--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554

ใช้อำนาจใดห้ามชุมนุม‘จตุพร’ยื่นศาลเคลียร์เงื่อนไขประกันตัว

“จตุพร” อึดอัดเงื่อนไขประกันตัวที่ไม่มีความชัดเจนทำให้ยากต่อการปฏิบัติตัว ส่งทนายยื่นคำร้องขอความกรุณากำหนดกรอบข้อห้ามตามเงื่อนไขให้ชัดเจน ถามห้ามร่วมชุมนุมเกิน 5 คนเป็นไปตามกฎหมายใด เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินถูกยกเลิกใช้ไปแล้วและสิทธิการชุมนุมก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ร่วมกิจกรรมไว้อาลัยผู้เสียชีวิต 91 ศพเข้าข่ายทำให้เกิดความวุ่นวายหรือขัดขวางการพิจารณาคดีหรือไม่ ทนายระบุเพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติตัวจนนำไปสู่การถอนประกัน โฆษกประชาธิปัตย์ซัดเคลื่อนไหวดึงองค์กรต่างชาติแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมไทย แนะใช้ช่องทางร้องเรียนผ่าน คอป. ไม่ต้องถึงศาลโลกร่วมฟังพิจารณาคดี “สุเทพ” ปลอบแกนนำวันนี้ยังไม่ได้ประกันตัวก็ยังมีโอกาสยื่นใหม่ได้อีก แต่ต้องไปหาเหตุผลเพิ่มเติมให้ศาลเชื่อว่าออกมาแล้วจะไม่หนี ไม่ก่อเรื่องวุ่นวาย

ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายคารม พลทะกลาง ทนายความนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน เข้ายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้อธิบายเงื่อนไขการให้ประกันตัวนายจตุพรในคดีก่อการร้ายให้ชัดเจน

“ศาลกำหนดเงื่อนไขเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่าห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือร่วมกิจกรรมที่เกินกว่า 5 คน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน หรือการดำเนินคดีในศาล หรือทำการเผยแพร่ข่าวสารต่อบุคคล กลุ่มบุคคล หรือต่อสาธารณะในเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายในทำนองเดียวกัน เว้นแต่เป็นการพูดหรืออภิปรายในรัฐสภาในฐานะเป็น ส.ส. การกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพและอิสรภาพของจำเลยที่จะเข้าร่วมกิจกรรมกับประชาชนภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ก่อให้เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการพิจารณาคดีในศาล จึงขอความกรุณาต่อศาลให้คำจำกันความที่ชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขเพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติ ไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อนจนนำไปสู่การถอนประกันจำเลย”

ต้องคำนึงถึงหน้าที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน

นายคารมกล่าวว่า การพิจารณาครั้งนี้อยากให้ศาลคำนึงถึงสถานะความเป็น ส.ส. ของนายจตุพร โดยเฉพาะหน้าที่ของนักการเมืองฝ่ายค้านที่ต้องทำหน้าที่ทั้งในและนอกสภา และขอให้คำนึงถึงสถานะความเป็นประชาชนที่เข้าร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยและเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมมาตลอด

ทั้งนี้ ศาลรับคำร้องไว้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป

เงื่อนไขประกันไม่ชัดยากปฏิบัติ

ด้านนายจตุพรกล่าวว่า ที่ต้องยื่นให้ศาลให้คำจำกัดความเกี่ยวกับเงื่อนไขการประกันตัวเพราะเห็นว่าเงื่อนไขที่กำหนดไม่ชัดเจน ยากต่อการปฏิบัติ

“ผมต้องการให้ศาลกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน เพื่อจะได้รู้ว่าจะไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงในวันที่ 9 ม.ค. นี้ได้หรือไม่ การไปร่วมกิจกรรมรำลึกถึงผู้เสียชีวิตถือว่าขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดีหรือไม่ โดยเฉพาะคำสั่งห้ามร่วมชุมนุมเกินกว่า 5 คน อยากทราบว่าเป็นไปตามกฎหมายใด เพราะว่า พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินถูกยกเลิกบังคับใช้ไปแล้ว” นายจตุพรกล่าว

ยื่นนายกฯดำเนินคดี 3 บิ๊ก

ที่ทำเนียบรัฐบาลนายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ โฆษก นปช. พร้อมแนวร่วมจำนวนหนึ่ง เข้ายื่นหนังสือผ่านเจ้าหน้าที่ถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินคดีกับบุคคลที่เข้าข่ายกระทำความผิดต่อองค์รัชทายาท ประกอบด้วย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี และนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี โดยนำข้อมูลที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์วิกิลีกส์มาเป็นหลักฐานที่อ้างว่าทั้ง 3 คน ร่วมสนทนากับนายเอริค จี. จอห์น อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง โดยจะให้เวลานายกรัฐมนตรีดำเนินการตามความเหมาะสม หากไม่ดำเนินการจะแจ้งความเอาผิดกับนายกฯในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

“สุเทพ” ยันศาลไทยมีมาตรฐาน

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. ทำหนังสือถึงศาลอาญาระหว่างประเทศหรือศาลโลก ให้ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการพิจารณาคดีของคนเสื้อแดงว่า จะทำอะไรก็ทำไป แต่ยืนยันได้ว่าการดำเนินการของศาลไทยมีมาตรฐาน เรื่องไม่ให้ประกันตัวแกนนำก็พิจารณาไปตามเหตุผล

“วันนี้ยังไม่ได้ประกันตัวก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้ตลอดไป ฝ่ายผู้ต้องหาต้องไปหาเหตุผลมาแสดงต่อศาลใหม่เพื่อให้ศาลเชื่อว่าหากได้ออกมาแล้วจะไม่สร้างความยุ่งยากหรือทำให้เกิดปัญหาต่อพยานหรือรูปคดี” นายสุเทพกล่าว

ซัดดึงองค์กรนอกแทรกแซงไทย

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การพิจารณาคดีเป็นเอกสิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมของแต่ละประเทศ เป็นกิจการภายในที่ทั่วโลกให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ไม่มีการก้าวก่ายแทรกแซง

“ไม่ต้องไปพึ่งศาลโลก นปช. ควรใช้ช่องทางที่มีอยู่ เช่น ร้องเรียนผ่านคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ไม่ควรเคลื่อนไหวเพื่อนำองค์กรต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศ”

ที่มา.จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้

**********************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น