--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันพุธที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2554

ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ เจ้าสำนัก "เศรษฐกิจใต้ดิน" "ทักษิณ-อภิสิทธิ์ต่างกันที่เรื่องการพนัน"

แคมเปญหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์มีข้อมูลเต็มถังเพราะการทำเวิร์กช็อป 5 สัปดาห์ของคณะข้าราชการหัวกะทิของประเทศ 70 คน ทำให้เกิดข้อค้นพบ-ข้อมูล ชุดความคิดที่พัฒนาต่อยอดนโยบายได้อย่างลงตัว โดยไม่ต้องลงแรง

1 ใน 3 หัวขบวน แคมเปญ "ปฏิบัติการเพื่อคนไทย" เป็นเจ้าสำนักวิจัยด้าน "เศรษฐกิจนอกระบบ"

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ผู้คร่ำหวอดกับคนในวงการใต้ดิน-หัวคะแนน-เจ้าพ่อและคนกลางคืน อาสา มานำเสนอ "แรงงานนอกระบบและเศรษฐกิจนอกระบบ"

"กูรู-เศรษฐกิจใต้ดิน" หลังส่งการบ้านให้ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรี

- วัตถุประสงค์จริง ๆ ของรัฐบาลในการทำงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจนอกระบบคืออะไร ต่างจากทุกครั้งอย่างไร

คือเป็นโจทย์สำหรับคนที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งตามหลักของนัก เศรษฐศาสตร์จะหมายถึงคนที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีผู้ที่เสียภาษีทางตรง ซึ่งรายได้ของเขาจะไม่รวมอยู่ในบัญชีรายได้ประชาชาติ

ดังนั้นการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ทำได้ลำบากมาก เป้าหมายคราวนี้ส่วนใหญ่ น้ำหนักจะอยู่ที่คนทำงานนอกระบบที่อยู่ในตัวเมืองที่ไม่ใช่เกษตรกร แต่เกษตรกรจะได้ประโยชน์บางอย่างด้วยเช่นกัน

ซึ่งกลุ่มประชาชนก็มี 4 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย แม่ค้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ และคนทำงานกลางคืน เพราะฉะนั้นหลักคิด ถามว่า นโยบายแบบนี้คุณทักษิณ เคยทำไหม คุณทักษิณเคยทำ คุณทักษิณทำมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่เราเรียกว่านโยบายประชานิยม

ส่วนเรื่องแท็กซี่ ถามว่า คุณทักษิณเคยทำไหม คุณทักษิณก็เคยทำแท็กซี่เอื้ออาทร แต่ว่าล้มเหลว และในที่สุดเอสเอ็มอีแบงก์ ที่เป็นคนปล่อยสินเชื่อขาดทุนยับเลย สิ่งที่คุณทักษิณได้เริ่มต้นบางอย่างไว้ ที่เรียกว่า นโยบายประชานิยม เป็นเรื่องที่ดี และมีเรื่องที่เป็นจุดอ่อน

แต่เรื่องที่ไม่ดีของคุณทักษิณ เช่น แท็กซี่เอื้ออาทร เอาสินค้าไม่ดีมาให้คนใช้ และกลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แล้วก็เรื่องบ้านเอื้ออาทรนี่ไม่ดี เพราะเป็นการเก็บเงินค่าหัวคิวจากโครงการ และทำให้คุณภาพบ้านเอื้ออาทรไม่ดีพอ คือตัวนโยบายนั้นดี แต่กระบวนการทำงานนั้นมีการทุจริต

ฉะนั้นอีกอันหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนของนโยบายประชานิยมคือ ไม่มีกรอบทางกฎหมายรับรอง จึงเป็นเหตุให้นโยบาย ต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับตัวคุณทักษิณ คือถ้าคุณทักษิณอยู่ นโยบายอยู่ แต่ถ้าคุณทักษิณ ไม่อยู่ ทุกอย่างก็จะค่อย ๆ แห้งไป

ฉะนั้นก่อนที่เราจะไปพูดกันถึงนโยบายของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ก็ต้องดูว่า สิ่งที่คุณทักษิณริเริ่มไว้มีจุดแข็งอะไร มีจุดอ่อนอะไร ผมคิดว่าการเอานโยบายมาพัฒนาต่อยอด ปิดจุดอ่อนนั้นไม่ใช่เรื่องเสียหาย ตราบใดที่ผลประโยชน์นั้นเป็นของประชาชน

