แม้มนุษย์จะระวังป้องกันกันอย่างไร หายนภัยไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุ หรือแม้กระทั่งหายนะจากฝีมือมนุษย์ที่หยิบอาวุธมาประหัตประหารกันเองเนื่องจากความขัดแย้ง ก็เป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สิน ได้ไม่เว้นแต่ละปี
เหตุการณ์ดังต่อไปนี้คือ 9 เหตุการณ์หายนะในปี 2556 ที่จะถูกบันทึกไว้ อย่างน้อยเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้มนุษย์ใช้ชีวิตทุกก้าวย่างอย่างระมัดระวัง มีสติพร้อมเผชิญสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างไม่คาดคิดในปีต่อๆ ไป
1.ภัยจากนอกโลก อุกกาบาต เชลยาบินสก์
15 กุมภาพันธ์ ชาวเมืองเชลยาบินสก์ ประเทศรัสเซีย ตกอยู่ในความตระหนกหลังอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งเข้าสู่น่านฟ้าก่อนเกิดระเบิดอย่างรุนแรงเหนือพื้นดินราว 30-50 กิโลเมตร ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แรงระเบิดมีความรุนแรงกว่าระเบิดนิวเคลียร์ถึง 20 เท่า และได้เกิดคลื่นกระแทกสร้างความเสียหายให้กับอาคารบ้านเรือนถึง 3,000 แห่ง นอกจากนี้ยังส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากถึง 1,500 คน ขณะที่ภาพจากคลิปวิดีโอของชาวเมืองถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความตื่นตระหนกถึงความเสี่ยงจากภัยที่มาจากห้วงลึกในอวกาศที่อาจเกิดขึ้นได้โดยที่มนุษย์ไม่อาจตั้งตัว
2.บอสตันมาราธอน สหรัฐอเมริกา
เมื่อเวลา 14.49 น. วันที่ 15 เมษายน เกิดเหตุระเบิดขึ้น 2 ครั้งซ้อนบริเวณใกล้เส้นชัยของการแข่งขันบอสตันมาราธอน ที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกราว 264 คน
เหตุระเบิดดังกล่าวส่งผลให้เกิดการไล่ล่าผู้ก่อเหตุ หลังจากมีการเปิดเผยภาพผู้ต้องสงสัย 2 พี่น้อง ทราบชื่อในภายหลังคือนายโจคาร์ ซานาเยฟ และนายทาเมอร์ลัน ซานาเยฟ ชาวอเมริกันเชื้อสายเชเชน อายุ 20 และ 27 ปี ตามลำดับ
ผลของการไล่ล่าส่งผลให้ซานาเยฟคนพี่ต้องจบชีวิตลงในการยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่โจคาร์ถูกจับกุม
นายโจคาร์ยอมรับว่าเป้าหมายต่อไปที่จะวางระเบิดคือจัตุรัสไทม์สแควร์ และยอมรับว่าเป็นนักรบทำสงครามศักดิ์สิทธิ์เพื่อปกป้องศาสนาอิสลามจากการโจมตี โดยล่าสุด นายโจคาร์อยู่ระหว่างการไต่สวนในข้อหาร้ายแรง และอาจต้องเจอกับโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต
3.ซุปเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ฟิลิปปินส์
เช้ามืดของวันที่ 8 พฤศจิกายน พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ความเร็วลมสูงถึง 315 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้เคลื่อนตัวเข้าพัดถล่มตอนกลางของฟิลิปปินส์ ความรุนแรงของพายุส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ "สตอร์ม เซิร์จ"หรือคลื่นพายุซัดฝั่ง คล้ายสึนามิสร้างความเสียหายในพื้นที่
ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนถูกจัดให้เป็นพายุที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์และนับเป็นหายนะใหญ่หลวงที่สุดในปี 2556 โดยหลังเกิดเหตุเมืองทาโคลบันตกอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างจากนรก บ้านเรือนพังพินาศ
