ก่อนหน้านี้ก็เคยมีข้อกังขาและวิพากษ์ วิจารณ์ประสิทธิภาพของอุปกรณ์ป้องกันระเบิด อย่างเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 ซึ่งเจ้าหน้าที่นำไปใช้งานแล้วเกิดความผิดพลาด ตรวจหาวัตถุระเบิดไม่พบ จนเกิด "คาร์บอมบ์" ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส จนรัฐบาลได้สั่งยกเลิกการใช้งานไปในที่สุด มาในครั้งนี้ ก็ยังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่เสียชีวิตคาปราการด่านสุดท้ายของชีวิตที่เรียกว่า "ชุดบอมสูท" แล้วชุดที่ว่านี้ปกป้องผู้สวมใส่ได้แค่ไหน
จากข้อมูลพบว่า "บอมบ์สูท" หรือ Blast (ชุดป้องกันอันตรายจากแรงระเบิด) เป็นชุดของเจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดที่ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นำมาใช้ทุกครั้งที่มีการแจ้งเหตุคนร้ายลอบวางวัตถุต้องสงสัย ราคาประมาณชุดละ 2 ล้านบาท ทางรัฐบาลสั่งซื้อจากประเทศแคนาดาเป็นชุดเกราะหนักสำหรับผู้เก็บกู้ระเบิด ออกแบบมาเพื่อทนต่อแรงระเบิดที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และสวมใส่เพื่อป้องกันแรงอัดและสะเก็ดระเบิดแบบป้องกันทั้งตัว สามารถป้องกันแรงอัดระเบิดและสะเก็ดระเบิดทั้งแบบธรรมดา สารเคมี หรือสารชีวภาพ
ปัจจุบันชุดดังกล่าวได้รับการออกแบบให้มีประสิทธิภาพการป้องกันสูงสุด มีน้ำหนักที่เหมาะสม มีความยืดหยุ่น ป้องกันภัยคุกคามระเบิด แรงดันเกิน คลื่นช็อค ความร้อน ดับเพลิง น้ำหนักระหว่าง 15-30 กิโลกรัม บอมบ์สูทโดยทั่วไปประกอบด้วย 1.กางเกงด้วยที่สามารถปรับระดับความยาวและความกว้าง 2.แจ๊คเก็ต (Smock) ที่มีคอและขาหนีบที่แนบมาห่อหุ้ม 3.แขน 4.รองเท้าบู๊ต 5.ถุงป้องกันมือ 6.แผ่นห่อหุ้มทรวงอกและขาหนีบ 7.หมวกนิรภัย 8.หมวกกันน็อค 10.กระเป๋าพกพา หน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด หรือ EOD (Explosive Ordnance Disposal) จะสวมชุดป้องกันอันตรายจากแรงระเบิดในระหว่างการลาดตระเวนเก็บกู้ระเบิด เพื่อความปลอดภัยและป้องกันภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่จากเหตุการณ์การสูญเสียครั้งนี้เห็นได้ว่าชุดป้องกันที่หน่วยกู้ระเบิดไทยบางหน่วยใช้อยู่นั้นไม่ช่วยปกป้องชีวิตทหารหาญที่เสี่ยงชีวิตเข้าไปกู้ระเบิด |
ด้าน พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบช.ศชต.) ตอบข้อถามของผู้สื่อข่าวกรณีเจ้าหน้าที่สวมชุดป้องกันระเบิด (บอมบ์สูท) แล้ว แต่ยังไม่สามารถป้องกันได้ ว่า ในเบื้องต้นยังไม่สามารถตอบได้ ต้องรอการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญก่อนว่าเป็นเพราะเหตุใด
จากรายงานของศูนย์ข่าวอิศราได้เผยคำกล่าวของนายตำรวจประจำหน่วยเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาหลายปี โดยนายตำรวจเล่าให้ฟังว่า เหตุระเบิดดังกล่าวข้างต้นนั้น เจ้าหน้าที่ได้ทำตามขั้นตอนการเก็บกู้ทุกประการ ไม่ได้ประมาท แต่ที่เกิดความผิดพลาดเพราะ คนร้ายมีเป้าหมายสังหารชุดอีโอดี
"ก่อนจะเกิดระเบิด เจ้าหน้าที่ตำรวจกับทหารเข้าไปสังเกตการณ์ก่อนแล้ว 2 ครั้ง แต่คนร้ายไม่กดจุดชนวน กระทั่งชุดอีโอดีเข้าไปจึงกดระเบิด ฉะนั้นคนร้ายจึงมีเป้าที่ชุดอีโอดี และระเบิดที่คนร้ายใช้ก็มีน้ำหนักถึง 5 กิโลกรัม และยังเป็นระเบิดแรงสูงที่หมายเอาชีวิตด้วย"
สำหรับคำถามเรื่อง "บอม์สูท" แล้ว นายตำรวจนักกู้ระเบิด กล่าวว่า ชุด "บอมบ์สูท" ชุดนี้ผลิตเมื่อปี ค.ศ.2004 ตามหลักแล้วอายุการใช้งานที่มีประสิทธิภาพจะอยู่ที่ 5 ปี ถ้าพูดตรงๆ คือ ชุดนี้หมดอายุแล้ว
"ที่ตัวบอมบ์สูทจะมีรหัสเขียนเอาไว้ ตัวนี้เป็นอีโอดี 8 แต่เพื่อนๆ บางหน่วยได้อีโอดี 9 กันแล้ว เมื่อชุดบอมบ์สูทใช้งานนานเกินไป จะทำให้ประสิทธิภาพการป้องกันต่ำลง อย่างไรก็ตาม ชุดบอมบ์สูทจะสามารถป้องกันระเบิดได้ที่น้ำหนัก 1.5 ปอนด์ แต่ระเบิดที่คนร้ายใช้ครั้งนี้หนักเกือบ 3 ปอนด์ (5 กิโลกรัม) และยังเป็นดินระเบิดแรงสูง ประกอบกับหุ่นยนต์เก็บกู้ที่ใช้ทำงานก็ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะผลิตจากสถาบันการศึกษาภายในประเทศ ต่างจากหุ่นที่ผลิตจากอเมริกาที่มีคอมพิวเตอร์ควบคุม ทั้งหมดจึงกลายเป็นช่องว่างทำให้เกิดความสูญเสียอยางมหันต์" นายตำรวจนักกู้ระเบิดกล่าว
แล้ว "ใคร" หรือ "อะไร" จะปกป้องชีวิตหน่วยอีโอดีของประเทศไทยระหว่างการกอบกู้ระเบิด ?
ที่มา.มติชนออนไลน์
******************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น