชอบให้มีการจ่ายเงินสินบนทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ (ระเบียบ ข้อ 20)
ตามหลักเกณฑ์ต้นทุนของความพยายามที่กล่าวถึงข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอเสนอเพิ่มเติมว่าน่าจะมีตัวแปรที่เป็นตัวปรับคุณภาพ (quality index) ของข้อมูลหรือเบาะแสให้คณะกรรมการพิจารณาเงินสินบนจะนำมาพิจารณาขนาดของเงินสินบนชั้นหนึ่งก่อน
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือจะมีการจำแนกคุณภาพ (quality grading) ของข้อมูล โดยข้อมูลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด อาจจะมีตัวปรับคุณภาพเท่ากับ 1 ข้อมูลที่มีความสำคัญลดหลั่นกันลงไป ก็จะมีตัวปรับคุณภาพลดหลั่นกันลงไปเช่นเดียวกัน เพื่อความสะดวก และง่ายต่อการปฏิบัติ ระดับคุณภาพประมาณ 4 หรือ 5 ระดับ น่าจะเพียงพอที่จะทำให้การพิจารณาขนาดของเงินสินบนมีความเหมาะสมเป็นที่ยอมรับได้
ในขณะนี้ยังไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าผลแห่งการประกาศระเบียบการจ่ายเงินสินบนของ ป.ป.ช. จะทำให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงในการทำงานด้านการต่อต้านการทุจริตของ ป.ป.ช.เป็นเช่นใด จะมีการแจ้งเบาะแสกันจน ป.ป.ช. ต้องเพิ่มงบประมาณรายจ่ายหมวดเงินอุดหนุน เพื่อนำมาใช้เป็นเงินสินบนหรือไม่? หรืออาจไม่ต้องใช้เงินในส่วนนี้เลย เพราะประชาชนให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช. ในฐานะ “พลเมืองดี” โดยมิได้หวังผลจากเงินสินบนจากภาครัฐแต่อย่างใด
ที่มา.มติชนออนไลน์
*****************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น