ศพผู้เสียชีวิตนอนเกลื่อน ล่าสุด ยอดผู้เสียชีวิตมีมากถึงเกือบ 8,000 รายแล้ว นอกจากนี้ยังมีผู้สูญหายอีกกว่า 1,700 คน เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนกว่า 4 ล้านคนต้องอพยพออกจากพื้นที่และอาจต้องใช้เวลานานนับปีกว่าจะฟื้นฟูบ้านเมืองให้กลับมาเหมือนเดิมได้
4.รานา พลาซ่าถล่ม บังกลาเทศ
ชีวิตอันลำเค็ญของชนชั้นแรงงานในบังกลาเทศ ถูกเปิดเผยขึ้นด้วยเหตุการณ์โรงงานผลิตเสื้อผ้าในอาคารรานา พลาซ่า ความสูง 8 ชั้น ชานกรุงธากา เกิดถล่มลงมาเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตใต้ซากมากถึง 1,135 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกราว 1,500 คน เหตุการณ์ซึ่งนับเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงที่สุดในวงการอุตสาหกรรมของโลก นำไปสู่การจับกุมเจ้าของโรงงานที่ละเลยมาตรการเพื่อความปลอดภัย
ขณะที่เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าจากตะวันตก กลับมาทบทวนมาตรการเกี่ยวกับสวัสดิภาพแรงงานใหม่อีกครั้ง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่มีมติที่จะมอบเงินชดเชยจำนวน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับเหยื่อผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บแล้ว
5.สงครามกลางเมือง ซีเรีย
เหตุการณ์นองเลือดในซีเรียเริ่มต้นขึ้นจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลก่อนแปรผันเป็นความรุนแรง หลังรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดกองกำลังต่อต้านรัฐบาลขึ้นสู้รบกองทัพของรัฐบาลเรื่อยมานับตั้งแต่ปี 2554 ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นถึง 120,000 ราย ชาวซีเรียเกือบ 9 ล้านคนต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัย บางส่วนอพยพไปต่างประเทศ ขณะที่บางส่วนต้องอาศัยอย่างอดอยากในซีเรีย
ล่าสุด รัฐบาลซีเรียยินดีที่จะส่งมอบอาวุธเคมีที่อยู่ในประเทศ หลังเกิดเหตุสังหารหมู่ด้วยอาวุธเคมีในซีเรีย เมื่อเดือนสิงหาคมซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ขณะที่สหรัฐรับอาสาเป็นผู้ทำลายอาวุธเคมีทั้งหมดให้ทันภายในกลางปี 2557 อย่างไรก็ตาม สัญญาณแห่งการเจรจาสงบศึกยังไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้น
6.แผ่นดินไหว 7.1 ริกเตอร์ ฟิลิปปินส์
08.12 น. ของวันที่ 15 ตุลาคม ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหววัดแรงสั่นสะเทือนได้ 7.1 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางใกล้กับจังหวัดโบฮอล ตอนกลางของประเทศฟิลิปปินส์ แรงสั่นสะเทือนส่งผลให้บ้านเรือนกว่า 8,500 หลังคาเรือนถูกทำลาย ขณะที่อีก 26,000 หลังคาเรือนได้รับความเสียหาย เหตุดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 198 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 500 คน นับเป็นยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวที่สูงที่สุดในฟิลิปปินส์นับ
ตั้งแต่ปี 2530 นอกจากนี้ธรณีพิบัติภัยครั้งนี้ยังส่งผลกระทบกับประชาชนถึง 3.5 ล้านคนใน 6 จังหวัด โดยประชาชนกว่า 370,000 คนต้องอพยพออกจากบ้านเรือนเพื่อหาที่พักชั่วคราว ภาพเศษซากอาคารบ้านเรือนรวมไปถึงโบสถ์คริสต์เก่า ที่พังถล่มยับเยินถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก
7.คนร้ายบุกกราดยิงห้างสรรพสินค้า เคนยา