ผมได้ประเมินจุดแข็ง จุดอ่อนของนโยบายประชานิยมที่คุณทักษิณได้ทำไว้ เมื่อเรามาทำตรงนี้เราก็จะมีความระมัดระวังมากขึ้น และสิ่งที่ผมคิดว่าเราต้องระวังมากที่สุดก็คือ การใช้เงิน

สิ่งที่แตกต่างคือ คุณทักษิณให้ผมทำเรื่องการพนัน แต่คุณอภิสิทธิ์ไม่ให้ผมทำเรื่องการพนัน

- เรื่องเงินประกันสังคมคือ ใช้กลุ่มตัวอย่างจริง ถามจริง มาให้ข้อมูลจริง

เรื่องประกันสังคมก็เหมือนกัน ที่สถาบันการเงินเสนอเข้ามาตอนแรก 280 บาทต่อเดือน แต่พอเรียกแม่ค้าเข้ามาคุย เขาบอกไม่ไหว ส่วนมากก็จะบอก 100-200 บาท นี่เขารับไหว ข้อเสนอคือ รัฐจ่ายให้ส่วนหนึ่ง หรือรัฐตั้งเป็นกองทุนเลย แต่หลักการคือว่า คนมีน้อย รัฐต้องช่วยมาก

- การเข้าถึงแหล่งทุนที่เป็นระบบของคนด้อยโอกาสทำอย่างไร

ให้เขาเข้าไปได้ง่ายที่สุด เขาก็บอกว่า ถ้ารวมเป็นกลุ่มนี่เข้าง่ายที่สุด ที่เขาใช้ว่าเป็นชุมชน เพราะว่ามีตัวประธาน รองประธาน มีเลขาฯ มีความรับผิดชอบชัดเจน เช่น ชุมชนมอเตอร์ไซค์รับจ้างสุขุมวิทซอย 18 นี่ก็จัดว่าเป็นชุมชน แต่กฎหมายเขาไม่ได้ยอมรับ

- ใช้ออมสินเป็นต้นแบบ

ใช่ครับ เพราะธนาคารเอกชนเขาไม่เอา ความเสี่ยงมันสูงไป และทำให้รู้ว่าของที่อื่นก็ทำได้ แล้วการปล่อยกู้ก็ปล่อย เช่น กลุ่มกลุ่มนี้ตั้งกลุ่มออมทรัพย์กัน เก็บเงินได้ 10,000 บาท คุณมีสิทธิกู้ได้ 5 เท่า เวลากำกับ สมมติเขาปล่อยกู้ 6% คุณเอาไปบริหาร 8% อีก 2% เอาไว้เป็น ค่าบริหารจัดการ

- ตัวเลขที่ลงตัวระหว่างฝ่ายแท็กซี่กับธนาคารคือเท่าไหร่

ประมาณ 5% มอเตอร์ไซค์นี่ราคา 70,000 แต่แท็กซี่มัน 700,000 คือดาวน์มอเตอร์ไซค์นี่มันหวานคอแร้งอยู่แล้ว (หัวเราะ) แท็กซี่มันแพงกว่า เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องปรึกษาผู้ใหญ่ของเขา

- ขาหนึ่งประชาชนได้ประโยชน์ อีกขาหนึ่งคือรัฐบาลได้คะแนน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคจะเป็นอย่างไร

จะดีขึ้น คือข้างล่างมีกำลังซื้อเยอะขึ้น ถามว่า คนที่มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นเดือนละ 3,000-10,000 บาท จำนวนหลายล้านคน เขาจะบริโภคอะไร เขาจะบริโภคสินค้าจำเป็น กำลังซื้อมันจะเพิ่มขึ้น คนจะกินกันมากขึ้น คนจะไปซ่อมแซมบ้านของตัวเอง ตอนแรกไม่มีเงิน แต่พอมีเงินเหลือ ก็อยากทำนู่นทำนี่ ชีวิตมันก็ดีขึ้นหน่อยนึง มันไม่ดีที่สุดหรอก แต่มันดีขึ้น

