โดย อภิชาติ จันทร์แดง
(หมายเหตุ ผู้เขียนเป็นอาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ติดต่อผู้เขียนได้ที่ apichart.cha@psu.ac.th)
กรณีรถตู้โดยสาย สาย ต.118 ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถูกรถเก๋งพุ่งชนบนทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ จนมีผู้เสียชีวิต 9 ศพ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคมปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นข่าวดังต่อเนื่องหลายวัน ทั้งที่เป็นเพียงข่าวอุบัติเหตุทั่วไปข่าวหนึ่งเท่านั้น ซึ่งว่าไปแล้วอุบัติเหตุลักษณะดังกล่าวที่ทำให้เกิดความสูญเสีย และผู้ก่อเหตุขับรถด้วยความประมาทก็เกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา
ที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากเพราะส่วนหนึ่งผู้ก่อเหตุเป็นคนในตระกูลดัง กระแสสังคมหวั่นว่าจะมีการใช้อำนาจหรืออิทธิพลเพื่อให้พ้นความผิด ส่วนหนึ่งก็มองว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้เกี่ยวข้องจะเลือกปฏิบัติ กล่าวคือ ไม่กล้าปฏิบัติอย่างตรงไปตรงมา และเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายที่สังคมเชื่อว่ากระทำความผิดอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นเจ็บและตาย
ดูเหมือนว่ากระแสสังคมกำลังปฏิเสธและรับไม่ได้กับเรื่องการใช้อำนาจหรืออิทธิพลซึ่งมักเป็นส่วนหนึ่งของผู้มีสถานภาพหรือชนชั้นที่สูงกว่าบุคคลทั่วไปมาใช้ให้ตัวเองพ้นผิด
แต่สิ่งที่ทำให้เราเห็นมิใช่เพียงแต่ประเด็นที่สังคมกำลังหวั่นวิตกที่ว่าผู้ก่อเหตุเป็นคนในตระกูลดังที่เชื่อว่ามีอำนาจและมีความเป็นอภิสิทธิ์ชนดังที่กล่าวมาเพียงเท่านั้น หากตั้งคำถามขึ้นมาว่า ทำไมสังคมจึงให้ความสนใจข่าวอุบัติเหตุในครั้งนี้ราวกับว่าประเทศของเราไม่เคยมีอุบัติเหตุใหญ่และมีคนตายจำนวนเท่านี้มาก่อน และราวกับว่าประเทศของเราไม่เคยมีเยาวชนไม่มีใบขับขี่เป็นผู้ก่อเหตุมาก่อน อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ข่าวนี้ได้รับความสนใจและกลายเป็นกระแสสังคมที่ต้องเอาผิดกับเยาวชนผู้ก่อเหตุให้ถึงที่สุด
หากไล่เรียงรายผู้ตาย มีทั้งคนจบปริญญาเอก อาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพ ลูกของข้าราชการระดับสูง ฯลฯ ในทางความหมายของคำว่าอำนาจและชนชั้นก็นับได้ว่าคนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นผู้มีอำนาจทางความรู้ มีอำนาจทางสังคม มีสถานภาพที่สังคมยอมรับ ให้ความเชื่อถือ และให้ความสำคัญ ซึ่งความจริงแล้วนี่ก็คือการให้ค่าความเป็นชนชั้นที่สูงไปกว่าคนทั่วไปนั่นเอง
แต่ถ้ามองเชิงความสูญเสียในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เฉกเช่นเดียวกับคนจำนวนมากที่เจ็บตายในอุบัติเหตุที่มาจากความประมาทของผู้อื่น โดยเฉพาะช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา คนจบปริญญาเอกแตกต่างอะไรกับพนักงานออฟฟิศธรรมดาคนหนึ่ง อาจารย์มหาวิทยาลัยต่างอะไรไหมกับคนหาเช้ากินค่ำทั่วไปนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศต่างอะไรกับหนุ่มสาวคนหนึ่งที่ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ ลูกข้าราชการชั้นสูงต่างอะไรกับเด็กทั่วไปคนหนึ่ง
ไม่ต้องมองอื่นไกล เอาแค่กรณีรถตู้ 9 ศพด้วยกัน ถึงตอนนี้แทบไม่มีใครทราบรายละเอียดหรือทราบความคืบหน้าของคนขับรถตู้คันนี้บ้างไหม ว่าศพถูกเผาแล้วยัง ครอบครัวได้รับความช่วยเหลือหรือเป็นอยู่กันอย่างไร แล้วจะให้บอกว่านี่คือความเท่าเทียมหรือ ในเมื่อความตายในเหตุการณ์เดียวกัน เรายังให้ค่ากับความตายที่ออกมาในรูปความสงสาร ความเห็นอกเห็นใจ หรือความเศร้าโศกเสียใจแตกต่างกันเลย นั่นเพราะผู้ตายแทบทั้งหมด (ยกเว้นคนขับรถตู้) เป็นผู้มีอำนาจทางความรู้ มีสถานภาพทางสังคม ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดถึงความเป็นชนชั้นที่เหนือกว่าคนทั่วไปในสังคมนั่นเอง
ดังนั้น สิ่งที่วิตกกันว่าเยาวชนหญิงวัย 17 ซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุจะหลุดพ้นจากความผิดเพราะเธอเป็นคนนามสกุลดัง จึงเป็นเพียงความกลัวเรื่องอำนาจหรือความหวั่นวิตกต่อความแตกต่างทางชนชั้นของคนในสังคมไทยอย่างฉาบฉวยและผิวเผินเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นกำลังคุกคามครอบงำความรู้สึกของเราอยู่อย่างเงียบงันโดยตลอดมา
ถึงวันนี้จึงปรากฏออกมาโดยไม่รู้ตัว นั่นคือ เรากำลังเศร้าโศกเสียใจและเป็นเดือดเป็นแค้นกับความตายคนในเหตุรถตู้ 9 ศพ จนกลายเป็นกระแสสังคมเสียยิ่งกว่าเราไม่เคยรับรู้ถึงความตายแบบเดียวกันนี้มาก่อนเลย ทั้งที่กรณีดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งในร้อยในพันของอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มาจากความประมาทของใครสักคน โดยเฉพาะช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาซึ่งมีอุบัติเหตุ มีความสูญเสียชีวิตผู้คนไปยิ่งกว่านี้เสียอีก ซึ่งเชื่อว่าคนจำนวนมากกลับไม่ทุกข์ร้อนเสียด้วยซ้ำ นี่คือความแตกต่างและไม่เท่าเทียมต่อความตายซึ่งมาจากเราเองมิใช่หรือ นี่คือเรากำลังให้ค่ากับอำนาจและยอมรับความแตกต่างชนชั้นให้มีอยู่มิใช่หรือ
นั่นคือเหตุผลสำคัญของการมีอยู่ของเรื่องอำนาจและชนชั้นในสังคมไทย ที่ดูเหมือนว่าเราไม่พึงปรารถนาให้มีอยู่ แต่ท้ายที่สุดเรากลับพิทักษ์รักษามันไว้ในความรู้สึกนึกคิด และเผลอไผลให้ค่ากับมันโดยที่เราไม่รู้ตัวเลยแม้แต่น้อย
ที่มา.มติชนออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น