--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันจันทร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2554

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ถกแขมร์-แลทักษิณ-ชายแดน "มาร์ค"

สัมภาษณ์

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธาน หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิเคราะห์สถานการณ์ไทย-กัมพูชา ในห้วงเวลาที่ ส.ส.และนักเคลื่อนไหวคนไทยทั้ง 7 นอนคุกกัมพูชา และเพิ่งได้รับการประกันตัว

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์อธิบายว่า ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมืองภายในประเทศของทั้ง 2 ฝ่าย จุดเริ่มที่สำคัญใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเด็นความขัดแย้งกับประเทศกัมพูชา เกิดจากกระบวนการขับไล่อดีตนายกรัฐมนตรีที่มาจากฝ่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็นการขับไล่ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ หรือ นายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็มีการนำประเด็นปัญหาเขตแดนขึ้นมาโจมตีกัน โดยเฉพาะเรื่องเขาพระวิหาร ถูกใช้เป็นเครื่องมือ โจมตีรัฐบาลที่อยู่ในเครือข่าย พ.ต.ท.ทักษิณ

ดังนั้น การเคลื่อนไหวประเด็นเขตแดนจึงมีเป้าหมายสุดท้ายคือการโจมตีรัฐบาลมากกว่าจะหาความชัดเจนในการเจรจาปักปันเขตแดน

แต่กรณีปัจจุบัน พรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีภูมิคุ้มกันต่อการถูกกล่าวหาว่าขายชาติ เพราะโดยทั่วไปก็ยากที่จะทำให้คนเชื่อว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในแนวทางเดียวกับรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะรัฐบาลชุดนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชา ในการโจมตีรัฐบาลรุ่นก่อน ดังนั้น เมื่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ถูกโจมตีในประเด็นนี้บ้าง ประชาชนจึงเชื่อการชี้แจงของรัฐบาลมากกว่าเชื่อกลุ่มที่เคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาล ส่งผลให้ประเด็นการกล่าวหาว่าขายชาติ หรือเสียผลประโยชน์เสียดินแดนให้กับกัมพูชา จึงเป็นประเด็นที่อ่อน ในการใช้โจมตีรัฐบาลชุดนี้

สำหรับกลุ่มที่เคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องเขตแดน ก็ยังคงนำเรื่องนี้ไปเป็นประโยชน์ในการปลุกระดมมวลชนของตัวเองให้ ออกจากบ้าน เพื่อมารวมเป็นกลุ่มพลังกันอีกครั้งหนึ่ง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ 7 คนไทยถูกควบคุมตัวในกัมพูชาและอยู่ในกระบวนการศาลของกัมพูชา เรื่องนี้อาจจะลดทอนความน่าเชื่อถือของฝ่ายที่รณรงค์เรื่องรักชาติลงไปมาก

เพราะข้อมูลที่ฝ่ายรัฐบาลนายอภิสิทธิ์เปิดเผยต่อสาธารณะตลอดมา คือคนไทยทั้ง 7 ถูกจับในเขตของกัมพูชา ซึ่งสาธารณชนมีแนวโน้มที่จะเชื่อข้อมูลฝ่ายรัฐบาล เพราะมีกลไกสำคัญคือกองทัพ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการ ต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่พิทักษ์ดินแดน ทุกตารางนิ้ว โดยกระทรวงความมั่นคงเหล่านี้ไม่ได้มีท่าที หรือให้ข้อมูลที่ตรงกันข้ามกับทางรัฐบาล ส่งผลให้รัฐบาลไม่มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ

ในทางตรงข้าม หากรัฐบาลไทยเชื่อว่าทั้ง 7 คนไทยถูกจับในเขตไทย รัฐบาลก็จะเล่นอีกเกม โดยใช้พลังชาตินิยมปลุกเร้าเรียกร้องให้ปล่อยคนไทยทั้ง 7 ซึ่งจะทำให้รัฐบาลได้ประโยชน์ในเรื่องคะแนนนิยมจากประชาชนไทย แต่เมื่อข้อเท็จจริงคือฝ่ายไทยเพลี่ยงพล้ำกัมพูชา รัฐบาลนายอภิสิทธิ์จึงต้องประนีประนอมและรักษาหน้าตา ของไทยในบริบทการเมืองโลก