- แคมเปญนี้จะนำไปสู่การหาเสียงครั้งมโหฬารหรือเปล่า

คือผมมองจากคนภายนอกนะ ถามว่า สิ่งที่นักการเมืองต้องการคืออะไร นักการเมืองต้องการความนิยมจากประชาชน ทุกพรรคต้องการเหมือนกันหมด ถ้าเป็นนโยบายที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เรายอมรับได้ไหม อย่างประชานิยมนี่นะครับ ถ้าหากว่าทำให้มีกรอบกฎหมายรับรอง แล้วคุณไม่ทุจริตนะ ผมว่าดี

ผมยินดีเห็นการแข่งขันทางนโยบายที่ให้หลักประกันในสังคม แล้วไม่ไปสร้างภาระทางการเงิน มีคนที่เสียประโยชน์แล้วอยากจะมาตบหน้าผมสักที ผมว่าตำรวจกับ เทศกิจที่อยากตบหน้าผมมาก (หัวเราะ)

- หลีกเลี่ยงการถูกครหาการเป็นเรื่อง หาเสียงเลือกตั้งไม่ได้ใช่ไหม

ไม่ได้หรอก ไม่ว่าจะช่วงไหนก็โดนด่าอยู่ดี (หัวเราะ) ก็ต้องมีการวิจารณ์ ถ้าเป็นตอนเสื้อแดงมา แล้วมาทำเรื่องนี้ก็โดนหาว่าเอาเศรษฐกิจมาล่อ แต่คุณกรณ์เขาบอกว่า ช่วงสองปีที่ผ่านมาไม่มีเวลาตั้งหลักเลย เพราะเข้ามาตอนนั้นเศรษฐกิจกำลังตกต่ำ แล้วเขาก็ใช้เวลา 1 ปีทำ ทำเสร็จก็เจอ เสื้อแดงรอบสอง เขาบอกว่า ไม่มีจังหวะให้ทำจริง ๆ

- สิ่งนี้จะเป็นการก้าวข้ามประชานิยมไปสู่รัฐสวัสดิการเลยหรือเปล่า

ผมคิดว่า ก้าวที่หนึ่งคือ การก้าวข้ามประชานิยม ก้าวที่สองคือ ทำให้เป็นสวัสดิการของสังคม แต่ต้องไม่ใช่สวัสดิการที่รัฐแบกทั้งหมด ถ้าให้รัฐแบกทั้งหมดในระยะยาวไม่ไหวหรอก คือคนเดี๋ยวนี้ เขาอยู่ยาวขึ้น อายุยืนขึ้น แต่คนเกิดลดลง ถ้ามีแต่การให้รัฐมาอุดหนุน มันจะล้มในระยะยาว จึงต้องให้ประชาชนร่วมกันรับผิดชอบด้วย

คือสวัสดิการพวกนี้ถามว่า ดีแล้วหรือยัง ผมบอกได้เลยว่า มันเป็นจุดเริ่มต้น อนาคตนี่ยังต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ดีกว่านี้ครับ อย่างรัฐวิสาหกิจนี่ครับ ทุกวันนี้เขาทำเรื่องการรับผิดชอบต่อสังคม ผมยังคิดว่ารัฐบาลควรทำวิสาหกิจเพื่อสังคม คือคุณทำแล้วคุณเลี้ยงตัวเองได้ แล้วกำไรไปทำประโยชน์ให้สังคม มันจะไม่ใช่แค่ ซีเอสอาร์อีกแล้ว คุณแบ่งเงินส่วนหนึ่ง กำไรส่วนหนึ่ง ต้องเอาลงไปเพื่อสังคมเลย ไม่ใช่แค่เข้าไปในคลัง

- ทำเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจนอกระบบมานาน แต่ครั้งนี้จะเห็นผลต่างอย่างไร

ก็ต้องยอมรับว่า คุณทักษิณเขาก็เคยทำ แต่ของเขายังมีจุดอ่อน เราเอามาทำต่อยอด และที่สำคัญคือ ทำให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย เจตจำนงที่แน่วแน่ทางการเมือง อย่างคุณอภิสิทธิ์ คุณกรณ์ มีเจตจำนงที่จะทำ แล้วไม่หาผลประโยชน์เข้าตัว ผมเห็นว่าคุณอภิสิทธิ์กับคุณกรณ์ไม่มีข่าวอื้อฉาว เรื่องนี้ ฉะนั้นผมยินดีทำให้

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
--------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น