--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สงครามการเมือง และการ Propaganda ความเกลียดชัง !!?

โดย.เมธา มาสขาว

ผมนั่งตั้งคำถามว่า หรือเราเกิดมาในยุคสงครามความเชื่อ ข่าวลือและการ Propaganda ความเกลียดชัง หลังจากอ่านข้อความข้อมูลข่าวสารต่างๆ ใน Social Network

ตั้งแต่ยุคของคนเสื้อเหลือง คนเสื้อแดง จนกระทั่งถึง นปช. กปปส. และรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์-ทักษิณในปัจจุบัน ประชาชนแต่ละฝ่ายเลือกรับข้อมูลคนละด้าน ความจริงคนละชุด แม้ในเหตุการณ์เดียวกันก็ตามแต่พยานต่างอยู่คนละขั้วข้างทางการเมือง ไม่แปลกที่พวกเขาเลือกเชื่อในข้อมูลของฝ่ายตนเอง แต่แปลกที่พวกเขาเลือกเชื่อในข้อมูลที่ถูกนำเสนอด้วยความบิดเบือน

ขณะนี้การ Propaganda หรือโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองเต็มไปหมดในโลก Internet หลายเรื่องเป็นการกล่าวหา ว่าร้าย ป้ายสี ใส่ความฝ่ายตรงข้าม บางเรื่องเป็นการยั่วยุประจานให้เกิดความเกลียดชังและความรุนแรง มีการ Share ข้อมูลต่างๆ จำนวนมากที่แม้ไร้หลักฐานการอ้างอิง จนดูเหมือนว่าเป็นสงครามปฏิบัติการข่าวสารไปแล้ว

เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายครั้งจากการเผชิญหน้ากันของประชาชนขั้วข้าง ก็อาจเกิดขึ้นจากการสั่งสมอารมณ์ความโกรธแค้นและความเกลียดชังจากการโฆษณาชวนเชื่อเหล่านั้นไม่มากก็น้อย ในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของประเทศไทยที่สร้างกระแสใหม่ไปทั่วโลก เพราะต่างมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ให้ประชาชนติดตามยิ่งกว่ารายการ Reality Show ใดๆ และยิ่งกว่าในภาพยนตร์แห่งอนาคตเรื่อง Hunger Game เสียอีก

ท่ามกลางการปราศรัยทางการเมือง การให้ความรู้กับประชาชนของตนเองที่ติดตามอยู่นั้นเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง แต่ในช่วงหลังรัฐประหารปี 2549 ที่ผ่านมา การโฆษณาชวนเชื่ออย่างเป็นระบบ และถ้อยความ Hate Speech เพื่อสร้างความเกลียดชังและปลูกฝังความรุนแรงกลับได้ขยายพื้นที่เต็มการเมืองแบบขั้วข้าง โดยเฉพาะในรายการของสถานีสีต่างๆ

ทุกวันนี้เราจึงเห็นการด่าทอเต็มหน้า Social-Network ไปหมด ไม่ว่าจะเป็นคำว่า สลิ่ม แมลงสาป ควายเหลืองหรือควายแดง เพื่อแบ่งแยกและ Propaganda ความเกลียดชังต่อกัน

เป็นเรื่องน่าเศร้าในสังคมไทยหากเราไม่สามารถยับยั้งสถานการณ์ความรุนแรงได้ เหตุที่ความขัดแย้งหรือความเห็นต่างทางความคิดทางการเมืองของประชาชนขั้วข้าง ไม่สามารถพูดคุยกันได้ด้วยการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานต่อกัน ไม่มากก็น้อยก็มาจากการเสพและปล่อยข้อมูลข่าวสารด้านเดียว ตลอดจนสงครามข่าวลือต่างๆ




จริงๆ แล้วความหมายของคำว่า Propaganda ไม่ได้ตรงกับคำว่าการโฆษณาชวนเชื่อเท่าไหร่นัก เพราะผลกระทบของการโฆษณาชวนเชื่อดูจะอ่อนโยนเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบของ Propaganda คำแปลที่สื่อได้ชัดเจนกว่ามาจากประเทศเยอรมนีซึ่งมีประสบการณ์เรื่องการ Propaganda ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคนาซีโดยตรง

