จับตาหาก"ทักษิณ" ยก "มิ่งขวัญ" ขึ้นหิ้งเมื่อไหร่ ก็น่าจะได้เห็นใบลาออกของ "ขุนศึกฝั่งธนฯ"เตรียมตั้ง"พรรคทางเลือกใหม่"
เป็นกระแสกรุ่นๆ มาตั้งแต่ปลายปี 2553 กรณีศึกชิง "ผู้นำเพื่อไทย" ที่ "มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์" ออกตัวแรงแซงคู่แข่งรายอื่นๆ โดยมี ส.ส.เคลื่อนไหวสร้างกระแส จนชื่อ "ติดโผ"
และมีความหวังยิ่งขึ้น เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เจ้าของพรรคตัวจิรง เปิดทางให้ "มิ่งขวัญ" พิสูจน์ฝีมือการทำงาน ด้วยการนำทีมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล (พร้อมทั้งไฟเขียวให้แนบชื่อเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีในท้ายญัตติ) ก่อนจะพิจารณาเลื่อนชั้นขึ้นเป็นผู้นำพรรคเพื่อไทย หลังจาก ส.ส.กลุ่มหนึ่ง เดินทางไปเสนอชื่อ มิ่งขวัญ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พิจารณา อย่างเป็นทางการ
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ส.ส.กลุ่มหนุนมิ่งขวัญ ออกมาให้ข่าวดีว่า "ทักษิณ" โฟนอินเข้ามาในวงประชุมแกนนำและกรรมการประสานภารกิจพรรค ออกปากมอบหมายให้ "มิ่งขวัญ" เป็นหัวหน้าทีมอภิปรายไม่ไว้วางใจ พร้อมทั้งมอบหมายให้ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน (ที่ยังวนเวียนรับใช้ "ทักษิณ"อย่างใกล้ชิด) เป็นที่ปรึกษาและเป็นตัวหลักในการจัดทีมอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้
พลันที่ข่าวนี้สะพัดออกมา ก็ปรากฎปฏิกริยาจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็ขอสละสิทธิ์ในการร่วมอภิปราย ทั้งที่เจ้าตัวหมายมั่นปั้นมือ ว่าจะโชว์ผลงานทิ้งทวนก่อนเลือกตั้งใหญ่อีกรอบ
"เฉลิม" ให้เหตุผลเบื้องหน้าว่า "ส่วนตัวก็ยินดีที่จะให้ข้อมูล แต่จะไม่ร่วมอภิปรายในครั้งนี้ เพราะส.ส.ที่ใกล้ชิดคุณมิ่งขวัญหลายคนให้สัมภาษณ์ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จะเป็นแนวใหม่ รูปแบบสมานฉันท์ ไม่ดุเดือดเลือดพล่าน หรือเลือดท่วมจอ พร้อมทั้งเสนอนโยบายควบคู่ไปด้วย ซึ่งไม่ตรงกับแนวทางของผม ที่คิดว่าการอภิปรายซักฟอกรัฐบาลนั้นจะต้องนำเรื่องการทุจริต การบริหารงานที่ล้มเหลวมาถล่มรัฐบาล เพื่อตีแผ่ให้ประชาชนได้เห็น แต่คุณมิ่งขวัญอาจจะมีข้อมูลที่ดีก็ได้ ผมก็ขอภาวนาให้คุณมิ่งขวัญประสบความสำเร็จ และยืนยันว่าผมไม่ได้มีความน้อยใจอะไร"
แม้ว่านักข่าวจะถามต่อว่า ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ร้องขอให้ช่วยในการอภิปรายฯ ครั้งนี้ด้วย จะว่าอย่างไร เจ้าตัวก็ ประกาศศักดิ์ศรีว่า "ผมเป็นลูกพรรค เป็นเพื่อน พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ไม่ใช่ลูกน้อง การอภิปรายครั้งนี้ถึงอย่างไรก็คงไม่ร่วมด้วย"