21 กันยายน คนร้ายจำนวนหนึ่งถืออาวุธและระเบิด บุกกราดยิงผู้คนอย่างไม่เลือกหน้าในห้างสรรพสินค้าเวสต์เกต กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ก่อนที่ทางการเคนยาจะใช้เวลาถึง 4 วันควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 72 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 200 คน
กลุ่มอัล-ชาบับ กลุ่มอิสลามหัวรุนแรงจากโซมาเลีย ออกมายอมรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุดังกล่าวเพื่อตอบสนองต่อการส่งทหารเคนยาเข้าแทรกแซงในประเทศโซมาเลีย ในเบื้องต้นทางการเคนยาระบุว่ามีผู้ก่อการร้ายก่อเหตุดังกล่าวมากถึง 15 คน อย่างไรก็ตาม จากการสืบสวนล่าสุดของสำนักงานตำรวจนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พบว่าผู้ก่อการร้ายมีเพียง 4 คน และยังสามารถหนีออกไปได้ในวันที่ 2 ของเหตุการณ์ นับเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนการจัดการกับสถานการณ์ที่ย่ำแย่ของเจ้าหน้าที่เคนยา
8.ศึกสองศาสนา แอฟริกากลาง
ปัญหาในแอฟริกากลางมีต้นต่อมาจากความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสต์ที่แก้แค้นกันไปมาอย่างไม่มีวันจบสิ้น เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากนายมิเชล โจโทเดีย ผู้นำกลุ่มมุสลิมติดอาวุธเซเลกา บุกยึดกรุงบังกี เมืองหลวงแอฟริกากลาง ขับไล่ประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งก่อนที่นายโจโทเดียจะตั้งตนเป็นประธานาธิบดีเสียเอง
อย่างไรก็ตาม กลุ่มติดอาวุธเซเลกายังคงมีอิทธิพลและก่อเหตุวุ่นวายโดยพุ่งเป้าไปที่ชุมชนชาวคริสต์ ส่งผลให้ชาวคริสต์ตั้งกลุ่มติดอาวุธตอบโต้ด้วยการฆ่าชายชาวมุสลิมไปราว 60 รายเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มเซเลกาตอบโต้ด้วยการสังหารชาวคริสต์กว่า 1,000 รายในช่วงระยะเวลาเพียงสองวัน
การแก้แค้นกันไปมาอย่างโหดเหี้ยมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กลุ่มสมาชิกสหภาพแอฟริกา (เอยู) ส่งทหารเข้ารักษาความสงบโดยมีฝรั่งเศสอดีตเจ้าอาณานิคมสนับสนุนกำลังทหาร อย่างไรก็ตาม กองกำลังรักษาความสงบยังคงไม่สามารถหยุดความรุนแรงในประเทศแอฟริกากลางเอาไว้ได้
9.เหตุนองเลือดระหว่างชนเผ่า ซูดานใต้
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา นายซัลวา คีร์อีร์ ประธานาธิบดีซูดานใต้ ผู้มาจากเผ่าดิงกา ชนเผ่าที่ใหญ่ที่สุดในซูดานใต้ กล่าวหานายริค มาชาร์ อดีตรองประธานาธิบดีซูดานใต้ผู้น้ำกลุ่มกบฏจากเผ่านูเออร์ เผ่าใหญ่อันดับ 2 ที่เพิ่งถูกปลดจากตำแหน่งไป ว่ากระทำการซ่องสุมกำลังเพื่อล้มรัฐบาล ส่งผลให้เกิดการสู้รบกันอย่างดุเดือดระหว่างชนเผ่า บ้านเมืองกลายเป็นดินแดนมิคสัญญี ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นพลเรือนของแต่ละฝ่าย โดยในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 450 ราย
ล่าสุด คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติส่งกำลังเข้ารักษาความสงบในพื้นที่แล้ว แต่ความรุนแรงดูเหมือนจะยังไม่ยุติลง ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่าซูดานใต้จะมีชะตากรรมที่เหมือนกับรวันดา ที่เหตุการณ์ลุกลามกลายเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 500,000-1 ล้านคน
ที่มา:มติชนรายวัน
--------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น