ตามความหมายใน Wikipedia ภาษาเยอรมัน ได้ให้ความหมายของคำว่า Propaganda ไว้ว่า

”ความพยายามอย่างเป็นระบบ ในการปลูกฝังแง่มุมความคิดเห็น, เบี่ยงเบนกระบวนการรับรู้ และควบคุมพฤติกรรม เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีปฏิกิริยาตอบสนอง ตามที่ตนเองกำหนด”

การ Propaganda จึงมีความรุนแรงมากหากไม่มีการเฝ้าระวังดูแลจากสังคมอย่างจริงจัง เพื่อเฝ้าระวังการโฆษณาชวนเชื่อโดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากบางทีมันอาจขยายบานปลายไปสู่ความรุนแรงทางสังคมและสงครามกลางเมือง ราวกับไฟลามทุ่งโดยไม่ทันคาดคิด เหมือนกับกระแสการล่าแม่มดต่างๆ ในโลก Internet ขณะนี้

เราอย่าลืมบทเรียนที่น่าเศร้าของประเทศรวันด้า (Rwanda) ในปี 2537 ซึ่งเป็นบทเรียนประวัติศาสตร์อันปวดร้าวของโลก ประชาชนชาว Hutu ได้ทำสงครามล้างเผ่าพันธุ์จนทำให้ชาว Tutsi เสียชีวิตไปเกือบ 1 ล้านคนในสงครามกลางเมืองครั้งนั้น

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการ Propaganda โดยตรง ความขัดแย้งระหว่าง 2 ชนเผ่าที่เกิดขึ้นมายาวนานนั้น ได้เดินทางมาถึงจุดแตกหักเมื่อเครื่องบินของประธานาธิบดี Rwanda ชาว Hutu ถูกลอบยิงตกและเสียชีวิต ในที่สุดก็เกิดการปลุกระดมของนักการเมือง Hutu ทางวิทยุกล่าวหาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการวางแผนของชนเผ่า Tutsi และชนเผ่า Tutsi มีแผนจะฆ่าชนเผ่า Hutu ทั้งหมด หลังจากนั้น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ Tutsi ซึ่งเปรียบเหมือนดังแมลงสาบจึงได้เริ่มต้นขึ้น

เมื่อประชาชนขั้วข้างมีความจริงคนละชุด จากการ Propaganda สังคมก็จะยิ่งยากต่อการปรองดองสมานฉันท์ และจะยิ่งแตกร้าวลึกมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนฝังใจ

ทุกวันนี้เราจึงมีความจริงที่มากกว่าหนึ่ง หรือ Truths แทนที่จะเป็น ความจริงหนึ่งเดียวคือ Truth แต่ละฝ่ายต่างมีชุดความจริงของตนเอง ในยุคประชาชนขั้วข้างนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการสร้างความจริง (establish the truth) ร่วมกันของฝ่ายต่างๆ ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะจากสื่อมวลชนและปัญญาชนสาธารณะ โดยอาศัยข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์โดยการพิจารณาอย่างเป็นภาวะวิสัย

ประสบการณ์ของประเทศเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือการให้การศึกษาทางการเมืองที่เรียกว่า Civic Education พวกเขาแก้ปัญหาของยุคสมัยด้วยการสร้างพิพิธภัณฑ์ทางการเมืองดีๆ มากมายเพื่อให้เยาวชนคนหนุ่มสาวของเขาได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และความรู้ทางการเมือง เพื่อเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพที่จะสามารถเลือกการเมืองในสิ่งที่ตนเองต้องการได้อย่างแท้จริงในระบอบประชาธิปไตย



ขณะที่การเมืองก็ได้เปิดเสรีให้แก่ทุกอุดมการณ์ได้ต่อสู้ทางความคิดและนโยบายในรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นพรรคสังคมนิยม พรรคเสรีนิยม พรรคอนุรักษ์นิยม พรรคกรีน หรือกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์

มีการออกแบบและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เยอรมันเป็นประเทศรัฐสวัสดิการและสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social-Democracy)

ประเทศไทยก็สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองแบบขั้วข้างได้เช่นกัน โดยการทำ Civic Education อย่างกว้างขวาง ให้ความรู้ทางการเมืองแก่ประชาชนอย่างเต็มที่โดยไม่มีการปิดกั้น และเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้มีประชาธิปไตยที่แท้จริงในระบบรัฐสภา

เพราะทุกวันนี้ มองเข้าไปในสภาครั้งใด ก็มีอยู่พรรคเดียวเท่านั้น คือพรรคนายทุน!

เผยแพร่ครั้งแรก: คอลัมน์โลกและเรา หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
----------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น