คำตอบผ่านสื่อเช่นนี้ มุมหนึ่งก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็น "อาการน้อยใจ" ก็ไม่ผิดนัก เพราะที่ผ่านมา "เฉลิม" คือ "เดี่ยวมือ 1" ของเพื่อไทยในการอภิปรายทั้งในและนอกสภาฯ ไม่ว่าอภิปรายไม่ไว้วางใจ อภิปรายงบประมาณ อภิปรายผลงานรัฐบาล แม้กระทั่งกระทู้ถามสด ที่เขามักจะเป็นตัวหลักและเป็นสีสัน ไม่นับบทบาทการเป็น "แม่ทัพ" หาเสียงเลือกตั้ง ที่ผู้สมัคร และ ส.ส.เรียกใช้บริการกันตลอดฤดูหาเสียง
ที่สำคัญ "เฉลิม" ตรงไปตรงมา กับทุ่มเททำงานให้พรรคเพื่อแลกกับความเติบโตทางการเมือง ซึ่งเขาออกปากเรื่องนี้ทั้งในที่แจ้งและที่ลับมาตลอดว่า เขาไม่มีทุนมากพอจะดูแล ส.ส.ทั้งพรรคได้ เพราะสุดท้ายทุกคนก็ขึ้นอยู่กับ "ทักษิณ" ดังนั้น สิ่งที่เขาทุ่มเทได้คือ การสร้างมูลค่าให้ตัวเองในพรรคนี้ เพื่อพิสูจน์ฝีมือให้เจ้าของพรรคเห็นคุณค่า
เป้าหมายนี้ และการเคลื่อนไหวของเฉลิม ที่ผ่านมา ทั้งคนในพรรค คนนอกพรรค ก็รู้กันทั่วว่า"เฉลิม"ก็ไม่ต่างกับแกนนำในพรรคคนอื่น ที่ทำงานหนัก เพื่อหวังจะก้าวไปเป็นผู้นำพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด
นั่นจึงเป็นเหตุ ที่ทำให้คู่แข่งทั้งในพรรคและนอกพรรค ก็พยายามสร้างเครดิตและกระแสขึ้นมาชิง ซึ่ง"เฉลิม" เองก็รู้สึกว่า "ขาใหญ่" ในพรรคหลายคนเดินเกมสกัดเขา โดยเฉพาะ"กลุ่ม 111" อย่าง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และอดีตประธานภาคกทม.ที่ยังคงมีอิทธิพลในภาคกทม.อยู่เช่นเดิม และรวมไปถึง "จาตุรนต์ ฉายแสง" อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่หมายจะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคตัวจริง หลังจากที่พ้นโทษการเมืองปลายปี 2555
วันนี้ ถึงแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เหตุที่ "เฉลิม" ลอยแพ "มิ่งขวัญ" แล้วปล่อยให้เล่นบทนำซักฟอกรัฐบาลรอบนี้ แต่ก็ชัดเจนว่า "เฉลิม" ต้องการให้ "ทักษิณ" และสังคม เห็นฝีมือและตัวตนที่แท้จริงของมิ่งขวัญ นั่นจึงเป็นเหตุให้เขาตัดสินใจไม่สังฆกรรมในการอภิปรายฯครั้งนี้
ที่สำคัญที่ผ่านมา "เฉลิม" เคยเหน็บแนม "มิ่งขวัญ" และกลุ่มส.ส.ที่หนุนมิ่งขวัญ ว่าเป็นพวก "นักรบห้องแอร์" ขณะที่เขาตะลุยนำทัพหาเสียงเลือกตั้งซ่อมทุกครั้ง แต่ยังถูกส.ส.กลุ่มนี้ ต่อว่าเรื่องชูประเด็นหาเสียงชูเรื่อง "เอาทักษิณกลับบ้าน"
อย่างไรก็ตาม ถ้า "มิ่งขวัญ" ต้องเป็นผู้นำซักฟอกรอบนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นัก เพราะที่ผ่านมา มิ่งขวัญไม่ทำการบ้าน คอนเนคชัน กับทีมต่างๆ ในพรรคแทบไม่มี ไม่ว่าจะเป็นทีมนโยบาย ทีมเศรษฐกิจ ที่เขาแทบไม่เคยเข้าร่วม
