--- พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา ---

วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2556

EU ยึดไทยฐาน SME

 สสว. เผยเอสเอ็มอีสหภาพยุโรปจ่อย้ายฐานลงทุนเข้าไทยในปีหน้า หนีการขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบ ใช้ไทยเป็นฐานผลิต ก่อนขยายเข้าสู่เออีซีเต็มตัว ชี้ปี 57 เป็นปีก้าวกระโดดของเอสเอ็มอีไทย ผู้ประกอบการเริ่มให้ความสำคัญออกไปลงทุนเพื่อนบ้านมากขึ้น พร้อมกับผลักดันขยายฐานเอสเอ็มอีขึ้นเป็น 2.9 ล้านรายภายในปี 2559
   
นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่กระทรวงอุตสาหกรรมและกิจการวิสาหกิจของสหภาพยุโรปได้มีการลงนามความร่วมมือด้านการส่งเสริมเอสเอ็มอีระหว่างกันเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดี ที่กำลังบอกว่านักลงทุนจากสหภาพยุโรปหรืออียู กำลังให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เหมือนกับกรณีของนักลงทุนเอสเอ็มอีของญี่ปุ่นที่ได้ย้ายการผลิตมาปักหลักอยู่ในไทย เพื่อผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ป้อนให้กับผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในเวลานี้
   
"เหตุผลหลักการเข้ามาลงทุนครั้งนี้ เนื่องจากอียูเริ่มขาดแคลนวัตถุดิบ การขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ ที่สำคัญต้องการขยายตลาดให้เปิดกว้างมากขึ้น ที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตก้าวสู่ตลาดในภูมิภาคจากที่จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในปี 2558 ที่สำคัญอียูมองเห็นศักยภาพของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางของเอสเอ็มอีในภูมิภาค ที่ สสว.ได้ประกาศเป้าหมายไว้ภายในปี 2560 ที่จะผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้าเอสเอ็มอีของทุกประเทศมารวมไว้ในที่เดียวกัน เพื่อให้คนไทยและนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกที่เข้ามาสามารถเลือกซื้อสินค้าเอสเอ็มอีจากประเทศต่างๆในที่เดียวได้ ซึ่งเอสเอ็มอีของอียูที่จะเข้ามาช่วงแรกๆ จะเป็นอุตสาหกรรมประเภทสินค้าแฟชั่น อัญมณีเครื่องประดับและพลังงานสะอาด เป็นต้น ซึ่งมองว่าในปีหน้าจะเห็นภาพการเข้ามาลงทุนชัดเจนขึ้น"
   
ขณะเดียวกันในปีหน้าจะเป็นปีแห่งการก้าวกระโดดของเอสเอ็มอีไทย โดยจะเห็นผู้ประกอบการออกไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ผ่านมามีอุตสาหกรรมบริการ เช่น ด้านสุขภาพ การทำสปา ออกไปดำเนินธุรกิจก่อน เนื่องจากลงทุนไม่มากและมีความเสี่ยงน้อย เมื่อเทียบกับการออกไปลงทุนตั้งกิจการที่จะต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก
   
"กฎระเบียบด้านการลงทุนของประเทศเพื่อนบ้านน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นจากการปรับปรุงข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อเปิดรับการลงทุน จากที่ผ่านมาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมองว่าเป็นความเสี่ยง ทำให้ไม่มั่นใจที่จะออกไปลงทุน ซึ่งขณะนี้ทาง สสว.อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ว่าจะมีสิทธิประโยชน์สนับสนุนให้ผู้ประกอบการออกไปลงทุนนอกประเทศให้ได้รับความสะดวกได้อย่างไร โดยเฉพาะการจัดทำฐานข้อมูลเอสเอ็มอีของประเทศเพื่อนบ้านในเชิงลึกมากขึ้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจของผู้ประกอบการออกไปลงทุน"
 
ด้านนายปฏิมา จีระแพทย์ ผู้อำนวยการ สสว. เปิดเผยภายหลังการเข้ารับตำแหน่งว่า ในช่วงที่จะบริหารงาน 4 ปีนี้ จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางเอสเอ็มอีของภูมิภาคให้ได้เหมือนกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์อยู่ในขณะนี้ โดยจะรวบรวมสินค้าเอสเอ็มอีจากประเทศที่อยู่ในเออีซีเข้ามาอยู่ในไทยทั้งหมด เพื่อให้ผู้สนใจทั่วโลกเมื่อมาไทยแล้วจะสามารถเลือกซื้อสินค้าเอสเอ็มอีจากประเทศต่างๆมาไทยได้ทั้งหมด พร้อมกับผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยมีการเติบโตมากยิ่งขึ้นโดยวางเป้าหมายไว้ที่ 2.9 ล้านรายภายในปี 2559 จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.7 ล้านราย
   
"แผนเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการเพื่อรับการเปิดเออีซีในช่วง 6 เดือนนี้ จะจัดทำข้อมูลช่วยเหลือเอสเอ็มอี จากผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ต่างๆ รองรับไว้ เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ทันกับเวลา อย่างกรณีการปรับค่าจ้าง 300 บาท ทาง สสว.ก็ได้มีแผนเข้าไปช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ ส่งผลให้ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการน้อยรายที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งขณะนี้ สสว.ได้พัฒนาระบบเตือนภัยของเอสเอ็มอีขึ้นมา หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา ผู้ประกอบการสามารถนำระบบไปวางแผนล่วงหน้า เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาบุคลากรของสสว.เอง ที่จะต้องทำงานเป็นทีมมากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน"
   
ขณะที่ในปีหน้าจะเร่งผลักดันให้มีศูนย์การจำหน่ายสินค้าเอสเอ็มอีขึ้นในใจกลางกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าและส่งออกสินค้าไปสู่ภูมิภาคได้ อีกทั้งจะเข้ามาช่วยดูระบบโลจิสติกส์หรือการกระจายสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความชำนาญในการกระจายสินค้า เป็นต้น
   
ทั้งนี้ สสว.ตั้งเป้าหมายการดำเนินงานไว้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีจีของเอสเอ็มอีจะต้องกลับไปเติบโตอยู่ในระดับ 42% ของจีดีพีประเทศเมื่อสิ้นสุดแผนส่งเสริมเอสเอ็มอี (2555 - 2559) ที่ปัจจุบันทำได้เพียง 38% เท่านั้นหรือคิดเป็นมูลค่ารวม 4 ล้านล้านบาท

ที่มา.นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
///////////////////////////////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น