--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

"ทองใบ ทองเปาด์" หัวใจวายเฉียบพลันเสียชีวิตอย่างสงบ ตั้งศพวัดพระศรีมหาธาตุ

นายทองใบ ทองเปาด์ ทนายความ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539 และอดีตสมาชิกวุฒิสภา เสียชีวิตอย่างสงบด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 23 มกราคมด้วยวัย 85 ปี ขณะนำตัวส่งโรงพยาบาล

ญาติตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน ศาลา 4 จะมีพิธีรดน้ำศพในเวลา 16.00 น. สวดพระอภิธรรมในเวลา 18.30 น. โดยจัดพิธีประชุมเพลิงในวันที่ 29 มกราคม เวลา 16.00 น.

สำหรับประวัติของ นายทองใบ ทองเปาด์ เกิดที่ ต.ตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 6 คน ของนายหนู และนางเหง่า มีอาชีพทำนา จบชั้นมัธยมศึกษา ที่จ.มหาสารคาม และมาเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เข้าเรียนที่คณะสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วลาออกมาเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างศึกษาในกรุงเทพฯ เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน จึงอาศัยเป็นเด็กวัด อยู่วัดชนะสงคราม มาตลอด

หลังจบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เริ่มทำงานเป็นทนายความ ว่าความให้กับนักหนังสือพิมพ์ในคดีกบฏสันติภาพ เมื่อปี 2496 พร้อมกับทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ ที่หนังสือพิมพ์ "ไทยใหม่" ร่วมกับ สุภา ศิริมานนท์ ต่อมาย้ายไปหนังสือพิมพ์ "พิมพ์ไทย" ร่วมกับ ทวีป วรดิลก ย้ายไป "สยามนิกร" "สุภาพบุรุษ-ประชามิตร" และ "ข่าวภาพ" โดยมีหน้าที่เขียนข่าวการเมือง มีฉายาว่า "บ๊อบการเมือง" (เนื่องจากขณะนั้น ทองใบไว้ผมยาว ทรงบ๊อบ)

ในปี 2501 ได้เดินทางร่วมคณะหนังสือพิมพ์ไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับกุหลาบ สายประดิษฐ์ สุวัฒน์ วรดิลก และเพ็ญศรี พุ่มชูศรี เมื่อกลับมาจึงถูกจับขังคุกหลายปีโดยไม่มีความผิด ได้รับการปล่อยตัวเมื่อ พ.ศ.2509 ออกมาทำงานเป็นทนายความ และนักข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์

นายทองใบ ทองเปาด์ เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ระหว่างปี 2527-2529 และได้รับคัดเลือกเป็นผู้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2527 แต่นายทองใบปฏิเสธที่จะเดินทางไปรับรางวัลที่ประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากต้องรับรางวัลจากประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซึ่งในขณะนั้นมีภาพของผู้นำเผด็จการ และละเมิดสิทธิมนุษยชน จากกรณีลอบสังหารนายเบนีโย อากีโน (สามีของนางคอราซอน อากีโน) เมื่อ พ.ศ.2526

ที่มา.มติชนออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น