ล่าสุด มิ่งขวัญ และส.ส.กลุ่มหนุนเขา กำลังตามล่าหาคนทำข้อมูลอภิปราย ทั้งคนในและคนนอกพรรค ซึ่งคาดว่าหากจะมี "ข้อมูลเด็ด" ก็อาจจะได้จาก "ทีมทักษิณ" "ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง" และอาจรวมไปถึง "ฝ่ายแค้นในรัฐบาล"
หนึ่งในส.ส.ที่หนุนมิ่งขวัญ อย่างสุรสิทธิ์ เจียมวิจักษณ์ ส.ส.เชียงราย ได้ออกมาชี้แจง ปกป้องกรณีที่ส.ส.ในพรรคเดียวกัน ติติงว่ามิ่งขวัญว่า จนป่านนี้ ก็ยังไม่แสดงบทบาทผู้นำการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า
"เพราะพรรคยังไม่มีมติอย่างเป็นทางการว่าจะให้คุณมิ่งขวัญเป็นผู้นำการอภิปราย มีแค่เสียงสนับสนุนจาก ส.ส.เท่านั้น ทำให้คุณมิ่งขวัญยังไม่แสดงท่าทีใดๆ เพราะพรรคเองมีความพยายามจะสกัดกั้นคุณมิ่งขวัญอยู่ตลอด โดยเฉพาะพวกที่ไม่ลงทุนอะไร แต่ยึดติดอยู่กับพ.ต.ท.ทักษิณ แล้วอยากได้ตำแหน่ง เพราะกลัวว่าหากคุณมิ่งขวัญขึ้นมาแล้ว ตัวเองจะไม่ได้รับตำแหน่งในการจัดตัวเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี นอกจากนี้ ยังมีความพยายามเสนอชื่อคนอื่นขึ้นมาแทน เช่น คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นหัวหน้าพรรค ทั้งที่รู้ว่าพรรคมีโอกาสสุ่มเสี่ยงที่จะถูกยุบ อย่างกรณีคุณยิ่งลักษณ์ เหมาะสมที่เป็นหัวหน้าพรรคมากหากเป็นการตั้งพรรคใหม่ แต่การมารับตำแหน่งในช่วงนี้ไม่เหมาะสม"
ส.ส.เชียงรายผู้นี้ ยืนยันว่า ว่าที่หัวหน้าพรรคของเขา "เตรียมข้อมูลพร้อมหมดแล้ว หากพรรคมีมติให้เป็นผู้นำอภิปรายและเสนอชื่อแนบท้ายญัตติแล้ว คุณมิ่งขวัญจะแสดงตัวทันที"
บรรยากาศบาดหมางในพรรคเพื่อไทยอย่างนี้ คงไม่ส่งผลดีต่อกำลังใจของส.ส.ในช่วงเข้าสู่โหมดเลือกตั้งนัก เพราะแต่ละก๊ก ไม่พอใจกับการบริหารแบบ "แบ่งแยกแล้วปกครอง" ของเจ้าของพรรคอย่างทักษิณ ที่มุ่งเป้าหมายการเมืองของตัวเองมากกว่าความเป็นอยู่ของส.ส.ในพรรค จึงอาจจะต้องเสียมือทำงานให้ตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย
ล่าสุด เริ่มมีความเคลื่อนไหวของ "เฉลิม" ที่เล็งมองหาอนาคตตัวเองในเส้นทางการเมืองอื่น จับตาดูว่า ถ้า "ทักษิณ" ยก "มิ่งขวัญ" ขึ้นหิ้งเมื่อไหร่ ก็น่าจะได้เห็นใบลาออกของ "ขุนศึกฝั่งธนฯ" ทิ้งเก้าอี้ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย เมื่อนั้น
ก่อนจะตัดสินใจ เลือกทางว่า ระหว่างโบกมือลาการเมือง หรือ แยกออกไปตั้งพรรคการเมืองของตัวเองเหมือนเดิม แต่แนวทางหลัง อาจจะเป็นไปได้สูง โดยเฉพาะ อนาคตกับพรรคที่ชื่อ "พรรคทางเลือกใหม่" หรือ New Alternative Party ที่ได้ข่าวว่าซุ่มไปจดทะเบียนไว้แล้ว
ขืนอยู่ไปจนถึง "กลุ่ม 111" หลุดจากคุกการเมืองปลายปี 2555 เมื่อไหร่ ศึกชิงกันเป็นใหญ่ในพรรคเพื่อไทยคงกลายเป็นสงครามเมื่อนั้น
ที่มา.กรุงเทพธุรกิจ
------------------------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น