สำหรับท่าทีของสมเด็จฮุน เซน ผู้นำกัมพูชา ที่ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรมและศาลของกัมพูชา การพูดแบบนี้ย่อมได้ใจประชาชน ว่าไม่ถูกมหาอำนาจเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศไทยแทรกแซงต่อกระบวนการยุติธรรมของกัมพูชา และการแสดงตนเข้มแข็งของผู้นำกัมพูชา ก็เป็นประโยชน์ต่อผู้นำที่จะได้ ความนิยมจากประชาชนของตัวเองด้วย

อย่างไรก็ตาม คดีความบางคดีที่มีลักษณะพิเศษ ทำให้กระบวนการดำเนินไปอย่างรวดเร็วนั้น สาเหตุอาจเป็นเพราะมีเงื่อนไขปัจจัยหลายด้าน รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งหากปล่อยให้คดีนี้ยืดเยื้อต่อไป ก็จะไม่เป็นประโยชน์ต่อการค้าชายแดน ซึ่งก็อาจจะเกิดผลด้านลบต่อฝ่ายกัมพูชาด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีความพอดี พอเหมาะพอควร ของระยะเวลาในการดำเนินคดี เพื่อประโยชน์ของผู้นำกัมพูชา

ส่วนกรณีของ นายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรในกัมพูชา อดีตผู้ต้องหาคดีโจรกรรมข้อมูล ซึ่งเรื่องจบลงด้วยดี ได้รับพระราชทานอภัยโทษจากกษัตริย์กัมพูชาและการต้อนรับจาก สมเด็จฮุน เซน นั้น ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์มองว่า ผู้นำของแต่ละประเทศ ต้องเล่นบทผู้มีพระคุณ มีเมตตาธรรม เป็นธรรมดา

แต่กรณี 7 คนไทยนี้ มีสถานะทางสังคม สถานะทางการเมือง ที่แตกต่างจากนาย ศิวรักษ์ เพราะกรณีคนไทยทั้ง 7 ทำให้เขารู้สึกว่ามาหยามหมิ่นกันเกินไป โดยเฉพาะคนไทยบางคน ก็เคยเข้าไปในลักษณะนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก ดังนั้น ในแง่การเมืองภายในประเทศ การควบคุมตัวคนไทยไว้ จึงเป็นวิธีการตอบสนองอารมณ์ในประเทศวิธีหนึ่ง

หากการเคลื่อนไหวรณรงค์ของฝั่งไทย ทำอะไรที่เข้าข่ายดูหมิ่นเหยียดหยามชาวกัมพูชา ทำให้ประชาชนเขาโกรธเคืองขึ้นมา คดีนี้ก็อาจจะมีความยาวนาน เพราะผู้นำกัมพูชาก็จะต้องมีท่าทีสนองตอบอารมณ์ความรู้สึกต่อประชาชนตัวเอง ไม่ให้เสียความนิยมต่อผู้นำ และต้องไม่ลืมว่ากัมพูชาก็มีฝ่ายค้านที่พร้อมจะโจมตีรัฐบาลสมเด็จฮุน เซน หาว่ารัฐบาลอ่อนข้อให้ไทย หรือฮั้วผลประโยชน์ให้ฝ่ายไทย จึงรีบปล่อยตัวคนไทยกลับประเทศ เนื่องจากชาวกัมพูชาจำนวนไม่น้อย ก็อยากเห็นการลงโทษคนไทยให้จดจำ

ข้อสำคัญ คือหากฝ่ายที่เคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องเขตแดนในฝั่งไทย ไปทำให้ประชาชนกัมพูชาโกรธ ยกตัวอย่างเช่น เผารูปกษัตริย์ของกัมพูชา หรือทำอย่างอื่นให้เกิดความไม่พอใจของประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะยิ่งทำให้การเมืองภายในกัมพูชามีตัวแปร ให้ผู้นำประเทศต้องเปลี่ยนท่าทีต่อไทยทันที

แม้การควบคุมตัวคนไทยจะเป็นไปตามเหตุผลทางกฎหมายและเหตุผลทางการเมืองภายในกัมพูชา แต่กัมพูชาก็ไม่สามารถลงโทษด้วยระยะเวลายาวนานได้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นประเด็นคาราคาซังต่อไป เป็นเงื่อนไขให้คนในฝั่งไทยนำมาเป็นประเด็นเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา

ที่มา.ประชาชาติธุรกิจ
---------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น